ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 9

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 21637 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์ วันนี้ขอเริ่มจาก พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พิมพ์ทรงครุฑใหญ่พิมพ์ลึก เป็นพิมพ์ที่นิยมสุดของ พิมพ์ทรงครุฑ และเป็นที่ต้องการของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้บริหารองค์กรทั้งหลาย ที่ต้องปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา องค์นี้ฟอร์มล่ำ พิมพ์ทรงลึก คมชัดมาก เนื้อพระเก่าเก็บเดิมๆ แทบไม่ผ่านการสัมผัสมาก่อน มีเสน่ห์ธรรมชาติทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และที่สำคัญคือ รอยอุดผง ตรงขอบบนขององค์พระสภาพเดิมๆ เห็นชัดเจน เป็นพระชนะการประกวดมาแล้วหลายครั้ง เจ้าของคือ วีระภูมิ พละภิญโญ คนหนุ่มนักสะสมพระเครื่องหลากหลายประเภท…จากการค้นคว้าของ มโนมัย อัศวธีระนันท์ พบว่าพระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงครุฑ มีหลายพิมพ์ย่อย อาทิ ครุฑใหญ่พิมพ์ลึก, ครุฑใหญ่พิมพ์ตื้นลึก, ครุฑใหญ่พิมพ์ตื้นธรรมดา, ครุฑใหญ่ตื้น คาบศร, ครุฑผีเสื้อ, ครุฑผีเสื้อบัว 14, ครุฑกลางอุบน, ครุฑกลางอุล่างใหญ่, ครุฑกลางอุล่างเล็ก, ครุฑเล็กปีกโค้ง, ครุฑเล็กปีกตรง, ครุฑเล็กปีกแข็ง, ครุฑเล็กปีกกระพือ, ครุฑเล็กบัวขีด, ครุฑเล็กพิมพ์กว้าง, ครุฑยันต์แถวเดียว, ครุฑโบราณ ฯลฯ


สุดยอดพระเครื่องหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก คือ พระผงรุ่น “ขุดสระ” มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก และพิมพ์สามเหลี่ยม สำหรับแจกแม่ครัว พระรุ่นนี้สร้างขึ้นในช่วงปี 2460-2465 โดยหลวงปู่มีโครงการสร้างอุโบสถ แต่เนื่องจากพื้นที่ของวัดอยู่ในที่ต่ำ เวลาหน้าฝนน้ำจะท่วมบริเวณวัดเสมอ หลวงปู่จึงขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านให้มาขุดดินภายในวัดขึ้นมาแล้วขนไปถมที่บริเวณที่จะสร้างอุโบสถ บริเวณที่ขุดดินขึ้นมานั้นต่อมาได้หลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ในครั้งนั้นหลวงปู่ได้สร้างพระเนื้อผง 3 พิมพ์ดังกล่าว เพื่อแจกตอบแทนน้ำใจของชาวบ้านที่มาช่วยงานวัด ชาวบ้านจึงเรียกพระผงรุ่นนี้ว่า พระผง รุ่น ขุดสระ บางคนเรียกกันสั้นๆ ว่า “ขุดสระใหญ่ ขุดสระเล็ก” คนส่วนหนึ่งเข้าใจไปว่า วัดนี้มี สระน้ำใหญ่ และ สระน้ำเล็ก แต่ความจริงก็คือ พระผงรุ่น “ขุดสระ” พิมพ์ใหญ่–พิมพ์เล็ก ต่างหาก องค์ในภาพนี้เป็น พระผงรุ่น “ขุดสระ” พิมพ์ใหญ่ สวยสมบูรณ์คมชัดมาก สภาพเดิมๆสนนราคาหลักแสนขึ้นไป ภาพด้วยความเอื้อเฟื้อจาก ก้อง กิ่งแก้ว ผู้ชำนาญพระสายนี้


