ประวัติ

คำว่า วงการ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีอาชีพ หรือ ความสนใจอย่างเดียว หรือในแนวเดียวกัน ซึ่งสังคมปัจจุบันนั้นมีมากมายหลายวงการทั้งใหญ่และเล็ก

วงการพระ ก็เป็นอีกกลุ่มบุคคลผู้มีอาชีพมีความสนใจชื่นชอบสะสม พระบูชา พระเครื่อง เหรียญที่ระลึกเหรียญพระคณาจารย์ เครื่องรางของขลัง ตลอดจนวัตถุมงคลต่างๆ โดยเริ่มจากกลุ่มเพียงไม่กี่คน แล้วมีการรวมตัวกันมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ จนกล่าวได้ว่า ปัจจุบันวงการพระมีปริมาณผู้ให้ความสนใจ เข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ มากที่สุดวงการหนึ่งของประเทศไทย


วงการพระเริ่มก่อสร้างตัวเองมานานมาก โดยในสมัยก่อนก็จะนิยมสะสมกันในหมู่ผู้คุ้นเคยตามแต่ละท้องที่เมื่อยุคแรก ๆ จะเน้นความสนใจให้กับวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่มีพุทธานุภาพโดดเด่นทางด้านคงกระพันผู้ที่ชื่นชอบเรื่องนี้ก็มักจะมารวมตัวกันตามร้านกาแฟ หรือแหล่งชุมนุนในกลุ่ม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน


การเริ่มต้นที่เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างของวงการพระเกิดขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2490 โดยเริ่มจากกลุ่มคนผู้มีฐานะดีในสังคม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของความต้องการเสาะแสวงหาและสะสม เมื่อมีกำลังของผู้ต้องการครอบครอง ย่อมเกิดกลุ่มผู้ที่ขวนขวายหาวัตถุมงคลมาให้ได้ครอบครอง การผ่ขยายทางความนิยมจึงเริ่มต้นขึ้น อันถือเป็นการกระตุ้นเร้าให้เกิดความสนใจ เสาะแสวงหาพระบูชาพระเครื่อง และวัตถุมงคลต่าง ๆอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ส่วนกลุ่มผู้สนใจทั่ว ๆ ไป ที่มีการจับกลุ่มกันตามท้องถิ่น หรือหมู่คณะของตนก็เริ่มเข้ามารวมตัวกันขยาย วงผู้สนใจมากขึ้น รวมถึงการสัญจรมารวมกลุ่มกับผู้สนใจในส่วนกลางโดยมีจุดเริ่มต้นที่ตามใต้ต้นมะขาม ที่รายล้อมรอบสนามหลวง


ต่อมาเพื่อไม่ให้เป็นที่กีดขวางแก่ผู้สัญจรอื่น ๆ เหล่าบรรดาผู้นิยมสะสมพระจึงพร้อมใจมารวมตัวกันที่ ใต้ถุนศาลอาญา ในราวปี พ.ศ.2500 โดยกลุ่มคนผู้มีฐานะก็จะนั่งคุยแลกเปลี่ยนกันที่ร้านกาแฟ บริเวณใต้ ถันศาลอาญา ที่เรียกกันในหมู่นักสะสมพระว่า “บาร์มหาผัน” (เป็นชื่อร้านกาแฟที่เจ้าของร้านชื่อ นายผัน ปัจจุบันร้านกาแฟนี้ยังปรากฎให้เห็นอยู่ แต่ไม่มีการรวมกลุ่มกันแล้ว ส่วนการที่เรียกร้านกาแฟว่า บาร์ ก็เป็น การเรียกสัพยอกให้ดูโก้หรู มิใช่สถานรื่นรมย์ดังที่หลายท่านเข้าใจ)


เมื่อผู้คนมากมายมารวมกันบริเวณใต้ถุนศาลอาญาจนเกิดความพลุกพล่านดูไม่เหมาะสมกับสถานที่ราชการจึงเห็นสมควรที่จะพร้อมใจกันขยับขยายไปรวมกลุ่มกันที่วัดมหาธาตุ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2503-พ.ศ.2504 และในช่วงเวลานี้เอง ที่ระบบในการสะสมแลกเปลี่ยนจากเดิม เริ่มมีการเช่าบูชา ซื้อ-ขาย เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นจุดเริ่มที่มีการแบ่งกลุ่มพระออกเป็น พระหลัก และพระย่อยรวมถึงการแบ่งพระเครื่องออกเป็นชุด ๆ เช่นพระชุดเบญจภาคี พระชุดยอดนิยม และ พระชุดอื่น ๆ รองลงมาตามที่ปรากฏในบทเรียนที่ผ่านมา


