อมตพระกรุ เมืองเพชรบุรี : ประวัติเมืองเพรชบุรี

25 กรกฎาคม 2559 ยอดผู้ชม 9814 ครั้ง

ประวัติเมืองเพรชบุรี

จากหลักฐานทางโบราณคดี ในจารึกปราสาทพระขรรค์พบที่เมืองพระนครซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งกัมพูชา เมื่อปีพุทธศักราช ๑๗๓๔ มีชื่อเมือง “ศรีชัยวัชรบุรี” ซึ่งนักโบราณคดีบางคนเชื่อว่าน่าจะเป็นเมืองเพชรบุรีนั่นเอง หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองเพชรบุรีซึ่งเชื่อว่า เพชรบุรีเป็นเมืองหนึ่งที่มีความเจริญอยู่ในยุคสุวรรณภูมิ เช่นเดียวกับเมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองตะนาวศรี และมีความรุ่งเรืองสืบต่อกันมาจนถึงสมัยอาณาจักรทวาราวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ ซึ่งบันทึกในจดหมายเหตุจีนที่เรียกอาณาจักรนี้ว่า โต-โลโปตี้ อันประกอบไปด้วย เมืองเพชรบุรี ราชบุรี คูบัว นครปฐม กำแพงแสน พงตึก (บริเวณอำเภอท่ามะกา) ลพบุรี เป็นต้น โดยสันนิฐานว่าศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่นครปฐมหรืออู่ทองเนื่องจากได้มีการขุดพบแหล่งโบราณสถานอยู่มากในบริเวณสองแห่งนี้ จากหลักฐานในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัยก็ได้ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า”เมืองตะวันออกรอดสระหลวงสองแควลุ่มมลายสคาเท่าฝั่งโขงถึงเวียงจันทน์เวียงคำ เป็นที่แล้ว เมืองหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุวรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว” และในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้มีการกล่าวถึงเรื่องราวการสร้างเมืองเพชรบุรี ซึ่งสอดคล้องกับการบันทึกของลาลูแบร์ว่า “พระพนมทะเลมเหสวัสดิทราธิราชเป็นผู้สร้างเมืองเพชรบุรี โดยนำคนจำนวนสามหมื่นสามพันคนช้างพังพลายห้าร้อยเชือกม้าเจ็ดร้อยตัวสร้างพระราชวังนี้ขึ้น และโปรดให้โอรสทรงพระนามว่า พระพนมวังไปสร้างเมืองนครดอนพระโดยพระราชทานคนเจ็ดร้อยคน แขกห้าร้อย ช้างสามร้อยเชือก ม้าสองร้อยตัว เพื่อไปสร้างเมืองพระธาตุ” จากตำนานเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสำคัญมากในยุคสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พระราชทานข้อคิดเห็นว่า “เดิมเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้วเมืองเพชรบุรีมีกษัตริย์ปกครองเช่นเดียวกันกับเมืองนครศรีธรรมราช” แต่จากคำให้การของชาวกรุงเก่า กล่าวว่า พระอินทราชาเป็นผู้สร้างเมืองเพชรบุรีขึ้น และพระเจ้าอยู่ทองพระราชโอรสของพระองค์ก็ได้ครองราชย์สมบัติ และเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเจ้าเมืองศิระธรรมนครต่อมาครั้นเมืองเพชรบุรีเกิดอดอยากข้าวยากหมากแพง มีโรคภัยไข้เจ็บระบาดอยู่ทั่วไป พระเจ้าอู่ทองจึงทรงหาที่ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลหนองโสนแล้วทรงตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์” แล้วทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้ารามาธิบดี สุริยประทุมสุริวงศ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่สังกัดอยู่ในหัวเมืองตะวันตกและเป็นเมืองท่าที่สำคัญ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของเมืองเพชรบุรีอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีนซึ่งเป็นทางผ่านไปมาและติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับอินเดียนอกจากนั้นเพชรบุรียังเป็นเมืองเก่าที่เชื่อมระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองฝ่ายใต้ของไทยเข้าด้วยกัน และยังเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดมาจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเพชรบุรีเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปีรูป ทั้งยังเคยเป็นเมืองท่าและแหล่งชุมชนที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นในสมัยอยุธยา มีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ มากมาย ดังนั้นวัดที่เราเห็นอยู่ในเมืองเพชรบุรีทุกวันนี้จึงเป็นแหล่งรวมงานศิลปกรรมอันล้ำค่าของช่างฝีมือในอดีตที่ได้สร้างสรรค์งานเอาไว้ให้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงลูกหลานในปัจจุบันถึง ๒๑๑ วัด ทั้งนี้ยังมีวัดที่ร้างอีก ๕๙ วัด ทั่วเมืองเพชรบุรี เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปและเทวรูปจึงมีหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี จนมาถึงสมัยอยุธยาส่วนพระเครื่องก็มีอยู่มากเช่นกันที่ถือว่าอยู่ในความนิยมเป็นอย่างมากก็มีอยู่หลายชนิดและหลายยุค อาทิเช่นยุคศรีวิชัย และยุคลพบุรีถือว่านิยมสูง ได้แก่พระเทริดขนนก กรุวัดค้างคาว เทริดขนนกกรุเสมาสามชั้น และพระหูยานสนิมแดง กรุสมอพลือ ดังจะได้อธิบายต่อไป

