สมาคมฯชวนชิล : ย้อนวันวานย่านกุฎีจีน กราบขอพรหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร

22 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 6396 ครั้ง

วันหยุดสุดสัปดาห์นี้หากคุณอยากไปเที่ยวพักผ่อน ไปไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคล แต่ไม่รู้จะไปที่ไหน หรือเหนื่อยกับการเดินทางไกลๆ “สมาคมฯชวนชิล” มีวันเดย์ทริปใกล้กรุงมานำเสนอ จะมาทางรถก็สะดวก จะมาทางเรือก็สบาย เพียงข้ามฝั่งพระนครมาหน่อยนึงก็ถึงแล้ว “ชุมชนกุฎีจีน” ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี บริเวณริมคลองบางกอกใหญ่ หรือที่ในอดีตเรียกกันว่า คลองบางหลวง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่หลอมรวมผู้คนถึงสามศาสนา สี่เชื้อชาติ ผสมผสานจนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ ที่ยังคงส่งกลิ่นอายของวันวานในอดีตให้สัมผัสได้จวบจนถึงปัจจุบัน



“วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร”


จุดหมายแรกของทริปนี้คือ “วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่3 โดยพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นตระกูลกัลยาณมิตร ได้อุทิศบ้านและที่ดินใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากพระมหากษัตริย์ไทย ชุมชนย่านนี้นอกจากชาวจีนแล้วยังเป็นที่อยู่อาศัยของทั้งชาวโปรตุเกส ชาวมุสลิม ชาวไทย และยังมีพระภิกษุจีนพำนักอยู่ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกย่านนี้ว่า ชุมชนกะดีจีน หรือ กุฎีจีน การก่อสร้างพระอารามเริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2368 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” แปลว่า มิตรดี หรือ เพื่อนดี คาดว่ามาจากความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่มีต่อพระยานิกรบดินทร์ (โต) ผู้สร้างวัด ซึ่งได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมที่มีความซื่อสัตย์และได้ทำการค้าขายสำเภาร่วมกับพระองค์ทั้งก่อนและหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ



เมื่อเข้ามายัง “วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร” สิ่งที่น่าสนใจและสะดุดทุกสายตาคือ “วิหารหลวง” ที่มีขนาดสูงใหญ่ เป็นศิลปะสมัยนิยมในสมัยรัชกาลที่3 ภายในประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก หลวงพ่อโต พระโต” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ซำปอกง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯสร้างขึ้นพร้อมวิหารหลวง พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะให้เหมือนดั่งกรุงศรีอยุธยา ที่มีพระโตประดิษฐานอยู่นอกกำแพงเมืองอย่างเช่น วัดพนัญเชิง วรวิหาร และแม้กาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเท่าใด หลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร เป็นยังคงที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากทั้งชาวไทยและชาวจีน ด้วยพุทธศิลป์ที่สวยงาม มีใบหน้าที่ดูเหมือนท่านอมยิ้มสะท้อนให้เห็นถึงความสงบสุขร่มเย็น สร้างความสุขใจให้กับพุทธศาสนิกชนที่เข้ามากราบขอพรอย่างไม่ขาดสาย

“หอระฆัง”


บริเวณระหว่างพระวิหารใหญ่กับพระวิหารเล็ก มี “หอระฆัง” ที่มีระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างโดย พระครูสุนทรสมาจารย์ (พรหม) อดีตพระราชคณะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ท่านเป็นพระคณาจารย์ผู้มีวิชา วัตถุมงคลของท่าน มีทั้งพระเนื้อผง,เนื้อโลหะ เครื่องรางของขลัง และเหรียญต่างๆ แต่ที่มีความโดดเด่นในวงการพระ คือ พระปรกใบมะขาม หรือพระนาคปรก หนึ่งในห้าของเบญจภาคีพระนาคปรกจิ๋ว และที่ต้องขอกล่าวถึงอีกหนึ่งคือ พระครูโสภณ กัลยาณวัตร หรือ หลวงปู่เส่ง โสภโณ ศิษย์เอกผู้ใกล้ชิดของพระครูสุนทรสมาจารย์ (พรหม) ท่านเป็นผู้รับช่วงต่อในสร้างระฆังใบใหญ่จนแล้วเสร็จ เป็นพระผู้มีเมตตาจิต สำเร็จพุทธาคมวิชาบัวลอยเคราะห์ วัตถุมงคลของท่านเล่าต่อกันว่ามีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม ทำมาค้าขึ้น แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นที่หวงแหนของบรรยาศิษยานุศิษย์ที่มีไว้ครอบครอง



