พระฤาโขง
พระฤาโขง พบที่เนินดินในบริเวณที่เรียกว่า กู่เหล็ก หรือวัดกู่เหล็กอยู่ห่างจากวัดประตูลี้ไปทางตะวันออกเล็กน้อย ที่พบมีเนื้อดินเผาสีเหลืองและสีเขียว มีขนาดองค์พระเขื่องกว่าพระคงเล็กน้อย พบจำนวนไม่มากนัก ที่เห็นหมุนเวียนอยู่ในวงการขณะนี้ เป็นพระกรุใหม่ที่ขุดพบในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ นี้ พระฤาโขงเป็นพระเครื่องที่มีศิลปะอันโดดเด่นที่สุดในสกุลพระลำพูน มีความนิยมจะเป็นรองเพียงพระรอดเท่านั้น
องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพ็ชรบนอาสนะฐานบัวสองชั้น ปางมารวิชัยอยู่ในซุ้มเรือนแก้วประภามณฑล ซึ่งตกแต่งด้วยลายเส้นคู่หยักเป็นลอนและม้วนเป็นลายกนกก้านขดต่อด้วยเส้นขีดรัศมีด้านบนประทับด้วยใบระกาอีกสองชั้น
พระฤาโขงองค์นี้เป็นแบบเดียวในลำพูนที่ปรากฏผนังซุ้มเรือนแก้วมีลวดลายอลังการเป็นพิเศษ ตามคตินิยมที่ทำใกล้เคียงกับซุ้มโขงที่ปรากฏอยู่รอบธรรมศิลาสถูป ที่พระเจ้าอลองสิทธิ์ธูสร้างขึ้นในกรุงพูกามเมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๙เป็นแบบอย่างศิลปะมอญและพระพุทธศาสนานิกายวาสีในพุกามแผ่มาถึงเมืองหริภุญไชย แต่พุทธลักษณะโดยรวมของพระพิมพ์นี้ยังคงรูปแบบสมัยปาละผ่านศิลปะพุกามในช่วงเวลาที่ศิลปะในหริภุญไชยและพระพุทธศาสนานิกายหินยาน เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในขณะนั้น
พระฤๅโขง วัดกู่เหล็ก ลำพูน