ปกิณกะ พระเครื่อง / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 71

09 มกราคม 2564 ยอดผู้ชม 24386 ครั้ง


พระหลวงพ่อทวด  วัดช้างให้  เนื้อโลหะผสม

หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่  ปี 2505


        พระหลวงพ่อทวด  วัดช้างให้  เนื้อโลหะผสม  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่  ปี 2505   จัดเป็นที่นิยมในวงการพระเครื่องทั่วประเทศ   ที่นิยมกันมาก ส่วนใหญ่มักจะเป็น  พิมพ์ใหญ่ เอ  อันเป็นพิมพ์ยอดนิยม ที่มีการเช่าหาในราคาสูงมาก  บางองค์ถึงหลักล้านก็มี ด้วยเหตุนี้  นักสะสมพระเครื่องสายนี้บางคน จึงมองไปที่  พิมพ์ใหญ่ บี  และ พิมพ์ใหญ่ ซี  หรือพิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ  เพื่อนำมาใช้ทดแทน  เพราะมีราคาที่ถูกกว่ากัน คอลัมน์นี้  จะขอกล่าวถึง  พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่  ทั้ง 4  พิมพ์นี้  เพื่อให้ผู้ที่ริเริ่มศึกษาสามารถแยกแยะได้ง่ายว่า  ลักษณะทรงพิมพ์ และจุดสังเกตพื้นฐาน พระหลวงพ่อทวด ทั้ง 4 พิมพ์นี้  ว่าเป็นอย่างไร ขอเริ่มต้นจาก  พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่ เอ  (องค์โชว์ที่ 1)  จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจน ในพระพิมพ์นี้  คือ  สภาพทั่วไปขององค์พระ  หล่อออกมาได้คมชัดลึก สมส่วน  ดูสง่าผ่าเผย  ปลายยอดองค์พระจะแหลม




              พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด             พิมพ์ใหญ่ เอ(ด้านหน้า)
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พิมพ์ใหญ่ เอ(ด้านหลัง)



พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พิมพ์ใหญ่ เอ(ด้านข้าง)
พิมพ์ใหญ่ เอ(ด้านข้าง)
พิมพ์ใหญ่ เอ(ด้านใต้ฐาน)

        จุดสังเกตอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ คือ  ริ้วจีวรบริเวณหน้าอกขวาขององค์พระ จะวาดเฉียงไป ไม่จรดซอกแขน  ซึ่งต่างกับพระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่ บี และซี ที่ริ้วจีวรยาวออกไปจนจรดซอกแขน ปกติ  พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่ เอ นอกจากมี เนื้อโลหะผสม ซึ่งเป็นองค์พระส่วนใหญ่แล้ว  ยังมีเนื้อนวโลหะ  และเนื้อแร่  ส่วนพระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่  อีกแบบหนึ่ง  ที่เรียกกันทั่วไปว่า  พิมพ์หลังเตารีดหัวมน”  ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น  2  พิมพ์  คือ พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ บี  (องค์โชว์ที่ 2) และพระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ ซี  (องค์โชว์ที่ 3)




              พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด            พิมพ์ใหญ่ บี(ด้านหน้า)
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พิมพ์ใหญ่ บี(ด้านหลัง)



            พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด             พิมพ์ใหญ่ บี(ด้านข้าง)
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พิมพ์ใหญ่ บี(ด้านใต้ฐาน)



             พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด               พิมพ์ใหญ่ ซี(ด้านหน้า)
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พิมพ์ใหญ่ ซี(ด้านหลัง)



            พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด             พิมพ์ใหญ่ ซี(ด้านข้าง)
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด
พิมพ์ใหญ่ ซี(ด้านใต้ฐาน)