“ศาลกวนอันเก๋ง”


ประวัติความเป็นมา แต่เดิมมีศาลเจ้าสองหลังติดกัน คือ ศาลโจวซือกง และ ศาลเจ้ากวนอู ตามคำบอกเล่าต่อกันว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี โดยชาวจีนที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่1 มีชาวจีนฮกเกี้ยนจำนวนหนึ่งได้มารื้อศาลทั้งสองแห่งลง แล้วสร้างขึ้นใหม่เป็นหลังเดียว อัญเชิญเจ้ามากวนอิมประดิษฐานแทน และให้ชื่อว่า “ศาลกวนอันเก๋ง” ต่อมามีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ขาดการทำนุบำรุงรักษา เมื่อครั้ง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จร่วมพิธีหล่อระฆังใบใหญ่ ณ วัดกัลยาณมิตร พระองค์ทรงเห็นศาลเจ้านี้ และได้เขียนเล่าให้สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทราบถึงการบูรณะศาลเจ้ากวนอันเก๋ง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง ปัจจุบันได้รับการบูรณะและอยู่ในการดูแลของตระกูลสิมะเสถียร หรือ แซ่ซิ้ม ตระกูลเก่าแก่ในย่านนี้



“เรือนขนมปังขิง”


ออกเดินทาง(เท้า) เหงื่อยังไม่ทันออก ก็จะพบจุดที่ผู้ชื่นชอบบ้านไม้เรือนเก่าต้องห้ามพลาด นั่นคือ “เรือนขนมปังขิง” เรือนไม้ประดับลวดลายฉลุแบบขนมแบบขนมปังขิง ที่ได้รับความนิยมจากอังกฤษมาสู่การตอบรับของสังคมชาวสยามในสมัยรัชกาลที่5 งานสลักลวดลายไม้อ่อนพริ้วงดงามลงตัวสูงสุดในสมัยรัชกาลที่6 เรือนหลังนี้เป็นมรดกตกทอดของตระกูลวินด์เซอร์ เจ้าของ ห้างวินเซอร์(ห้างสี่ต) ที่ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่ชมชนกุฎีจีนแห่งนี้ ปัจจุบันยังคงมีผู้อาศัยอยู่ ถึงแม้ตัวบ้านจะดูเก่าไปตามกาลเวลา แต่เสน่ห์และความงามของบ้านหลังนี้ยังคงเป็นห่วงโซ่ที่สอดคล้องวันวานในอดีตกับวันนี้ในปัจจุบันไว้อย่างเหนียวแน่น

“สมาคมฯชวนชิม”


พาทัวร์มาสามที่แล้ว น้ำย่อยในท้องไกด์ก็เริ่มส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ เลยต้องแวะชิม “ขนมจีนแกงคั่วไก่” สูตรโบราณดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ที่มีรสชาติเข้มข้น หอมกลิ่นเครื่องเทศ คลุกเคล้าเข้ากันกับเนื้อและเครื่องในไก่ อร่อยแบบไม่ต้องปรุงเพิ่ม มื้อนี้อิ่มท้องแถมราคายังสบายกระเป๋าอีกต่างหาก


