ประวัติเมืองพิษณุโลก
นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีทั่วไปเชื่อว่าเมืองพิษณุโลกน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือประมาณพุทธศักราช ๑๐๕ ซึ่งเป็นสมัยชนชาติ
“ขอม” เข้ามามีอำนาจปกครองอยู่ในดินแดนภาคเหนือขณะนั้น
แต่บริเวณที่สร้างเมืองในสมัยนั้นจะอยู่ที่วัด “จุฬามณี” ในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากได้ค้นพบเทวสถานและปราสาทหิน ศิลปะแบบขอมเป็นหลักฐานสำคัญ โดยเรียกเมืองนี้ว่า
“เมืองสองแคว” ทั้งนี้เพราะว่าตัวเมืองจะตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่าน ซึ่งไหลผ่านตัวเมืองไปทางทิศตะวันตก กับแม่น้ำแคว ซึ่งไหลผ่านตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก จึงได้เรียกเมืองนี้ว่า
“เมืองสองแคว” ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาเขตสุโขทัยจึงได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทิศตะวันออกถึงสระหลวงสองแคว ลุมบาจาย จนถึงฝั่งโขงเวียงจันทร์ ทิศใต้ถึงบางแพรก ราชบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ทิศตะวันตกถึงเมืองฉอด หงสาวดี และทิศเหนือถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว พ้นฝั่งโขงไปจนถึงสิบสองจุไท
ในปีพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระมหาธรรมราชาลิไทแห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสองแควมาตั้งอยู่แห่งใหม่ คือบริเวณเมืองพิษณุโลกทุกวันนี้
พระมหาธรรมราชาลิไท ได้ทรงสถาปนาเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงในเวลาต่อมา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาไสลือไท ราชโอรสขึ้นไปครองในขณะที่พระมหาธรรมราชาละไท ครองเมืองสองแควอยู่นั้น สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก็ทรงสร้างอาณาจักร “กรุงศรีอยุธยา” ขึ้นทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในปีพุทธศักราช ๑๘๙๓ นับเป็นอาณาจักรใหม่ที่รุ่งเรืองและเข้มแข็งขึ้นทุกขณะจนในที่สุดเมืองพิษณุโลกก็ถูกอำนาจอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเข้าครอบครอง แต่เนื่องจากเมืองพิษณุโลกมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีของแคว้น สุโขทัย ในขณะเดียวกันพระมหาธรรมราชาลิไททรงทราบว่าอาณาจักรล้านนาก็กำลังพยายามขยายอำนาจ และอาณาเขตลงมาสู่แคว้นสุโขทัยเช่นกัน จึงทรงได้ขอเมืองพิษณุโลกคืนจากกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก็ทรงคืนให้และทรงรักษาสัญญาที่ทรงให้ไว้แก่พระมหาธรรมราชาลิไท โดยไม่แตะต้องอาณาเขตกรุงสุโขทัย ตลอดจนสิ้นรัชกาลไป
ครั้นต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงพระกรุณาโปราดเกล้าฯให้พระมหาธรรมราชา ราชบุตรเขยขึ้นครองเมืองพิษณุโลก ทำให้เมืองพิษณุโลกมีศักดิ์ศรีเป็นเมืองลูกหลวงในขณะนั้น
ในปีพุทธศักราช ๒๑๑๑ พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงอภิเษกพระมหาธรรมราชาให้ครองกรุงศรีอยุธยาแทนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ส่งพระธิดาองค์ใหญ่ไปเป็นตัวประกัน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวร (พระโอรส) ได้ประกาศอิสรภาพและทำสงครามยุทธหัตถีมีชัยชนะแก่พม่า เมืองพิษณุโลกจึงได้ฐานะเป็นเมืองเอกทางภาคเหนือขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา
เราทราบดีแล้วเมืองพิษณุโลก เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ขอมมีอำนาจจนไล่มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นประติมากรรมของขลังต่างๆจึงมีหลายสมัยรวมกันไม่ว่า ขอม สุโขทัย อยุธยา ตลอดจนรัตนดกสินทร์ และวัสดุที่ใช้ในการสร้างพระบูชา และพระเครื่องของเมืองพิษณุโลก ก็มีวัสดุแทบทุกอย่างในการสร้างไม่ว่าทองคำ เงิน ดิน ชิน สำริด
เมืองพิษณุโลก จัดว่าเป็นเมืองพระเมืองหนึ่ง พระที่ขึ้นชื่อเสียงของเมืองพิษณุโลก และเรียกไดว่าชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศก็คือ พระพุทธชินราชซึ่งประดิษฐานอยู่ที่
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” หรือประชาชนทั่วๆไปเรียกว่า
“วัดใหญ่” พระหลวงพ่อชินราชนี้เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั้งประเทศทีเดียว
นอกจากนี้พระเครื่องของเมืองพิษณุโลก ก็มีอีกหลายองค์ที่มีชื่อเสียงในด้านพุทธคุณ และความต้องการของผู้ที่นิยมสะสมพระเครื่องเป็นอันมาก เช่น
พระนางพญาของวัดราชบูรณะ หรือวัดนางพญา ซึ่งถูกจัดให้เป็นพระชั้นนำหนึ่งในห้าของประเทศไทย หรือชุดเบญจภาคี ที่มีชื่อเสียงนั้นเอง และจัดให้เป็นพระชั้นนำประเภทเนื้อดิน
ส่วนพระชั้นนำระดับประเทศ ประเภทเนื้อดินชินก็ได้แก่ พระชินราชใบเสมา พระยอดอัฎฐารส พระท่ามะปราง พระชินสีห์ ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงทั้งนั้น ต่อไปผู้เขียนจะได้อธิบายรายละเอียด พระกรุต่างๆที่น่าสนใจของเมืองพิษณุโลกให้ได้รับทราบกันทั่วๆไป