พระสิกขี หริภุญไชย กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน

19 มีนาคม 2562 ยอดผู้ชม 14427 ครั้ง
ชื่อพระ:
พระสิกขี หริภุญไชย กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน
พิมพ์พระ:
เนื้อพระ:
เนื้อดิน
ชื่อวัด:
วัดมหาวัน
จังหวัด:
ลำพูน
พุทธศักราช:
พุทธศตวรรษที่ 14

พระสิกขี หริภุญไชย กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน

          เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ในตำนานพงศาวดารกล่าวโดยเริ่มต้นว่า เมืองนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระฤาษี ๑ องค์ พงศาวดารโยนกว่า ๕ องค์ พระสุเทวะฤาษีหรือฤาษีวาสุเทพเป็นผู้นำการสร้าง ท่านมีถิ่นพำนักอยู่ ณ ดอยอุจฉุบรรพต คือ ดอยสุเทพ สร้างเมืองหริภุญไชย เสร็จใน พ.ศ. ๑๒๐๐ จะกล่าวเฉพาะเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันกับพระเครื่องในศิลปะหริภุญไชยเท่านั้น เพราะในตำนานส่วนใหญ่กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนชาวมอญโบราณ พระพุทธศาสนาและการสร้างบำรุงศาสนสถานของกษัตริย์ในขณะนั้น พระนางจามเทวีได้ถูกอัญเชิญมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองนี้และเจ้าหญิงเชื้อสายชนเผ่าจามพระองค์นี้ ทรงเป็นธิดาของพระเจ้าจักรวรรดิราช กษัตริย์มอญ เมืองละดว้หรือลพบุรีในขณะนั้นคงเป็นศูนย์กลางของแคว้นทวาราวดีของชนเผ่ามอญโบราณนี้รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน พระนางจามเทวีผู้ทรงสิริอันงดงามประเสริญด้วยศีล ได้ทรงนำพระพุทธศาสนา พระสงฆ์พระไตรปิฎก รวมทั้งศิลปะวิทยาการต่างๆ และผู้คนอีกจำนวนมากขึ้นมายังเมืองหริภุญไชย           พระนางจามเทวี ได้เสด็จมาถึงนครลำพูนใน พ.ศ. ๑๒๐๕ และขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงหริภุญไชยในปีเดียวกันนี้ ตำนานได้กล่าวถึงพระนางทรงสร้างวัดและถาวรวัตถุในศาสนสถาน ที่สำคัญที่สุดคือ ทรงสร้างจตุรพุทธปราการโดยสร้างวัดไว้ทั้งสี่ทิศ ที่ชาวเมืองเรียกว่า วัดสี่มุมเมือง เพื่อเป็นการคุ้มครองเมืองไว้ทั้งสี่ทิศที่ปรากฏอยู่ ดังนี้
  1. วัดพระคงฤาษี อยู่ทางทิศเหนือ
  2. วัดดอนแก้ว อยู่ด้านทิศตะวันออก
  3. วัดมหาวัน อยู่ด้านทิศตะวันตก
  4. วัดประตูลี้ อยู่ทางทิศใต้
          นอกจากนี้พระเจดีย์ฤาษี วัดพระคงฤาษี ยังปรากฏรูปพระฤาษีทั้งสี่องค์ผู้ร่วมสร้างเมืองหริภุญไชยประทับยืนในซุ้มคูหาของพระเจดีย์องค์นี้  พร้อมทั้งมีคำจารึกไว้ที่ใต้ฐานว่า
  • สุเทวะฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศเหนือ
  • สุกกทันตฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศใต้
  • สุพรหมฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศตะวันออก
  • สุมมนารทะฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายตะวันตก
          วัดทั้งสี่มุมเมืองนี้ พระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๒๒๓ เป็นพุทธาวาสที่สำคัญ เป็นแหล่งกำเนิดกรุพระเครื่องอันมีชื่อที่สุดในลำพูนด้วย พระพิมพ์พระเครื่องหลายพิมพ์ทรงโดยเฉพาะ พระรอด พระคง พระฤา พระบาง พระเปิม มีรูปแบบของศิลปะทวาราวดี และศิลปะศรีวิชัย คงไม่ทราบว่าสร้างขึ้นในยุคแรกหรือยุคปลายของสมัยหริภุญไชย แต่เดิมเชื่อกันว่าสร้างโดยพระฤาษีพร้อมกับสร้างวัดในสมัยพระนางจามเทวี มีอายุราว ๑,๓๐๐ ปี ศิลปะทวาราวดีในหริภุญไชยนั้นเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๑๒๒๓ ถึง พ.ศ. ๑๘๒๔ ยาวนานถึง ๖๒๔ ปี พระเครื่องทั้งสี่องค์ที่กล่าวมานั้นจะสร้างโดยพระฤาษีในยุคแรกที่ยุคปลายของช่วงสมัยนั้น ข้าพเจ้าไม่ขอออกความเห็น เพราะข้าพเจ้าเคยพบพระพิมพ์ดินเผาขนาดใหญ่สมัยทวาราวดีกรุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ถ้ากำหนออายุตามศิลปะแล้วราวพันปี แต่พระพิมพ์องค์นี้ที่ด้านหลังมีจารึกภาษาจีน บอกชื่อผู้สร้างและปีศักราชหยวนจิน(ราชวงศ์หยวน)ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๓๘ ทำให้ได้ทราบศิลปะทวาราวดีมีสร้างมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หลังจากพระนางจามเทวีแล้วมีกษัตริย์ราชวงศ์จามเทวีสืบต่อมาอีก ๒๗ พระองค์ถึงวงศ์อาทิตตราช