ครั้นปลายปี พ.ศ. 2512 ทางวัดมหาธาตุ ต้องการปรับปรุงพื้นที่บริเวณวัดสำหรับให้นักท่องเที่ยวมานมัสการหลวงพ่อนาคภายในโบสถ์ ทำให้มีการย้าย “สนามพระ” มาอยู่บริเวณรอบวัดราชนัดดา

หากแต่เนื้อที่ไม่เพียงพอรองรับปริมาณนักนิยมสะสมได้ จึงมีการแยกกลุ่มผู้สะสมส่วนนึงมาอยู่ยังตลาดสดท่าพระจันทร์



ซึ่งเดิมทีนั้นสนามท่าพระจันทร์ เป็นตลาดสดที่พ่อค้าแม่ค้าไม่นิยมมาทำการค้าขายจนปล่อยให้รกร้าง มิได้ทำประโยชน์ใด ๆ กลุ่มผู้นิยมสะสมพระจึงเข้ามาทำการปรับปรุง และเป็นแหล่งรวมนักนิยมสะสมพระจนกลายเป็นสนามพระท่าพระจันทร์ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

สนามพระวัดมหาธาตุ สนามพระวัดราชนัดดา และสนามพระท่าพระจันทร์ จึงนับเป็นรูปธรรมของวงการพระในยุคแรก แม้ว่าสนามพระบางแห่งจะสูญหายไป แต่ก็มีสนามพระบางแห่งอยู่ยง เป็นศูนย์การของวงการพระมาโดยตลอด กระทั่งวงการพระมีการขยายตัวอย่างมาก ไม่เพียงพอรองรับปริมาณผู้สนใจเรื่องพระจำนวนมาก ทั้งทวีคูณขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งเริ่มมีการขยาย “สนามพระ” หรือที่เรียกกันใหม่ในครั้งนั้นว่า “ศูนย์พระ” ไปตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ

ในปี พ.ศ. 2521 โดยประมาณ ห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่าประตูน้ำ นับเป็นศุนย์การค้าแห่งแรกในประเทศไทยที่มีศูนย์พระเครื่องเข้าดำเนินการ

อันถือเป็นจุดเรื่อมต้นให้เกิด ศูนย์พระเครื่อง ชมรมพระเครื่อง รวมถึงร้านพระอิสระต่าง ๆ ต่อมาภายหลังทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด




มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทราบถึงปริมาณผู้นิยมสะสมพระเครื่องว่ามีมากมาย เพิ่มขยายอยู่ตลอดเวลาทั่วประเทศก็คือ

ทุกครั้งที่มีการจัดงานอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์และเครื่องรางของขลัง หรือ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า “งานประกวดพระ”


อันถือเป็นช่วงเวลาและสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมการพบปะของนักสะสมจำนวนมากจากทั่วทุกสารทิศ ยิ่งนานวันก็ยิ่งเพิ่มขยาย ทำให้เกิดการต่อตั้งองค์กรเพื่อเป็นแกนกลางของหมู่ผู้นิยมสะสม เมื่อปี พ.ศ. 2536 ในนาม “สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย” โดยมีอาจารย์ปรีชา ดวงวิชัยดำรงค์ตำแหน่งนายกสมาคมท่านแรก


กระทั่ง ผศ.รังสรร ต่อสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมในสมัยต่อมา ในระยะแรกของการก่อตั้งนี้สมาคมยังไม่เป็นที่ยอมรับ ด้วยส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลระดับสูงของสังคม ทำให้ไม่เกิดความผสมผสานในวงการภาคส่วนรวม ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จต่อการดำเนินงาน

กระทั่งปี พ.ศ. 2539 จึงมีการรวมกลุ่มอย่างจริงจังอีกครั้งของผู้นิยมสะสม ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดมีการก่อตั้งสมาคมขึ้นใหม่ ทั้งรู้แบบการจัดการ การดำเนินงาน ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีระบบ ระเบียบของการทำงาน รวมถึงการกระจายผู้บริหารไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวแทนในการให้ความช่วยเหลือร่วมกันปรับปรุง และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันดีของวงการพระ

โดยกระทำการสำเร็จรวมตัวเป็นองค์กรได้ในปี พ.ศ. 2540 และพร้อมเป็นรูปธรรม ในปี พ.ศ.2542 จัดตั้งเป็น “สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย” ซึ่งดำเนินการมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้