อมตพระกรุ เมืองลพบุรี : พระร่วงยืน หลังลายผ้า

26 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 34996 ครั้ง

พระร่วงยืน หลังลายผ้า

พระร่วงยืนหลังลายผ้า กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระปางยืนประทานพร ศิลปะเขมรยุคบายน แตกรุออกมาครั้งแรกเมื่อประมาณ ๑๑๐ ปีผ่านมาแล้ว คือประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๐ อายุของพระพิมพ์นี้ประมาณ ๘๐๐ ปี เข้าใจว่าขอมสร้างตอนที่เมืองลพบุรีอยู่ภายใต้การปกครองของขอม ซึ่งตอนนั้นเรียกว่าเมืองละโว้ พระร่วงยืนหลังลายผ้าลพบุรีมีอยู่ด้วยกัน ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่เรียกว่า “พิมพ์นิยม” และพิมพ์เล็ก ส่วนพระร่วงพิมพ์อื่นที่แตกกรุขึ้นมาพร้อมกันที่มิใช่พระร่วงหลังลายผ้าก็มี พระร่วงยืนหลังลายผ้า แตกกรุออกมาหลังจาก พ.ศ. ๒๔๓๐ ก็แตกออกมาอีก ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และ พ.ศ. ๒๔๕๘ พบในบริเวณใกล้ ๆ กับที่พบครั้งแรก พระที่พบต่อมานี้มีทั้งเนื้อตะกั่วสนิมแดง และชินเงิน แต่ก็ไม่มากนัก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ก็มีการขุดค้นพบที่บริเวณโรงเรียนช่างกล ซึ่งบริเวณนั้นเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน มีพระร่วงหลังลายผ้าขึ้นมาประมาณ ๒๐๐ องค์ และมีพระพิมพ์อื่น ๆ ขึ้นมาอีกหลายพิมพ์ พระร่วงหลังลายผ้าที่พบที่กรุช่างกลนั้นเป็นพระพิมพ์เดียวกับของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุทุกประการ จะผิดกันที่สนิมขององค์พระจะแดงเข้มกว่า และขนดบางกว่าของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เข้าใจว่าจะเป็นพระสร้างพร้อมกัน แต่แยกกันบรรจุคนละที่ พระร่วงหลังลายผ้า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าขอมเป็นผู้สร้าง เพราะฉะนั้นศิลปะขององค์พระจึงอลังการเป็นอย่างมาก และแสดงให้เห็นว่าถ้ามิใช่กษัตริย์ในสมัยนั้นสร้างก็คงจะไม่มีใครสร้างได้ พุทธคุณของพระร่วงหลังลายผ้านั้น จากประสบการณ์ที่ผ่าน ๆ กันมายอดเยี่ยมไปด้วยความคงกระพัน เมตตามหานิยม และโชคลาภ ทุกวันนี้พระร่วงหลังลายผ้าได้ถูกบรรจุในชุดยอดขุนพลที่หายากที่สุด ราคาการเช่าหาถือว่าสูงมากไม่อพ้พระร่วงหลังรางปืนของสวรรคโลกเลยทีเดียว มีผู้สันนิษฐานกันว่าพระร่วงหลังลายผ้าของเมืองลพบุรี กับพระร่วงหลังรางปืนของสวรรคโลก ควรจะสร้างพร้อม ๆ กัน เพราะสกุลเดียวกันทุกอย่าง เพราะฉะนั้นหากท่านผู้ใดมีพระร่วงหลังลายผ้าอยู่ในครอบครองก็เหมือนกับมีพระร่วงหลังรางปืนเช่นเดียวกัน