พระยาอาทิตตราช พ.ศ. ๑๕๘๖ - ๑๖๐๔

          ในขณะนั้นบ้านเมืองสิ้นศึกสงคราม มีความสงบสุข พระพุทธศาสนาในนครหริภุญไชยได้เจริญรุ่งเรือง มีการพบพระบรมธาตุ บังเกิดขึ้นด้วยอภินิหารอันมหัศจรรย์ มีปรากฏในตำนานฉบับต่างๆที่อ้างชื่อไว้ตอนท้ายนี้ พระยาอาทิตตราช ก่อสถูปบรรจุพระบรมธาตุประดิษฐานไว้กลางเมืองหริภุญไชย พระนางปทุมวดี พระมเหสี ได้ทรงสร้างสุวรรณเจดีย์ยอดหุ้มด้วยทองคำองค์หนึ่ง ทางด้านทิศเหนือพระเจดีย์องค์นี้ สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๕ มีการขุดพบพระเปิมได้เป็นจำนวนมาก เป็นพระเปิมกรุเดียวกับของวัดดอนแก้ว เรียกพระเปิมกรุนี้ว่ากรุปทุมวดี จบข้อความบางตอนที่ข้าพเจ้าอ้างจากตำนานมูลศาสนา และตำนานจามเทวีวงศ์มูลศาสนาเขียนขึ้น โดยพระพุทธญาณ จามเทวีวงศ์ เขียนขึ้นโดย พระโพธิรังษี พระเถระทั้ง ๒ รูปนี้ ท่านเป็นนักปราชญ์ในสมัยล้านนา ท่านแต่งตำนานเสร็จภายหลังสร้างเมืองหริภุญไชยแล้วเกือบแปดร้อยปี

