อมตพระกรุ เมืองลำพูน : พระรอด วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน

22 กรกฎาคม 2559 ยอดผู้ชม 113163 ครั้ง
พระรอด พระนามที่ผู้สันทัดรุ่นก่อนเชื่อกันว่า เรียกตามนามพระฤาษีผู้สร้างคือ พระฤาษี "นารทะ" หรือพระฤาษี "นารอด" ส่วนผู้เขียนเข้าใจว่า พระรอดคงเรียกตามนามพุทธรูปศิลา องค์ที่ประดิษฐ์อยู่ในพระวิหาร วัดมหาวันที่ชาวบ้านเรียกว่า "แม่พระรอด" หรือ พระ "รอดหลวง" ในตำนานว่าคือ พระพุทธสิขีปฏิมา ที่พระนางจามเทวี อัญเชิญมาจากกรุงละโว้ พระนามนี้เรียกกันมาก่อนที่จะพบพระรอด พระพุทธรูปองค์นี้ ที่พื้นผนังมีกลุ่มโพธิ์ใบคล้ายรัศมี ปรากฏด้านข้างทั้งสองด้าน

การขุดพบกรุพระรอดในวัดมหาวัน

พระรอดมีการขุดพบครั้งแรกราวต้นรัชกาลที่ ๕ แต่ที่สืบทราบมาได้จากการบันทึกไว้ ของท่านอธิการทา เจ้าอาวาสวัดพระคงฤาษีในขณะนั้น และอาจารย์บุญธรรม วัดพระธาตุหริภุญไชย ว่าในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระเจดีย์วัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงบางส่วน ในสมัยเจ้าหลวงเหมพินทุไพจิตร ทางวัดได้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ ในครั้งนั้นได้พบพระรอดภายในกรุเจดีย์มากที่สุด พระรอดมีลักษณะของผนังใบโพธิ์คล้ายพระศิลาในพระวิหารวัดมหาวัน ผู้พบพระรอดในครั้งนั้นคงเรียกตามนามพระรอดหลวง แต่นั้นมาก็ได้ นำพระรอดส่วนหนึ่งที่พบในครั้งนี้ นำเข้าบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ตามเดิมอีกประมาณหนึ่งบาตร พระรอดที่ขุดพบในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ในครั้งนั้นฐานพระเจดีย์ใหญ่วัดมหาวันชำรุด ทางวัดได้รื้อออกเสียและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ได้พบพระรอดที่บรรจุไว้ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้นำออกมาทั้งหมด และนำออกแจกจ่ายแก้ข้าราชการและผู้ร่วมงานในขณะนั้น เป็นการพบพระรอดจำนวนมาก พระรอดกรุนี้ถือเป็นพระกรุเก่าและตกทอดจนบัดนี้ และทางวัดมหาวันได้จัดพิธีสร้างพระรอดรุ่นใหม่บรรจุไว้แทน เข้าใจว่าคงเป็นรุ่นที่พระครูบากองแก้วเป็นผู้สร้างไว้เพราะมีบางส่วนนำออกแจกให้ประชาชนในขณะนั้น เรียกว่า พระรอด ครูบากองแก้ว จากนั้นช่วงเวลาผ่านมาจนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้ขุดพบพระรอดด้านหน้าวัด และใต้ถุนกุฏิพระ ได้พบพระรอดจำนวนเกือบ ๓๐๐ องค์ มีทุกพิมพ์ทรง กรุนี้ถือว่าเป็นพระรอดกรุใหม่ ที่หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบันนี้ถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางวัดมหาวันได้รื้อฟื้นพระอุโบสถ เพื่อปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้พบพระรอดครั้งสุดท้ายที่มีจำนวน มากถึง ๓๐๐ องค์เศษ ในครั้งนี้ข้าพเจ้าก็ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้นด้วย พระรอดรุ่นนั้มีผู้นำมาให้เช่าในกรุงเทพฯจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะคมชัดและงดงามมากเป็นพระรอดกรุใหม่รุ่นที่สอง หลังจากนั้นต่อมาก็มีผู้ขุดหาพระรอดในบริเวณลานวัดแทบทุกซอกทุกมุมทั่วพื้นที่ในวัด นานๆถึงจะได้พระรอดขึ้นมาองค์หนึ่ง เป็นเวลาผ่ามาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งทางวัดได้ระงับการขุดพระรอด นอกจากพระรอดแล้ว วัดมหาวันยังขุดพบพระเครื่องสกุลลำพูนเกือบทุกพิมพ์ ที่พิเศษคือ ได้พบพระแผ่นดุนทองคำ เงิน แบบเทริดขนนกมากที่สุดในลำพูนด้วย

