อมตพระกรุ เมืองนครศรีธรรมราช : ประวัติเมืองนครศรีธรรมราช

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 24269 ครั้ง

ประวัติเมืองนครศรีธรรมราช

บริเวณภาคใต้ตอนบนระหว่างจังหวัดชุมพรลงมาจนถึงนครศรีธรรมราชนั้นกล่าวได้ว่า มีชุมชนโบราณอยู่หลายแห่ง ซึ่งชุมชนเหล่านี้มีความเจริญในทางการค้าขายกับชนชาติทั้งจีน อินเดีย อาหรับ และเปอร์เซีย เป็นต้นทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าบริเวณส่วนนี้มีภูมิประเทศที่เป็นอ่าวเหมาะแก่การเป็นท่าเรือ ซึ่งสามารถนำเรือเข้ามาจอดพักหลบพายุ ที่สำคัญก็คือ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ทั้งอาหารและน้ำจืด ตลอดจนของพื้นเมืองที่หายาก เพราะฉะนั้นดินแดนบริเวณส่วนนี้จึงเป็นเหมือนตลาดกลางที่จะซื้อขายสินค้าต่างๆได้โดยสะดวก จากจดหมายเหตุของจีนในสมัยราชวงศ์ซุ่ง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๒๓) ได้เรียกชื่อลี่โฝซึ่งว่า สันโบไส หรือสันโฝซึ่งแคว้นสันโบไสตั้งอยู่ริมทะเล มีจุดสำคัญทางการค้าขายมากที่สุดหลายจุด และสามารถควบคุมเรือต่างๆที่จะไปมาค้าขายได้ และมีเมืองต่างๆที่ขึ้นอยู่กับแคว้นสันโบไสหลายเมือง ที่สำคัญคือ ต้าหม่าหลิง ปาลินฟง ซินดา ลันบี และหลานวูลิ สำหรับเมืองต้าหม่าหลิงนั้น สันนิฐานว่า น่าจะตรงกับคำสันสกฤตว่าเมืองตามพรลิงค์ อันเป็นชื่อเมืองที่สำคัญในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ชื่อนี้ปรากกอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ จากวัดหัวเวียง อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นชื่อเมืองเดิมของเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งนี้พระราชาแห่งเมืองตามพรลิงค์ที่ปรากฏในศิลาจารึก พ.ศ. ๑๗๗๓ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” จากจดหมายเหตุสมัยราชวงค์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) ได้กล่าวถึงต้าหม่าหลิงโดยเรียกตงหลินด้วยว่าเป็นประเทศราชของอาณาจักร ตูเหอหลง หรือต้อหลอ-เปอตี้ซึ่งหมายถึงทวาราวดีนั่นเอง พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต้าหม่าหลิงหรือตงหลินเป็นเมืองแล้ว และมีความสัมพันธ์กับดินแดนในภาคกลางด้วย ต้าหม่าหลิง ตงหลิง หรือตามพรลิงค์จนมาถึงนครศรีธรรมราชน่าจะเป็นเมืองเดียวกันซึ่งเดิมตัวเมืองตั้งอยู่ที่บ้านเขาวัง อำเภอลานสกาในปัจจุบัน ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้มีชาวอินเดียตอนใต้เดินทางเข้ามาตั้งชุมชนปะปนอยู่กับชนพื้นเมืองที่หาดทรายแก้วและได้นำเอาศิลปะวัฒนธรรมและศาสนาพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ด้วยจนกระทั่งต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และกลายมาเป็นเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีเจ้าผู้ครองนครเมืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมืองนครศรีธรรมราชในรัชกาลของพระเจ้าธรรมโศกราช ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๑๗๗๓ ได้เป็นแคว้นอิสระ มีกษัตริย์ปกครองตนเองมาจนถึงปีพุทธศักราช ๑๘๗๓ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของแคว้นสุโขทัย ในสมัยสุโขทัย เดชานุภาพของกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงโดยเฉพาะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้แผ่เข้ามาถึงเมืองนครศรีธรรมราชมีการติดต่อค้าขายและสืบทอดวัฒนธรรมและศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ซึ่งเผยแพร่มาจากลังกาสู่เมืองนครศรีธรรมราชและสุโขทัย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นอิสระและมีอำนาจเหนือสุโขทัย นครศรีธรรมราชก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาสืบมา และมีหลักฐานเป็นเมืองเจ้าพระยามหานครครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียเมืองแก่พม่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ บ้านเมืองไทยได้แยกกันออกเป็นก๊กเป็นเหล่าถึง๖ก๊กด้วยกัน ในที่นี้มีพระปลัดหนู ผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ตั้งตนเป็นใหญ่เรียกกันว่า ก๊กพระเจ้าพระยานคร เมืองนครศรีธรรมราชนั้น ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระโดยชื่อของเมืองก็บอกอยู่แล้วว่าเมืองอันงามสง่าของพระราชาผู้ทรงธรรม กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ของเมืองนครศรีธรรมราชโบราณทุกพระองค์ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติแห่งพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปเมืองนครศรีธรรมราช นับว่าได้รับอิทธิพลจากอินเดีย พระพุทธรูปและพระพิมพ์ยุคศรีวิชัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พระพุทธสิหิงค์ หนึ่งในสามพระพุทธสิหิงค์ต้นแบบของไทยที่เชื่อว่าอัญเชิญมาจากกรุงลังกา เมื่อ ๘๐๐ ปี สมัยพระเจ้าธรรมาโศกราช เป็นต้น สำหรับพระเครื่องนั้นเมืองนครศรีธรรมราช ก็มีมากพอสมควร แต่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ พระกรุวัดพะนังตราซึ่งเป็นพระสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจในภูมิภาคนี้ อีกกรุหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กันก็คือ พระกรุท่าเรือซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น ดังจะได้อธิบายให้ท่านได้ทราบต่อไป

พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อสมัยก่อนการบูรณะครั้งใหญ่

กำแพงเมืองโบราณ ของเมืองนครศรีธรรมราช หรือเมืองตามพรลิงค์