center

จัดของคาวกันแล้วก็ถึงคราวของหวานกันบ้าง มาถึงย่านกุฎีจีนก็ต้องหาทานให้ได้ ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมโบราณที่มีต้นตำรับจากชาวโปรตุเกสที่มาตั้งถิ่นฐานในชุมชนกุฎีจีน มีลักษณะเด่นตรงที่ใช้วัตถุดิบอย่างดี นำแป้ง ไข่และน้ำตาล มาตีรวมให้เข้ากันจนเนื้อนวลขึ้นฟู นำไปเทใส่แม่พิมพ์ โรยด้วยลูกเกด ลูกพลับ ฟักเชื่อม และน้ำตาลทราย เข้าตู้อบจนสุกส่งกลิ่นหอม แต่ละร้านมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ที่คงความดั้งเดิมของขนมฝรั่งกุฎีจีน ไม่ว่าจะแวะร้านไหนการันตรีเลยว่าอร่อยทุกร้าน



“โบสถ์ซางตาครู้ส”


อิ่มใจสบายท้องกันแล้วก็มาแวะมา “โบสถ์ซางตาครู้ส” ที่มีความเก่าแก่อยู่คู่กับชุมชนกุฎีจีนมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านได้พระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกส ซึ่งร่วมมือกับพระองค์ในการทำศึกกับพม่า โบสถ์ไม้หลังแรกได้รับก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2313 ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ชุมชนแห่งนี้ในปีพ.ศ.2376 จึงได้มีการก่ออิฐถือปูนสร้างโบสถ์แทนหลังเดิม ภายหลังมีการบูรณะให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนเกือบทั้งหมด ปัจจุบัน “โบสถ์ซางตาครู้ส” ยังคงความงดงามที่เหนือกาลเวลา อีกทั้งได้รับการดูแลย่างดีมาโดยตลอด จึงเป็นหนึ่งสถานที่ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง

“มัสยิดต้นสน”


ก่อนจากกันในทริปนี้ขอข้ามฝั่งมายัง “มัสยิดต้นสน” มัสยิดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยพระยาราชวังสันเสนีย์ (ม๊ะหมูด) เดิมเรียก กุฎีใหญ่ ย่อมาจาก กุฎีบางกอกใหญ่ อาคารเดิมเป็นเรือนไม้สักยกพื้น ในสมัยรัชกาลที่2 ชาวมุสลิมในเขตบางกอกใหญ่ได้ร่วมมือกันบูรณะใหม่โดยสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ต่อมาได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะ และ ได้มีการสร้างใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ.2495 ภายในมีที่แสดงธรรม เรียกว่า มิมบัร ลักษณะสวยงาม และมีแผ่นกระดาษใหญ่ซึ่งมีรอยแกะสลักภาษาอาหรับและรูปวิหารกะบะ รวมทั้งผังของมัสยิดในนครเมกกะ เป็นหลักฐานที่ค้นพบในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


center

ฝากไว้สักนิดก่อนคิดเดินทาง


  1. การเดินมา “วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร” ที่วัดมีสถานที่จอดรถ ค่าบริการ 20 บ.
    • การเดินทางโดยรถประจำทาง สาย 3, 4, 7, 7ก, 9, 21, 37, 56, 82
    • รถปรับอากาศ สาย ปอ.7, 21, 82 (ต้องนั่งรถจักรยานยนต์รับจากต่อมาจากโรงเรียนศึกษานารี)
    • ทางเรือ ลงเรือข้ามฟากที่ท่าปากคลองตลาดขึ้นท่าวัดกัลยาณมิตร เปิดทุกวันเวลา 06.00-17.00 น.
  2. บริเวณท่าน้ำวัดกัลยาณมิตรมีบริการเรือนำเที่ยวไหว้พระวัดบริเวณใกล้เคียง เช่นวัดอรุณราชวรารามและวัดระฆังโฆษิตาราม
  3. “ศาลเจ้าแม่กวนอิม หรือ ศาลกวนอันเก๋ง” ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพด้านในศาลเจ้า
  4. “โบสถ์ซางตาครู้ส” สามารถเข้าไปชมด้านในได้ตามเวลาทำการ แต่ขอความกรุณาอย่าส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นและเพื่อเป็นการให้เกียรติสถานที่