การพิจารณาทางศิลปะและพิมพ์ทรง

พระรอดได้ขุดพบที่วัดมหาวันเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เนื้อดินเผาละเอียดหนึกนุ่มมาก องค์พระประทับนั่งขัดเพ็ชร ปางมารวิชัย ประกอบด้วยพื้นผนังใบโพธิ์ทั้งสองด้าน มีศิลปะโดยรวมแบบทวาราวดี-ศรีวิชัย เป็นรูปแบบเฉพาะของสกุลช่างสมัยหริภุญไชยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แบ่งลักษณะแบบได้ ๕ พิมพ์ทรง คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ พิมพ์ตื้นนั้น มีลักษณะจุดตำหนิโดยรวมที่เป็นสัญลักษณ์ปรากฏทุกพิมพ์ ในพิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก เริ่มจากด้านบนของทั้งสามพิมพ์มีจุดโพธิ์ติ่ง ทั้งสามพิมพ์นี้มี ๓ ใบ ปรากฏที่เหนือปลายเกศ และด้านข้างพระเศียร ๒ ใบ กลุ่มใบโพธิ์แถวนอกจะใหญ่กว่าแถวใน และโพธิ์คู่ทั้ง ๓ พิมพ์นี้มีระดับสูงเกือบเสมอกัน เส้นรอยพิมพ์แตกมีเฉพาะพิมพ์ใหญ่เท่านั้น มีรูปคล้ายตัวหนอนปรากฏเส้นข้างพระกรรณ ด้านซ้ายขององค์พระเหนือเข่าด้านซ้ายองค์พระมีเส้นน้ำตกเป็นเส้นนูนเล็กมากวาดจากได้ข้อศอกพระรอดใต้ฐานชั้นบนเฉพาะพิมพ์ใหญ่มีฐาน ๔ ชั้น พิมพ์กลาง เล็ก ต้อ ตื้น มีฐาน ๓ ชั้น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์ตื้นมีเนื้อดินยื่นจากใต้ฐานล่างที่สุดเรียกว่า ฐาน ๒ ชั้น พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อไม่มี กลุ่มโพธิ์แถวนอกของทุกพิมพ์จะคล้ายๆกันเพราะทำมาจากช่างคนเดียวกัน นอกจากนั้นพิมพ์ต้อกับพิมพ์ตื้นกลับไม่ค่อยมีใบโพธิ์ ในพิมพ์ตื้นมีพื้นผนังโพธิ์แถวใน ใบโพธิ์ติดชิดกับองค์พระแล้วลาดเอียงลงมาที่กลุ่มใบโพธิ์แถวนอก ตรงแสกหน้ามีรอยพิมพ์แตกเป็นจุดสังเกต ในพิมพ์ต้อไม่ปรากฏโพธิ์แก้วในพื้นผิวติดองค์พระสูงลาดเอียงลงมาที่กลุ่มโพธิ์แถวนอก เฉพาะตรงปลายเส้นชี้นูนสูงที่สุดเป็นจุดสำคัญ นอกจากนี้ประการสำคัญที่สุดของพระรอดที่ของปลอมจะทำเลียนแบบได้ยากคือ การจำรูปแบบพิมพ์ทรงและความเก่าของเนื้อ เฉพาะพิมพ์ใหญ่จะปรากฏพระโอษฐ์ (ปาก) เม้มจู๋คล้ายปากปลากัด มีรอยหยักพับที่ริมฝีปากบนชัดเจนมากเป็นจุดลับที่ควรสังเกตไว้และที่กลุ่มโพธิ์แถวนอกของพิมพ์ใหญ่ด้านซ้ายขององค์พระมีระดับลาดเอียงเห็นได้ชัดมาก เป็นจุดสังเกตที่ของปลอมจะทำได้ยก นอกจากข้อเขียนนี้ทำได้เพียงแนะแนวทางที่ถูกต้องเท่านั้น ผู้ศึกษาควรสอบถามท่านผู้รู้ในวงการนี้ โดยแท้จริงแล้วสมควรศึกษาจากพระรอดองค์จริงให้มากที่สุดจึงจะเกิดผล

พระรอดพิมพ์ใหญ่ วัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์กลาง กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์กลาง กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์เล็ก กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์เล็ก กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์ตื้น กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์ตื้น กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์ต้อ กรุวัดมหาวันลำพูน

พระรอดพิมพ์ต้อ กรุวัดมหาวันลำพูน