ยอดนิยมจากคมเลนส์ ครั้งที่ 60 / แล่ม จันท์พิศาโล

19 กรกฎาคม 2562 ยอดผู้ชม 15847 ครั้ง


ยอดนิยมจากคมเลนส์ ครั้งที่60 แล่ม จันท์พิศาโล



พระพุทธรูปล้านนา สกุลช่างเมืองฝาง หน้าตัก 5.5 นิ้ว ด้านหน้า
พระพุทธรูปล้านนา สกุลช่างเมืองฝาง หน้าตัก 5.5 นิ้ว ด้านหลัง


            พระพุทธรูปล้านนา สกุลช่างเมืองฝาง หน้าตัก 5.5 นิ้ว อายุประมาณ 5-600 ปี เอกลักษณ์ของสกุลช่างเมืองฝาง (จ.เชียงใหม่) อยู่ที่ฐาน หน้าตา และปลายพระเกศ  โดยฐานชั้นล่างจะมีปลายยื่นออกมา คล้ายเรือสำเภา  ส่วนเกศแบบนี้ทางภาคเหนือเรียกว่า “ไส้ปลา”  พระองค์นี้มีความสวยสมบูรณ์มาก  สภาพเดิมๆ  เป็นพุทธศิลป์ที่น่าสนใจมาก  ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก  เศรษฐสิริ อภิพรจีรภัทร์ (ต้อม บ้านธารทิพย์) จ.เชียงใหม่   

---------------------------x-------------------------------




พระพุทธชินราช รุ่นแรก "ฟ.ลึก"หลวงพ่อเฟื่อง วัดคงคาเลียบ หาดใหญ่ จ.สงขลาด้านหน้า
พระพุทธชินราช รุ่นแรก "ฟ.ลึก"หลวงพ่อเฟื่อง วัดคงคาเลียบ หาดใหญ่ จ.สงขลาด้านข้าง
พระพุทธชินราช รุ่นแรก "ฟ.ลึก"หลวงพ่อเฟื่อง วัดคงคาเลียบ หาดใหญ่ จ.สงขลาด้านหลัง


            พระพุทธชินราช รุ่นแรก "ฟ.ลึก" หลวงพ่อเฟื่อง วัดคงคาเลียบ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  เป็นพระเครื่องยอดนิยมพิมพ์หนึ่งของพระเกจิอาจารย์ภาคใต้  สร้างขึ้นโดย พระอาจารย์แอบ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ถนนแสงศรี หาดใหญ่ เป็นผู้ไปขออนุญาต  หลวงพ่อเฟื่อง  ตามคำแนะนำของ  หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี ผู้เป็นอาจารย์  เพื่อหาปัจจัยสร้างโบสถ์วัดปากน้ำ หาดใหญ่ (โดยที่ หลวงพ่อสด กับ หลวงพ่อเฟื่อง ไม่เคยพบกันมาก่อนเลย  เชื่อกันว่าท่านทั้งสองติดต่อกันทางสมาธิจิต)  หลวงพ่อเฟื่อง อนุญาตให้สร้างได้ โดยกำหนดรูปแบบเป็น  พระพุทธชินราช เนื้อดินเผา  พร้อมกับให้ไปหามวลสารตามที่ต่างๆ   เมื่อกดพิมพ์เป็นองค์พระแล้ว ได้ให้ลูกศิษย์ 2 คนเขียนอักษรตัว “ฟ” หลังองค์พระ  คนหนึ่งใช้ตะปูเขียน คือ พิมพ์ “ฟ” ลึก  อีกคนใช้ก้านไม้ไผ่เขียน คือ พิมพ์ “ฟ” ตื้น  เสร็จแล้วได้นำไปฝากโรงงานโอ่ง ริมถนนเพชรเกษม ต.คอหงส์ ช่วยเผาให้  จากนั้นได้นำไปถวาย หลวงพ่อเฟื่อง ปลุกเสก หลายวัน (บางแห่งว่าปลุกเสกเต็ม 1 พรรษา)  พระรุ่นนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ในทุกด้าน มีประสบการณ์มากมาย  ทุกวันนี้องค์สวยๆ เช่ากันที่หลักหมื่นถึงหลักแสน องค์นี้สภาพสวยสมบูรณ์คมชัดมาก ของ กรุง สงขลา นักอนุรักษ์พระบ้านเกิด 

------------xxx----------------



พระพิมพ์สมเด็จวัดวิเวกฯ ท่านเจ้าคุณนรฯ หลังยันต์นูน ปั๊มหมึก ด้านหน้า
พระพิมพ์สมเด็จวัดวิเวกฯ ท่านเจ้าคุณนรฯ หลังยันต์นูน ปั๊มหมึก ด้านหลัง


