พระอู่ทอง พิมพ์ฐานบัวสองชั้น กรุทุ่งยั้ง

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 8475 ครั้ง

ประวัติเมืองอุตรดิตถ์

อุตรดิตถ์ หรือเมืองลับแล หรือเมืองพิชัย อาณาเขตทิศเหนือติดต่อจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทิศใต้ติดต่อจังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออกติดต่อจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเลย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศตะวันตกติดต่อจังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ภูมิประเทศทางเหนือ และตะวันตกเป็นเทือกเขาสูง มีป่าทึบ แล้วค่อยๆลาดมาเป็นที่ราบทางตอนใต้ จังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ ๔๙๐ กิโลเมตร อุตรดิตถ์เป็นเมืองเก่า เดิมเรียกว่า บกโพท่าอิฐ อยู่ในเขตเมืองพิชัย มีเมืองเก่าๆหลายๆเมืองมารวมกัน เช่นเมืองทุ่งยั้ง เมืองพิชัย เมืองฝาง และเมืองลับแล รวมกันเป็นเมืองอุตรดิตถ์ ในพ.ศ. ๒๓๑๔ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า "พระยาพิชัย" ได้เข้าสู้รบกับพม่าจนดาบหักจนเมืองพิชัยมีชื่อ เพราะเจ้าพระยาพิชัยนั่นเอง ต่อมาในรัชกาลสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บกโพท่าอิฐ เป็นทำเลการค้าที่รุ่งเรือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งเป็นเมืองอุตรดิตถ์ ขึ้นกับเมืองพิชัย ต่อมาราษฎรได้อพยพจากเมืองพิชัยมาค้าขายที่เมืองอุตรดิตถ์มากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ให้ดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก ทั้งให้รวมเมืองพิจิตร และเมืองอุตรดิตถ์ มาขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก เมื่อราษฎร ย้ายจากเมืองพิชัยไปมาก รัชกาลที่ ๕ จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายที่ว่าการเมืองพิชัยมาอยู่ที่บกโพท่าอิฐ ริมแม่น้ำน่าน และให้เรียกว่าเมืองพิชัยต่อมาเมืองพิชัยเดิมถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอ และขนานนามเมืองพิชัยใหม่ว่า "อุตรดิตถ์" จนถึงทุกวันนี้ ตำนานเมืองอุตรดิตถ์นั้น เป็นตำนานแห่งความลี้ลับของดินแดนที่มีชื่อ เมือง "ลับแล" เล่ากันว่าเมื่อครั้งโบราณกาล หนุ่มจากเมือง "ทุ่งยั้ง" หลัดหลงไปในเมือง "ลับแล" ดินแดนที่ต้องยึดมั่นในสัจจะ และความซื่อสัตย์ เขาเกิดรักใคร่กับหญิงคนหนึ่ง จนมีลูกด้วยกันในเมืองลับแลนั้น ต่อมาทำผิดกฏพูดเท็จจึงถูกไล่ออกจากเมือง ภรรยาให้ขมิ้นมาย่ามใหญ่ แตะระหว่างทางหนุ่มทุ่งยั้งเอาไปทั้งเกือบหมดเพราะหนัก หลังออกจากเมืองลับแล จึงรู้ว่าแท้จริงขมิ้นนั้นคือทอง ตำนานดังกล่าวทำให้เมืองลับแลเป็นที่ค้นหาของนักแสวงโชค แม้จะเป็นเรื่องจินตนาการก็ตาม นอกจากนี้ในบทพระราชนิพนธ์ "เรื่องสังข์ทอง" ก็ใช้เมืองอุตรดิตถ์เป็นต้นกำเนิด เมือง "ทุ่งยั้ง" มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยแล้ว เพราะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญมีชื่อเสียง ในการทำสงครามกับพม่า จนได้ชื่อว่า "ทุ่งยั้ง" คือยั้งหยุดพม่าได้นั่นเอง และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไทยกับเงี้ยงทำศึกกันที่เมืองแพร่ แล้วถอยมาตั้งหลักที่เขาเพลิง ชาวอุตรดิตถ์ได้รวมตัวกันออกปราบเงี้ยว จนได้รับชัยชนะ ก็ลือกันว่าเพราะชาวอุตรดิตถ์ได้พระท่ามะปราง พิษณุโลกไปแขวนคอจึงชนะ พระนั้นเลยได้ชื่อว่า "พระเงี้ยวทิ้งปืน" โบราณสถานของเมืองอุตรดิตถ์ นั้นก็มีอยู่มากเหมือนกันส่วนใหญ่จะเป็นประติมากรรมในสมัยสุโขทัย และอยุธยา ด้านพระเครื่องนั้นที่น่าสนใจและมีชื่อเสียงก็คือพระอู่ทองทุ่งยั้ง ซึ่งเป็นพระสมัยสุโขทัยยุคปลาย และพระเครื่องพิมพ์ต่างๆของสมัยอยุธยาที่ค้นพบบริเวณเมืองพิชัยเก่า มีพระอยู่พิมพ์หนึ่งของเมืองอุตรดิตถ์ ที่ละม้ายคล้ายกับของเมืองกำแพงเพชร และมีชื่อเสียงมากอีกพิมพ์ก็คือ "พระลีลาเชยคางข้างเม็ด" ซึ่งค้นพบที่ จังหวัดอุตรดิตถ์เช่นกัน
พระอู่ทอง พิมพ์ฐานบัวสองชั้น เนื้อชินเงิน กรุทุ่งยั้ง
พระอู่ทอง พิมพ์ฐานบัวสองชั้น เนื้อชินเงิน กรุทุ่งยั้ง (ด้านหลัง)
พระอู่ทอง พิมพ์ไม่มีฐาน เนื้อชินเงิน กรุทุ่งยั้ง