        คำว่า   “พิมพ์หลังเตารีดหัวมน”  มาจากการที่ช่างได้แต่งปลายยอดองค์พระให้มนโค้ง  รับกับเศียรขององค์พระ  (แต่บางองค์มีลักษณะปลายยอดองค์พระแหลม เหมือนเตารีด เอ ก็มี แต่มีน้อยมาก) พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่ บี และซี นี้  แม้ว่าปลายยอดองค์พระจะโค้งมนเหมือนกัน  แต่รายละเอียดทางเค้าหน้า  รูปทรง  ฟอร์มพระ  จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน  จำแนกได้ไม่ยากนัก จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจน ในพิมพ์หลังเตารีดหัวมน  ทั้งบีและซี  (องค์โชว์ที่ 2 และ 3)  คือ  ทั้งคู่มีใบหน้าค่อนข้างกลมมนกว่า พิมพ์ใหญ่ เอ   แต่ไม่คมสันเช่น พิมพ์ใหญ่ เอ  โดยเห็นได้ชัดใน พิมพ์ซี จุดสังเกตอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ  คือ  ริ้วจีวรบริเวณหน้าอกขวาขององค์พระ จะวาดเฉียงไปจรดซอกแขน  ซึ่งต่างกับ พิมพ์ใหญ่ เอ  ที่ริ้วจีวรไม่จรดซอกแขน  และเกือบทุกองค์จะมีร่องรอยการตกแต่งก้านเดือย ที่เห็นได้ชัดเจน  ตรงใต้ฐานองค์พระ

        โดยทั่วไป พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีดหัวมน ทั้งพิมพ์บี และซี   ด้านหลังจะมีธรรมชาติของผิวลักษณะย่นเป็นคลื่นๆ  และบางองค์มีผิวลักษณะคล้ายกับ ตาข่ายผ้า  กล่าวได้ว่า  พระพิมพ์นี้มีผิวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ที่ยากพอสมควรต่อการทำปลอม  โดยสามารถพิจารณาเฉพาะด้านหลัง ก็บอกได้เลยว่าเป็น  พระแท้ หรือเก๊  โดยไม่จำเป็นต้องดูด้านหน้าขององค์พระ อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันมีพระฝีมือ ที่สามารถทำสภาพผิวที่ว่านี้ได้ทั้งด้านหน้า, ด้านหลัง  และรอยตัดช่อได้ดีเลยทีเดียว  (เก๊แบบย้อนรอยวิธีหล่อโบราณ  ไม่ใช่พระเก๊แบบฉีดเข้าแม่พิมพ์ อย่างที่เคยทำกันในอดีต)   ผู้ที่เห็นพระองค์จริงบ่อยๆ  หรือภาพพระแท้ที่ดูง่าย  ก็พอจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์สำหรับนักสะสมมือใหม่ได้ นอกจากนี้  ยังมี  พระหลวงพ่อทวด  วัดช้างให้   ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดของนักสะสมอีกพิมพ์หนึ่ง  นั่นก็คือ  พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่  ปั๊มซ้ำ  ปี 2505  ปัจจุบัน องค์สวยๆ มีค่านิยมหลักแสน ถึงหลายแสนเลยทีเดียว     

        พระหลวงพ่อทวด  พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ  เป็นพระที่มีรูปฟอร์มหลากหลาย  ยากต่อการแยกพิมพ์ให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์  แต่ก็พอจะคัดแยกกลุ่มพิมพ์ หรือฟอร์มพระ  ที่มีจุดสังเกตเห็นความแตกต่างได้   และเป็นที่ยอมรับในวงการพระเครื่องแล้ว  คือ  ๔ กลุ่มพิมพ์ ตามอันดับความนิยมในปัจจุบัน  กล่าวคือ   พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ "บล็อกแตก"  (องค์โชว์ที่ 4),   พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ "ปีกกว้าง",  พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ "สองชาย"  และ พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำทั่วไป  ที่แบ่งออกเป็นบล็อกพิมพ์ย่อยๆ  หลายอัน  และพบเจอมากที่สุดเมื่อเทียบกับพิมพ์อื่นๆ




พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ "บล็อกแตก"(ด้านหน้า)
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ "บล็อกแตก"(ด้านหลัง)



พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ "บล็อกแตก"(ด้านข้าง)
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ "บล็อกแตก"(ด้านใต้ฐาน)

        พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ   เกิดขึ้นจากเหตุผลที่ว่า  องค์พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่  ดั้งเดิมที่ตัดออกมาจากช่อส่วนใหญ่ หล่อออกมาแล้วพิมพ์ติดตื้น  ไม่ค่อยสวยงามคมชัดเท่าที่ควรจะเป็น  จึงต้องนำไปผ่านกระบวนการปั๊มกระแทก  โดยใช้แม่พิมพ์ที่แกะขึ้นมาใหม่  (สันนิษฐานว่ามีหลายแม่พิมพ์)  เพื่อให้องค์พระติดรายละเอียด  และมีความคมชัดสวยงามยิ่งขึ้น  เหมือนกับที่ปรากฏใน  พระหลวงพ่อทวด  พิมพ์กลางปั๊มซ้ำ เนื่องจากการปั๊มกระแทกในแนวดิ่ง  ด้วยแรงมหาศาล ทำให้เนื้อโลหะยืดขยายตัวออกด้านข้าง  จนเกิด ครีบเนื้อปลิ้นยื่นออกมา  และเกิดรอยเขยื้อน  ตามบริเวณต่างๆ ขององค์พระ  เช่น  ที่ขอบผ้าสังฆาฏิ  และริ้วจีวร  แถวบัวใต้หน้าแข้งจนถึงเข่า  และพื้นผิวตรงซอกคอ ที่รองรับศีรษะองค์หลวงพ่อทวด  เป็นต้น  (เหมือนกับที่ปรากฏในพระพิมพ์กลางปั๊มซ้ำ)   ซึ่งธรรมชาติของ ครีบเนื้อ และ รอยเขยื้อน นี้สามารถนำมาพิจารณาพระแท้พระเก๊ได้เช่นกัน นอกจากนี้   พระหลวงพ่อทวด  พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ  ยังมีการตกแต่งขอบข้างและพื้นหลัง  เช่นเดียวกับ  พระหลวงพ่อทวด  พิมพ์หลังเตารีด อื่นๆ ส่วนกระแสเนื้อของ  พระหลวงพ่อทวด  พิมพ์ใหญ่ปั๊มซ้ำ  นี้  เป็นเนื้อโลหะผสมเช่นเดียวกับ พระหลวงพ่อทวด  พิมพ์ใหญ่  หลังเตารีด  กล่าวคือ  เนื้อในลักษณะเนื้อโทนโลหะผสมแดงอมเหลือง  ส่วนผิวด้านนอกในองค์ที่สภาพเดิมๆ จะออกผิวดำอมน้ำตาล ในบางกลุ่มองค์พระมีการชุบ หรือทายาดำจนดำทั้งองค์อย่างชัดเจน

        การสังเกต ความแท้เก๊ ในพระหลวงพ่อทวด  วัดช้างให้  เนื้อโลหะผสม  หลังเตารีด  พิมพ์ใหญ่ ปี 2505  ก็เน้นดูความถูกต้องของทรงพิมพ์   ดูธรรมชาติของเนื้อพระ  คราบเบ้า  และดินเบ้า  เช่นเดียวกันกับดูร่องรอยการตกแต่งด้วยตะไบ หรือรอยหินเจียร์  ทั้งผิวด้านหลัง และขอบข้างองค์พระ กรณีพระปั๊มซ้ำ  ให้ดูร่องรอยธรรมชาติการปั๊ม  การยืดของเนื้อโลหะประกอบด้วย




(ขอขอบพระคุณ   ข้อมูลและภาพประกอบ  จาก  ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช   คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   นักสะสมพระหลวงพ่อทวด  วัดช้างให้  ทุกพิมพ์ทุกรุ่น  จำนวนมากที่สุด ในระดับแถวหน้าของวงการพระเครื่องเมืองไทย)