ยอดนิยมจากคมเลนส์ ครั้งที่ 62 / แล่ม จันท์พิศาโล

01 พฤศจิกายน 2562 ยอดผู้ชม 9224 ครั้ง


ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 62


            พระพุทธสิหิงค์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  จ.นครศรีธรรมราช จำลองจากองค์ดั้งเดิมที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ ศาลากลาง จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2517  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อ พระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) ณ มณฑลพิธีหน้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถาน มี 3 ขนาด คือ หน้าตัก 5 นิ้ว, 9 นิ้ว และ 12 นิ้ว โดยมี พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นประธานฝ่ายพิธีกรรม ตั้งแต่วันที่ 24-28 สิงหาคม 2517  พิธีพุทธาภิเษกโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของ จ.นครศรีธรรมราช, จ.สุราษฎร์ธานี และจ.พัทลุง นั่งปรกปลุกเสก  พระพุทธสิหิงค์ องค์ในภาพนี้ หน้าตัก 5 นิ้ว ของ  ภมร ภคอัครเลิศกุล (ตือ ประตูน้ำ)  นักสะสมพระเครื่องรุ่นใหญ่





พระพุทธสิหิงค์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ปี 2517 หน้าตัก5นิ้ว (ด้านข้าง)
พระพุทธสิหิงค์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ปี 2517 หน้าตัก5นิ้ว (ด้านหน้า)
พระพุทธสิหิงค์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ปี 2517 หน้าตัก5นิ้ว (ด้านหลัง)




            พระปิดตาทรงหนุมาน หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในพระคณาจารย์ยุคเก่าที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งเมืองกรุงเก่า (ท่านเกิด พ.ศ.2415 มรณภาพ พ.ศ.2486) เป็นศิษย์หลวงพ่ออ่ำ วัดวงฆ้องหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า สุดยอดพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ท่านมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นอย่างมาก เล่ากันว่า เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมหลวงพ่อขันถึงวัดนกกระจาบ ด้วยเรือกลไฟหลายครั้ง  พระปิดตาทรงหนุมาน หลวงพ่อขัน เป็นหนึ่งในวัตถุมงคลยอดนิยมที่หายาก  สร้างจากเนื้อผงคลุกรัก องค์นี้สภาพสวยแชมป์ แท้ดูง่าย เนื้อจัดมัน ผิวหิ้ง ไม่ผ่านการใช้มาก่อน เป็นพระของ  เติ้ง รักษ์ศิลป์  ผู้ชำนาญพระเครื่องและเครื่องรางยอดนิยม อันดับต้นๆ ของเมืองไทย




พระปิดตาทรงหนุมาน หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ เนื้อผงคลุกรัก(ด้านหน้า)
พระปิดตาทรงหนุมาน หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ เนื้อผงคลุกรัก(ด้านหลัง)

 

            พระครูเนกขัมมาภิมณฑ์ (หลวงพ่อดิษฐ์ ติสฺสโร) วัดปากสระ จ.พัทลุง เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2421 เป็นศิษย์ของอาจารย์รอด วัดควนกรวด อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี ที่วัดปรางหมู่ใน มีฉายาว่า “ติสฺสโร” จำพรรษาที่วัดควนกรวด  พรรษา  จนถึง พ.ศ.2446 ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากสระ พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น  “พระครูเนกขัมมาภิมณฑ์” เจ้าคณะตำบลไชยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง มรณภาพเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2507 สิริรวมอายุ 86 ปี พรรษา 66  หลวงพ่อดิษฐ์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมสูง เมื่อปี 2485  ได้สร้าง พระสังกัจจายน์ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก ด้วยวิธีเททองหล่อแบบโบราณ ด้วยเนื้อโลหะผสม นอกจากนี้ยังมีพระปิดตา พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็กพระกลีบบัว, เหรียญ, แหวนพิรอดลูกอมปลอกแขนผ้ายันต์, เสื้อยันต์ ฯลฯ พุทธคุณโดดเด่นด้านมหาอุด อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย และเมตตามหานิยม  ที่นำมาให้ชมนี้ คือ  พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อดิษฐ์ พิมพ์เล็ก  ของ  จูน หาดใหญ่  คนรุ่นใหม่สนใจสะสมพระสายใต้




พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ พิมพ์เล็ก ปี 2485(ด้านหน้า)
พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ พิมพ์เล็ก ปี 2485(ด้านหลัง)




            พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ ปี 2505  สร้างด้วยวิธีเททองหล่อโบราณ มี เนื้อนวโลหะ, เนื้อทองผสม และเนื้อเมฆพัด  พระหลวงพ่อทวด เนื้อเมฆพัด มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์นิยม กับพิมพ์ทั่วไป  เนื้อเมฆพัด เป็นส่วนผสมของโลหะหลายชนิด ที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งต้องใช้คาถาอาคมกำกับ เชื่อว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์ มีฤทธานุภาพในตัวเอง  ลักษณะสีดำเป็นมันเงาเลื่อมพราย แต่เปราะและแตกง่าย ทางวัดจึงสร้าง พระหลวงพ่อทวด เนื้อเมฆพัด จำนวนไม่มาก องค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็น พิมพ์ทั่วไป (ไม่มีตุ่มที่หัวเข่า) แชมป์หลายงาน ค่านิยมหลักหมื่นกลางขึ้นไป เป็นพระของ  อนันดารา หอเที่ยงธรรม  นักธุรกิจอสังหา จ.ภูเก็ต

 

 




พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เนื้อเมฆพัด ปี 2505(ด้านข้าง)
พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เนื้อเมฆพัด ปี 2505(ด้านหน้า)
พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เนื้อเมฆพัด ปี 2505(ด้านหลัง)




            เหรียญนวรัตน์ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง ปี 2517  สร้างเพียงเนื้อนวโลหะ จำนวน 2,517   เหรียญเท่านั้น  ทุกเหรียญตอกหมายเลขกำกับด้านหน้าและตอกโค้ด 1 ตัว ด้านหลังเหรียญ ปลุกเสกพร้อมกับเหรียญแตงโมพระนาคปรกใบมะขามพระกริ่งไตรลักษณ์ และพระชัยไตรภพ มวลสารหลักในการสร้างมีแผ่นทองลงจาร และตะกรุดเก่าโบราณของพระเกจิอาจารย์หลายท่าน รวมทั้งของวัดดังในกรุงเทพฯ หลายวัด นำมาหลอมรวมแล้วรีดเป็นแผ่นออกมาปั๊มเป็นเหรียญ ทำให้บางเหรียญยังมีกระแสของเนื้อโลหะเก่าที่ยังผสมกันไม่เข้าที่ปรากฏอยู่ เป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง  ปัจจุบันราคาค่านิยมของเหรียญนวรัตน์สภาพสวยๆ อยู่ที่หลักพันปลายถึงหลักหมื่นต้น  เหรียญในภาพนี้เป็นโซนเนื้อโลหะเก่าที่ยังปรากฏคราบโลหะเงินผุดขึ้นบนเนื้อเหรียญ ดูสวยมีเสน่ห์มาก เหรียญนี้ชนะการประกวดมาแล้ว 9 งานใหญ่  เป็นเหรียญของ  อาร์ท ไตรรัตน์ เชียงราย  สายตรงพระหลวงพ่อเกษม เขมโก





เหรียญนวรัตน์ หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี 2517 เนื้อนวโลหะ(ด้านหน้า)
เหรียญนวรัตน์ หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี 2517 เนื้อนวโลหะ(ด้านหลัง)