พระร่วง วัดกลาง นครปฐม

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีผู้พบพระที่บริเวณวัดกลางจังหวัดนครปฐม เป็นพระพิมพ์ ต่างๆ เช่น พิมพ์พระร่วงยืนพระร่วงนั่ง ข้างรัศมีพระแผ่นพิมพ์สมัยทวาราวดี พระแผงศรีวิชัยฯพระที่แตกกรุออกมาคราวนั้น มีทั้งพระเครื่องและพระบูชา มีทั้งเนื้อดิน และเนื้อชิน พระเครื่องที่ถือว่านิยมที่สุด ก็คือพระพิมพ์ร่วงยืนเนื้อตะกั่วสนิมแดง และพระร่วงนั่งข้างรัศมีซึ่งก็เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงเช่นกัน พระทั้งสองพิมพ์นี้แตกกรุออกมาค่อนข้างจะมีน้อย จึงเป็นที่ต้องการของผู้ที่สะสมหรือมีไว้ในครอบครองเป็นอย่างมาก ราคาเช่าหาจึงค่อนข้างจะสูง พระร่วงยืนกรุวัดกลาง เป็นพระพิมพ์ประทานพร ยกพระหัตถ์ขวา ประทับทรวงและทอดพระหัตถ์ซ้ายขนานกับลำองค์ เป็นพระตัดชิดลำองค์ไม่มีปีก มีด้วยกัน ๒ พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก ด้านศิลปะของพระร่วงยืน เป็นพระลพบุรี สร้างล้อทวาราวดีไม่ใช่พระยุคทวาราวดี ส่วนพระร่วงนั่ง พิมพ์ข้างรัศมี เป็นพระนั่งประทับฐานบัวสองชั้นมีปีกขององค์พระเป็นรัศมีอยู่ทั้งสองข้าง เป้นพระศิลปะลพบุรีล้อทวาราวดีเช่นกัน พระพิมพ์นี้นอกจากพบที่กรุวัดกลางแล้ว ยังพบที่วัดพระประโทนบ้างแต่เล็กน้อยและมีพระเนื้อชินเงินขึ้นมาด้วย พระทั้งสองพิมพ์นี้ ยอดเยี่ยมทางแคล้วคลาดคงกระพันชาตรีไม่แพ้พระพิมพ์อื่นๆ ประเภทเดียวกันเลย ส่วนสูงของพระร่วงยืน ประมาณ ๘ ซ.ม. ส่วนสูงของพระร่วงนั่งข้างรัศมี สูงประมาณ ๓.๒ ซ.ม.
ปราสาทขอมที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นสถานที่พบพระพุทธรูป เทวรูป และพระเครื่องสมัยขอมเรืองอำนาจ
พระธาตุจอมเพชร บนพระนครคีรี เมืองเพชรบุรี