พระยาสรรพสิทธิ์ และศิลาจารึกตชุมหาเภร

          พระยาสรรพสิทธิ์ เขียนในจารึกว่า สวาธิสิทธิ เสวยราชในนครหริภุญไชย พ.ศ. ๑๖๑๖ - ๑๖๖๑ เป็นยุคแห่งพระพุทธศาสนาและวรรณคดีภาษาบาลีเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง คัมภีร์พระปริตต์พระสูตรบทต่างๆก็ได้แต่งขึ้นครั้งแรกในนครหริภุญไชย และได้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้ ดังปรากฏหลักฐานพบที่วัดแสนข้าวห่อ คือศิลาจารึก ตชุมหาเถรอักษรภาษามอญโบราณ เนื้อความกล่าวคือตัวท่านตชุมหาเถรแห่งวัดเชตุวันในการนี้ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆพร้อมทั้งสร้างคัมภีร์พระปริตต์และคัมภีร์ยอดพระไตรปิฎกไว้ในวัดมหาวัลล์ (มหาวัน) จารึกตชุมหาเถรนี้จะได้สร้างในสมัยเดียวกับจารึกวัดกู่กุดและจารึกวัดเชตวัน ในรัชกาลของพระยาสรรพสิทธิ์           คัมภีร์พระปริตต์เป็นบทสวดพุทธมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา ประเพณีการสวดพระปริตต์ก็เพื่อเป็นศิริมงคลคุ้มครองป้องกันภัย คัมภีร์พระปริตต์ คัมภีร์ยอดพระไตรปิฎกและชินบัญชร พระคาถา ได้แต่งขึ้นที่ประเทศศรีลังกา ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ สมัยอนุราชปุระตอนต้น โดยพระเถระลังกา พระพุทธเรวัติมหาเถร เป็นปราน ได้รวบรวมบทพระปริตต์ รวมเป็นคัมภีร์เรียกว่า พระสูตรจตุภาณวาร เป็นพระสูตรที่ได้นำมาจากพระไตรปิฎก ๑๔ พระสูตร มีพระสูตรที่สำคัญ ๖ พระสูตรที่นิยมสวดกัน ดังมีในหนังสือสวนมนต์เจ็ดตำนาน เมื่อพระพุทธศาสนานิกายลังกา แผ่มาถึงนครหริภุญไชยในยุคนั้น พระสงฆ์ชาวลังกาคงนำประเพณีการสวดพระปริตต์ เข้ามาเผยแพร่ด้วย           วัดมหาวันเป็นแหล่งกำเนิดพระรอด พระพิมพ์แบบต่างๆมากที่สุด ซึ่งตชุมหาเถร ขณะนั้นอยู่วัดเชตวันหรือวัดดอนแก้วเป็นผู้สร้างขึ้น แล้วบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ใหญ่ จารึกวัดมหาวันว่าพระเจดีย์ใหญ่องค์นี้ พระยาสรรพสิทธิ์ทรงสถาปนาขึ้น (พระเจดีย์องค์เดิมคงพังทลายไปแล้ว)           ศิลาจารึกวัดกู่กุดได้กล่าวถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นั้นคงทำให้ศาสนสถานถาวรวัตถุพังเสียหายมาก เจดีย์วัดกู่กุดก็พังทลายลง พระยาสรรพสิทธิ์ทรงซ่อมสร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งพระพุทธรูปยืนในซุ้มเจดีย์ด้วย กลุ่มพระเครื่องหลายพิมพ์ทรงในลำพูน ข้าพเจ้ามีความเข้าใจว่าได้สร้างขึ้นในสมัยพระยาสรรพสิทธิ์ ครองนครหริภุญไชย ด้วยมีความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาวิทยาการต่างๆ ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกและผู้นำจารึกก็ทันอยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น และเป็นพระสังฆราชในนครหริภุญไชยด้วย ต่างจากตำนานที่เริ่มเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๔ ผู้เขียนอยู่ห่างจากเหตุการณ์ในขณะนั้นราว ๗๐๐ ปี           พระยาสรรพสิทธิ์ครองราชยาวนานถึงประมาณ ๔๕ ปี เพียงพอต่อการพัฒนาบ้านเมือง ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสร้างศิลปะวัฒนธรรมให้เจริญรุ่งเรืองได้ บ้านเมืองในแคว้นใกล้เคียงมีความเจริญในขณะนั้น มีศรีลังกา พม่า พุกามและแคว้นลพบุรี ก็ได้แผ่อิทธิพลทางศิลปะวัฒนธรรมเข้ามายังเมืองหริภุญไชย ศิลปะมอญแห่งพุกามในสมัยพระเจ้าครรชิตถึงพระเจ้านรปติสิทธู พ.ศ. ๑๖๒๗ - ๑๗๑๖ กำลังรุ่งเรืองในขณะนั้น มีอิทธิพลอย่างมากได้เข้ามาผสมผสานกับศิลปะในหริภุญไชยด้วย           พระเครื่องในลำพูนทุกพิมพ์ เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาทั้งสิ้น ในจำนวนนี้มีพระเครื่องชั้นนำคือ พระรอด พระคง พระฤา พระเปิม ทั้งสี่องค์นี้สร้างจากวัดสี่มุมเมือง นอกนั้นเป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่หลายพิมพ์กระจายอยู่ตามกรุหลายแห่งในเมืองลำพูน