ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 15

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 20717 ครั้ง

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย เนื้อชินเงิน


พระองค์แรกวันนี้ขอเปิดตัวด้วย พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย เนื้อชินเงิน อายุการสร้างประมาณ 600 ปี พุทธลักษณะขององค์พระ ประทับนั่งปางมารวิชัย ด้านหลังเป็นร่องรางเหมือนกับ "ลิ่ม" ที่ใช้ตอกไม้ คนสมัยก่อนจึงเอามาเรียกชื่อพระพิมพ์นี้...ขุดพบครั้งแรกที่ กรุวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นวัดหลวงในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี บริเวณวัดมีเจดีย์องค์ใหญ่ ที่ฐานมีรูปช้างปั้น โดยรอบเจดีย์ จำนวน 36 เชือก จึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดช้างรอบ หรือ วัดช้างล้อม  พุทธศิลป์ของ พระร่วงนั่งหลังลิ่ม ไม่ใช่ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ที่แท้จริง แต่จะออกไปทาง ศิลปะอู่ทองสุวรรณภูมิ มากกว่า เนื่องจากมีไรพระศกและเส้นขอบสบงอย่างเด่นชัด พระเกศเป็นแบบฝาละมีคว่ำ ซึ่งเป็นลักษณะของ ศิลปะแบบอู่ทองสุวรรณภูมิ โดยแท้ นอกจากกรุวัดช้างล้อมแล้ว พระร่วงนั่งหลังลิ่ม ยังขุดพบจากกรุอื่นๆ อีกหลายแห่ง แต่ที่นิยมสุด คือ กรุวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย องค์ในภาพนี้เป็นพระของ พรรค คูวิบูลย์ศิลป์ คนหนุ่มจากนครเชียงใหม่ ผู้ใฝ่ฝันจะเป็น “เซียนพระ” ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน


พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย เนื้อชินเงิน ของพรรค คูวิบูลย์ศิลป์
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย เนื้อชินเงิน ของพรรค คูวิบูลย์ศิลป์

พระโป้ เป็นพระกรุเดียวกับ พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา อายุการสร้างกว่า 400 ปี สมัยอยุธยาเป็นราชธานี คำว่า “โป้” แปลว่า ใหญ่ โต พระโป้ จึงมีขนาดใหญ่กว่าพระเครื่องทั่วๆ ไป แต่มีขนาดเล็กกว่า พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง เล็กน้อย และมีพุทธลักษณะคล้ายๆ กัน นอกจาก กรุวัดบางกระทิง แล้ว พระหลวงพ่อโต และ พระโป้ ยังปรากฏตามวัดเก่าๆ ในอยุธยาอีกหลายแห่ง สมัยก่อนพระทั้ง 2 พิมพ์นี้เช่าหากันถูก แต่ปัจจุบันพระสวยๆ ขึ้นถึงหลักพันปลายจนถึงหลักหมื่นก็มี สำหรับ พระโป้ องค์ในภาพนี้ มีความสวยงามคมชัดทุกมิติ แบบว่าหูตากระพริบ แถมยังเป็น พระเนื้อผ่าน (เนื้อพระหลายสีหายาก) ฐกร บึงสว่าง ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด ซื้อมาหลายหมื่นบาท สูงสุดของพระสายนี้ เพราะแพ้ในความสวยคมชัดของพระองค์นี้


พระโป้ กรุวัดบางกระทิง อยุธยา ของ ฐกร บึงสว่าง
พระโป้ กรุวัดบางกระทิง อยุธยา ของ ฐกร บึงสว่าง
พระโป้ กรุวัดบางกระทิง อยุธยา ของ ฐกร บึงสว่าง
พระโป้ กรุวัดบางกระทิง อยุธยา ของ ฐกร บึงสว่าง

หลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเดียวกับ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี (บางตำนานกล่าวว่า ท่านเป็นอาจารย์ของ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์) การสร้าง พระปิดตา ใช้ผงคลุกรักเหมือนกัน พระปิดตาหลวงปู่จีน มีหลายพิมพ์อาทิ พิมพ์แข้งหมอน, พิมพ์เศียรปลาไหล, พิมพ์เศียรปลาหลด, พิมพ์เศียรมน ฯลฯ ทั้งหมดเป็นพระนั่งขัดสมาธิราบ เศียรโล้น มือปิดหน้า ด้านหลังอูม (อูมมากแบบหลังเต่า และอูมน้อย) องค์นี้เป็น พิมพ์เศียรมน เนื้อผงคลุกรัก เนื้อละเอียดแบบเนื้อกะลา สีน้ำตาลแก่ แห้งและจัดมาก ถือเป็นเนื้อนิยม และเป็นพระแท้ดูง่ายสวยคลาสสิกมาก ของ เฉิน ปากน้ำ ดาวดวงเด่นแห่ง จ.สมุทรปราการ


พระปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา เนื้อผงคลุกรัก พิมพ์เศียรมน ของเฉิน ปากน้ำ
พระปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา เนื้อผงคลุกรัก พิมพ์เศียรมน ของเฉิน ปากน้ำ

หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่งของ จ.สุพรรณบุรี ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.2435 ที่ อ.บางปลาม้า อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2455 ที่วัดมะนาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ได้ศึกษาวิชาอาคมกับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ 1 ปี จึงกลับมาอยู่วัดอู่ทอง อ.บางปลาม้า ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2508 สิริรวมอายุ 73 ปี พรรษา 52 ท่านได้สร้างพระหล่อโบราณ เมื่อ พ.ศ.2473 โดยใช้ทองเหลืองเก่าๆ ที่ได้รับบริจาคจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส นำมาหล่อหลอมผสมกับชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ของท่านเอง จนได้พระเนื้อโลหะผสมที่มีเนื้อหาเข้มข้น มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เลื่องลือกันว่า พระหลวงพ่อโบ้ย แต่ละองค์ล้วนมากด้วยประสบการณ์สุดยอดทุกด้าน โดยเฉพาะอยู่ยงคงกระพันชาตรี รวมทั้งด้านเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีโชคลาภ พระหล่อโบราณหลวงพ่อโบ้ย ส่วนใหญ่เอาแบบพิมพ์มาจากพระกรุพระเก่าและพระเกจิอาจารย์เมืองสุพรรณ อาทิ พระมเหศวร 2 หน้า องค์ในภาพนี้ เป็นพระของ รัก สุพรรณ ผู้ชำนาญพระหลายสาย  


พระหลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว พิมพ์มเหศวร 2 หน้า เนื้อโลหะผสม ของ รัก สุพรรณ
พระปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา เนื้อผงคลุกรัก พิมพ์เศียรมน ของเฉิน ปากน้ำ

พระเกจิอาจารย์ ผู้โด่งดังในสมัยสงครามอินโดจีน อีกท่านหนึ่งของเมืองกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา คือ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ อ.บางบาล ยุคเดียวกับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และ หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน...หลวงพ่อขัน เกิดเมื่อ พ.ศ.2415 เป็นลูกศิษย์ของ หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ และ หลวงพ่ออ่ำ วัดวงฆ้อง...มรณภาพเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2486 สิริรวมอายุได้ 71 ปี พรรษา 51 ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลัง ได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด อาทิ เชือกคาดเอว ที่ทำจากผ้าตราสัง เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ พระหล่อโบราณเนื้อโลหะ พระเนื้อดินเผา เหรียญเสมารุ่นแรก รวมทั้งเป็นอาจารย์สักเสกเลขยันต์ และเสกน้ำมันประสานกระดูก ด้านวัตถุมงคล เหรียญเสมารูปเหมือน รุ่นแรก นั่งเต็มองค์ สร้างปี 2475 เป็นเหรียญปั๊ม หูเชื่อม ข้างกระบอก จำนวนสร้างน้อย เหรียญแท้หายาก ราคาสูง ในภาพนี้ถือเป็นเหรียญสวยสมบูรณ์คมชัดมาก ในอดีตเป็นของ นายเสถียร เสถียรสุต แต่ทุกวันนี้อยู่ในความครอบครองของ เซี๊ย วัดหนัง นักสะสมพระเครื่องยอดนิยมทุกรูปแบบ


เหรียญหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ รุ่นแรก นั่งเต็มองค์ ปี 2475 ของเซี๊ย วัดหนัง
เหรียญหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ รุ่นแรก นั่งเต็มองค์ ปี 2475 ของเซี๊ย วัดหนัง