ปฐมบทพระชุดเบญจภาคี

18 มีนาคม 2562 ยอดผู้ชม 36427 ครั้ง
ชื่อพระ:
พระชุดเบญจภาคี
พิมพ์พระ:
เนื้อพระ:
ชื่อวัด:
จังหวัด:
พุทธศักราช:

กำเนิดพระชุดเบญจภาคี

การจัดชุดของพระเบญจภาคี เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 ซึ่งในขณะนั้นสถานที่พบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่องจะอยู่ที่บริเวณข้างศาลแพ่ง โดยมีร้านขายกาแฟของมหาผันซึ่งนักนิยมพระเครื่องทั้งหลายมักเรียกกันว่า “บาร์มหาผัน” เป็นจุดนัดพบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่อง ท่านอาจารย์ตรียัมปวาย หรือ พ.อ.ผจญ กิตติประวัติ, น.ท.สันทัด แห่งกองทัพอากาศ หรือ ผู้กองสันทัด (ผู้จัดพระชุดมังกรดำ) และเพื่อนอีกสองสามคนมักจะมาพบปะกันอยู่เสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีการคิดจะจัดชุดห้อยพระกัน ท่านอาจารย์ตรีฯ ท่านคิดจะจัดชุดพระที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นพระยอดนิยมจึงสนทนาปรึกษากันว่าจะห้อยพระอะไรบ้างจึงจะเหมาะสมสวยงาม

เริ่มจากพระชุดไตรภาคี

เริ่มจากการเลือกพระสมเด็จฯวัดระฆังเป็นองค์ประธาน เนื่องจากมีผู้เคารพศรัทธาในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอย่างมาก อีกทั้งพุทธคุณนั้นก็ครอบจักรวาล ด้วยพระคาถาที่ปลุกเสก คือ ชินบัญชรคาถา นอกจากนั้น พระสมเด็จฯ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีขนาดพอสมควรจึงเหมาะที่จะนำมาไว้เป็นพระองค์กลาง จากนั้น ก็หาว่าจะนำพระอะไรมาห้อยเป็นองค์ต่อไปซ้าย-ขวา จุดประสงค์หลัก คือ ต้องเป็นพระเก่าที่มีความนิยม จึงปรึกษากันจนได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็น พระนางพญาพิษณุโลกพิมพ์เข่าโค้ง ซึ่งสร้างโดยพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และ พระราชชนนีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงนำพระนางพญามาสถิตย์อยู่เบื้องขวาของสร้อย องค์ต่อมาก็มีความเห็นในครั้งแรกว่า ควรจะเป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน ลำพูน ซึ่งเป็นพระเก่าแก่มาแต่โบราณ ตามตำนานว่าเป็นพระที่สร้างในสมัยพระนางจามเทวี เจ้าผู้ครองเมืององค์แรกของนครหริภุญชัย พุทธคุณนั้นก็เปี่ยมล้นไปด้วยนิรันตรายแคล้วคลาดปลอดภัย สถิตย์อยู่เบื้องซ้ายของสร้อย ในครั้งแรกนั้นก็จัดชุดได้ 3 องค์ จึงเรียกกันว่า พระชุดไตรภาคี โดยมีพระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) อยู่ตรงกลางเป็นองค์ประธาน พระนางพญา กรุวัดนางพญา พิมพ์เข่าโค้งอยู่เบื้องขวา เป็นองค์ต่อมา และพระรอด พิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวันอยู่เบื้องซ้าย ตามลำดับ

กลายมาเป็นพระชุดเบญจภาคี

หลังจากนั้นต่อมาซักระยะหนึ่ง จึงเห็นว่าขนาดพระของพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง กับพระรอดที่ห้อยคู่กันนั้น ขนาดไม่เท่ากัน องค์หนึ่งใหญ่กว่าอีกองค์หนึ่ง ไม่ค่อยสมดุลเท่าไรนัก จึงคิดจะจัดชุดให้เป็น 5 องค์จะได้เป็นพระชุดใหญ่เต็มสร้อยพอดี (ส่วนมากสายสร้อยที่เขาห้อยคอนั้น มักจะมีห่วงห้อยพระได้ 5 องค์) จึงมานั่งคิดกันต่อว่า จะหาพระอะไรดีหนอจึงจะเหมาะสมกับพระทั้ง 3 องค์ที่จัดไว้แล้ว ก็มานึกถึงพระกรุทุ่งเศรษฐี พระเม็ดขนุน ซึ่งเป็นพระที่อุดมด้วยโภคทรัพย์และเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชลิไท มาจัดห้อยคู่กับพระนางพญาแทน แต่ต่อมาผู้กองสันทัดท่านก็ให้ความเห็นว่า พระเม็ดขนุนเป็นพระปางลีลา พระที่จัดชุดไว้แล้วเป็นพระปางประทับนั่งทั้งสิ้นมองดูคงจะไม่เข้ากันนัก อีกด้วยรูปทรงของพระเม็ดขนุนซึ่งเป็นรูปทรงรีๆ ยาวๆ น่าจะหาพระปางประทับนั่งเช่นเดียวกัน จึงเปลี่ยนอีกทีโดยนำพระกำแพงซุ้มกอ ซึ่งเป็นพระของกรุทุ่งเศรษฐีเช่นกัน ยุคสมัยเดียวกันมาจัดห้อยคู่กับพระนางพญา ก็ได้สมดุลทั้งขนาด รูปทรง และความเหมาะสม ทีนี้เป็นภาระในองค์สุดท้ายที่ต้องหามาให้เหมาะสมและสมดุลมีขนาดใกล้เคียง กับพระรอดซึ่งมีขนาดย่อม และอยู่ถัดขึ้นไปด้านบนของสร้อยจากพระทั้งสามองค์ ก็นึกกันขึ้นมาได้และเป็นข้อยุติคือ ใช้พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ซึ่งพบที่กรุวัดพระศรีมหาธาตุ สุพรรณบุรี ซึ่งจารึกลานทองระบุว่าพระมหาปิยะทัตสะสี ศรีสารีบุตรเป็นประธานในการสร้างบรรจุไว้ ซึ่งเพียบพร้อมทั้งด้านพุทธคุณตามที่ในลานทองระบุไว้ และเป็นที่นิยมกันมาก ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ท่านสนทนากันในสมัยนั้น ก็เห็นว่าเหมาะสมและสมดุลกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว จึงได้มาเป็นพระชุดเบญจภาคีขึ้นในครั้งแรก และผู้นิยมสะสมพระเครื่องต่างก็ยอมรับและชื่นชมในความสามารถที่จัดชุดพระยอด นิยมได้อย่างลงตัวที่สุด กล่าวโดยสรุปว่า พระชุดเบญจภาคีประกอบด้วย
  1. พระสมเด็จฯวัดระฆัง (พระประธาน) ซึ่งพุทธคุณครอบจักรวาล เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
  2. พระนางพญา พุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยมอยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอยุธยา
  3. พระกำแพงซุ้มกอ พุทธคุณเด่นทางด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยสุโขทัย
  4. พระรอด พุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยทราวดีตอนปลาย (หริภุญชัย)
  5. พระผงสุพรรณ นั้นพุทธคุณเด่นทางด้านโภคทรัพย์ แคล้วคลาด อยู่ยง เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอู่ทอง
จะเห็นว่าเป็นอัจฉริยะภาพของการจัดชุดพระเบญจภาคี อย่างลงตัว และมีความหมายทั้งทางพุทธคุณ พุทธศิลป์ และยุคสมัย จึงเป็นความนิยมสืบต่อมาจนทุกวันนี้