            พระผงวัดวิเวกวนาราม  อ.บางน้ำเปรี้ยว  จ.ฉะเชิงเทรา  เป็นพระเครื่องอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับการอธิษฐานจิตจาก ท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์  ถึง 2 ครั้งด้วยกันน่าสะสมมากเนื่องจากเจตนาการสร้างบริสุทธิ์  จัดสร้างโดย  คุณลุงแก้ว    ศิริรัตน์ เพื่อหาเงินจัดสร้างศาลาการเปรียญวัดวิเวกวนาราม  ซึ่งผุพังจนไม่สามารถใช้งานได้  ท่านเจ้าคุณนรฯ อธิษฐานจิตตลอดไตรมาส  ขณะที่ยังเป็น “ผงพระ” ในปี 2511  ต่อมาคุณลุงแก้วได้นำพระที่กดพิมพ์เสร็จแล้ว เข้าพิธีอีกครั้งที่พระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์  เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2513 เป็นพิธีใหญ่  พระผงวัดวิเวกฯ ที่จัดสร้างนี้มีหลายพิมพ์  แม้ว่าความสวยงามขององค์พระจะด้อยไปบ้าง  เนื่องจากการกดพิมพ์พระทำโดยคุณลุงแก้ว โดยการถอดพิมพ์พระต่างๆ จากองค์พระที่ท่านได้สะสมมาก่อน  เป็นการถอดพิมพ์เอง  มิได้จ้างช่างแกะพิมพ์ขึ้นใหม่แต่อย่างไร  แต่ด้วยเจตนาที่ดีในการจัดสร้าง  อีกทั้งผงพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากพระเครื่องที่แตกหัก เช่น ผงพระวัดสามปลื้ม  ผงพระสมเด็จบางขุนพรหมที่แตกหักจากตอนเปิดกรุ  ฯลฯ และได้ผ่านการอธิษฐานจิตโดย ท่านเจ้าคุณนรฯ จึงเป็นเหตุให้ พระผงวัดวิเวกฯ ได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมพระเครื่องท่านเจ้าคุณนรฯ อย่างกว้างขวาง  องค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็น  พระพิมพ์สมเด็จวัดวิเวกฯ หลังยันต์นูน ปั๊มหมึก ของ รศ.นพ.อัฐพร ตระการสง่า โรงพยาบาลศิริราช  นักนิยมสะสมพระสายนี้

-------xxxx-----------




พระปิดตาข้าวตอกแตก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อผงดำ
พระปิดตาข้าวตอกแตก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อผงดำ
พระปิดตาข้าวตอกแตก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อผงดำ


            พระปิดตาข้าวตอกแตก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อผงดำ  เป็นพระปิดตาที่มีความนิยมสูงอีกพิมพ์หนึ่งของวงการ  ขนาดองค์พระเล็กกะทัดรัด  น่าใช้บูชามาก  พระปิดตาพิมพ์นี้มี 3 เนื้อ คือ เนื้อผงดำ, เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อตะกั่ว  เล่ากันว่า  หลวงปู่ได้ปลุกเสกพระชุดนี้จนดิ้นได้ และกระทบกันในบาตร จนมีเสียงดังเหมือน “คั่วข้าวตอก”  อันเป็นที่มาของชื่อ พระปิดตาข้าวตอกแตก  ในยุคปัจจุบันเป็นพระที่หายากมาก ไม่ค่อยพบเห็นพระแท้  เพราะสร้างจำนวนไม่มากนัก องค์นี้เป็นพระของ สถิต มหัทธนไพศาล (สถิต ราชบุรี) ประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จ.ราชบุรี

-------xxx-------


เหรียญทรงดอกจิก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ รุ่นแรก ปี 2473 เนื้อทองแดง


             เหรียญทรงดอกจิก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ รุ่นแรก ปี 2473 เนื้อทองแดง ที่ระลึกในงานหล่อพระพุทธรูป  มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์รูปไข่ สำหรับแจกผู้ชาย  และพิมพ์ทรงดอกจิก (บางคนเรียกว่า พิมพ์พุ่มข้าวบิณฑ์”)  สำหรับแจกผู้หญิง คือ เหรียญในภาพนี้ ถือเป็นเหรียญเก่าที่หายากในปัจจุบัน และค่านิยมสูงถึงหลักล้านต้น...ภาพจาก หนังสือรวมวัตถุมงคล หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี จัดทำโดย ทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์  แจกเป็นรางวัลในงานประกวดพระที่ศรีราชาหลวงพ่ออี๋ พุทธสโร (พระวรเวทมุนี) เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2408 ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่ออายุ 25 ปี ได้บรรพชาอุปสมบท ที่ วัดอ่างศิลานอก (ปัจจุบันยุบรวมเป็นวัดอ่างศิลาวัดเดียว)  ท่านได้ศึกษาธรรมะและเวทมนต์ต่างๆ กับ พระอาจารย์แดง  6 พรรษา ก่อนไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน  ช่วงที่มีชื่อเสียงมาก  ท่านได้ออกธุดงควัตรไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย  เมื่อบังเกิดความกล้าแข็งทางจิต สัมฤทธิ์ในธรรมแล้ว จึงเดินทางกับมาสร้างวัดสัตหีบ  โดยใช้เวลาเพียง 5 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์  ท่านได้ใช้วิชาอาคมอันแก่กล้ามาสร้างและปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่างๆ เพื่อแจกศิษยานุศิษย์  โดยเฉพาะ “ปลัดขิก”  โด่งดังที่สุด จนเป็นที่เลื่องลือในคุณวิเศษถึงทุกวันนี้  เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2489 หลวงพ่ออี๋ นั่งสมาธิตัวตรง มรณภาพ อย่างสงบ  สิริรวมอายุ 82 ปี พรรษา 57