พระปิดตา หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่าพระ ธนบุรี พิมพ์นี้ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก และหนังสือที่เกี่ยวกับพระเครื่อง หลวงปู่โต๊ะ ก็ไม่ค่อยมีใครลงกัน นอกจากเล่มที่จัดทำโดย คุณประสิทธิ์ ปริชาน ฉบับปกสีม่วง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2533) และฉบับปกสีฟ้า (พิมพ์ครั้ง 2 พ.ศ.2537) เท่านั้นที่ลงเรื่อง พระปิดตา พิมพ์นี้ว่า….“วัดพระธาตุสบฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้ขออนุญาต หลวงปู่โต๊ะ สร้างเหรียญรูปเหมือนของหลวงปู่ขึ้น เมื่อปี 2522 จำนวน 20,000 เหรียญ เนื้อทองแดง อย่างเดียว เป็นเหรียญรูปไข่ หลวงปู่ครึ่งองค์ หน้าตรง นอกจากนี้ได้สร้าง พระปิดตา ไม้งิ้วดำแกะ จำนวน 200 องค์ ขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน เพราะแกะทีละองค์ ด้านหลังตอกอักขระขอมตัว “อุ” แต่ไม่ค่อยชัดนัก ให้บูชาองค์ละ 500 บาท วัดพระธาตุสบฝาง ได้นำเหรียญและพระปิดตารุ่นนี้มาขอบารมี หลวงปู่โต๊ะ ปลุกเสก หลวงปู่ก็ได้เมตตาปลุกเสกให้ด้วยความยินดี เพราะทางวัดพระธาตุสบฝาง ต้องการหาปัจจัยเพื่อบูรณะวัดต่อไป”….พระปิดตา ไม้งิ้วดำแกะ องค์ในภาพนี้สูงประมาณ 2.5 ซม. เป็นพระปิดตาที่หายาก เพราะสร้างน้อย และบางคนก็ไม่รู้จักเมื่อพบเห็น เซียนพระสายตรง หลวงปู่โต๊ะ ให้ข้อมูลว่า พระปิดตาพิมพ์นี้ทุกวันนี้เช่าหากันที่ 2-3 หมื่นบาทขึ้นไป แล้วแต่ความสวยงาม


เหรียญรูปเหมือนเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง พิมพ์หน้าใหญ่สร้างเมื่อ พ.ศ.2473 ในยุคของ หลวงปู่นาค เป็นเหรียญที่มีการสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกของ วัดระฆังโฆสิตาราม จำนวนสร้างน้อย จึงมีการหมุนเวียนในวงการพระเครื่องน้อยมาก นานๆ จึงจะพบสักครั้ง ต่อมาทางวัดระฆังและวัดต่างๆ ได้สร้างออกมาอีกหลายรุ่น โดยมีรูปแบบพิมพ์ทรงคล้ายๆ กัน ในภาพนี้เป็นเหรียญของ เซี๊ย วัดหนัง นักพระเครื่องรุ่นใหญ่ สะสมพระเครื่องทุกประเภท แบบซื้อเข้าอย่างเดียว ไม่มีการปล่อยออกแต่อย่างใด


เหรียญเสมา หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม รุ่นแรก พ.ศ.2493 เนื้อทองแดงรมดำ ในตัวเหรียญไม่มีตัวหนังสือชื่อวัดและปีที่สร้างแต่อย่างใด มีแต่ยันต์ด้านหลังเหรียญ และคำว่า “หลวงพอเงิน” ซึ่งไม่ได้ปั๊มติดมากับตัวเหรียญ แต่เป็นตัวตอกภายหลังตรงใต้หูเหรียญ คำว่า “พอ” ที่ถูกคือ “พ่อ” ไม่มีไม้เอก เข้าใจว่าช่างแกะคงลืมทำ “ไม้เอก” ตกไป เมื่อได้นำเหรียญมาให้หลวงพ่อพิจารณา ท่านเห็นคำว่า “หลวงพอเงิน” ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่กลับพอใจเสียอีก เพราะคำว่า “พอ” ตรงกับคำสอนอันเป็นอมตะวาจาของท่านที่ว่า “รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน” ก็เลยปล่อยไว้เหมือนเดิม คือ “หลวงพอเงิน” ทุกวันนี้เป็นเหรียญยอดนิยมของวงการเหรียญหนึ่ง สวยสมบูรณ์คมชัดเช่นที่เห็นนี้เช่าหากันถึงหลักล้านต้น ชนิดที่พอสวยยังเช่าหากันถึงหลักแสนกลางขึ้นไป...เหรียญนี้ออกในงานทำบุญอายุครบ 5 รอบ (60 ปี) ของ หลวงพ่อเงิน (ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.2433 มรณภาพ 13 มกราคม 2513 อายุ 80 ปี พรรษา 60) เหรียญรุ่นนี้มีจำนวนสร้างประมาณ 1,000 เหรียญ มีเนื้อทองแดงรมดำอย่างเดียว