พระปรุหนัง เนื้อชินเงิน กรุวัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 61418 ครั้ง

พระปรุหนัง เนื้อชินเงิน กรุวัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา

ประติมากรรมของขลัง ที่กำเนิดขึ้นสมัยอยุธยายุคต้น ส่วนใหญ่เป็นพระเครื่องฝีมือช่างอู่ทอง ต่อมาอิทธิพลของศิลปะอื่นๆได้ไหลมารวมอยู่ในกรุงศรีอยุธยาอีกมากมาย ขณะเดียวกันได้เกิดศิลปะอันเป็นของตนเองขึ้นมาด้วย คือ ศิลปะอยุธยาบริสุทธิ์ อาทิ พระขุนแผนเคลือบ, พระขุนแผนใบพุทรา, พระวัดตะไกร,พระซุ้มไข่ปลา และพระเครื่องพิมพ์ปรุหนัง พระเครื่องเหล่านี้ล้วนเป็นพระเครื่องสมัยอยุธยาโดยฝีมือสกุลช่างศิลปะอยุธยาบริสุทธิ์ ทั้งสิ้น กล่าวสำหรับ พระปรุหนังเป็นพระเครื่องประเภทประณีตศิลป์ กำเนิดขึ้นในสมัยอยุธยายุคต้นพุทธศิลป์ละเอียดงดงามอลังการยิ่ง เหนือพระเครื่องเนื้อชินของอยุธยาทั้งหมด ที่มีชื่อว่า พระปรุหนัง เพราะลักษณะของพิมพ์ทรงองค์พระที่ช่างยุคนั้นเทหล่อเนื้อพระแบบบางเพื่อให้องค์พระที่ได้สามารถเจาะโปร่งทะลุแบบมีลวดลายฉลุจนดูคล้ายกับ แผ่นหนังตะลุง หรือคล้ายกับแผ่นหนังใหญ่ที่ใช้เชิดในการแสดงเป็นมหรสพพื้นบ้าน แต่พระบางองค์เทหล่อมีความหนากว่าพระทั่วไปทำให้องค์พระตัน ไม่ทะลุเจาะโปร่งแบบมีลวดลายฉลุได้ พระปรุหนัง จัดเป็นพระเนื้อชินเงินอันดับหนึ่งของเมืองพระนครศรีอยุธยา ขุดพบครั้งแรกที่วัดมหาธาตุ เป็นจำนวนมาก วัดมหาธาตุสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นอยู่ภายในกำแพงเมืองด้านหน้าพระราชวังพระกรุวัดมหาธาตุ มีหลายพิมพ์ เป็นพระเนื้อชินเงินทั้งสิ้น เช่นพระนาคปรก กรุพะงั่ว, พระอู่ทองคางเครา, พระอู่ทองพิมพ์ต่างๆ,พระขุนแผนใบพุทรา, พระซุ้มประภามณฑล รวมทั้ง พระปรุหนังที่มีความงดงามอลังการด้วยการสร้างฉลุ ลวดลายแบบประณีตศิลป์   พระปรุหนังมีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์บัวเบ็ด, พิมพ์บัวก้างปลา, พิมพ์ปรุหนังเดี่ยว,พิมพ์ปรุหนังลีลา ฯลฯ แต่พิมพ์ที่นิยมสุด คือ พิมพ์บัวเบ็ดเพราะมีความสวยงามมาก พุทธลักษณะ พระปรุหนัง พิมพ์บัวเบ็ดองค์พระประนั่งปางมารวิชัย บนฐานสองชั้น บนปลายฐานด้านบนทั้งสองข้างมีโค้งกนกเล็กๆ ประดับอยู่ และในฐานแต่ละชั้นมีลายโค้งงอแบบเบ็ดตกปลาเรียงแถวตามแนวนอน  แถวบนและแถวล่าง รูปเบ็ด จะเรียงโค้งงอสลับตรงข้ามกันจึงเป็นที่มาของชื่อ พิมพ์บัวเบ็ด องค์พระประทับนั่งอยู่ในซุ้มเสมา เหนือซุ้มเสมาประดับลวดลายคล้ายกิ่งไม้รวม 6 กิ่ง ข้างละ 3 กิ่งแต่ละด้านมีกิ่งเล็กที่มีลายใบไม้ 2 กิ่ง และกิ่งใหญ่ 1 กิ่ง ที่ไม่มีลวดลายใบไม้ เอกลักษณ์ของพระปรุหนัง ตรงกลางเป็นรูปพระพุทธเจ้า โดยมีพระสาวกยืนพนมมืออยู่ซ้ายและขวา ที่เศียรพระสาวกทั้ง 2มีลวดลายรอบเศียรโค้งมนขึ้นมาเชื่อมติดกับลวดลายกิ่งไม้ด้านบน พระปรุหนังมีทั้งที่เป็นแบบฉลุทั้งองค์ ครึ่งองค์ และไม่ฉลุเลย (ตันทั้งองค์) เป็นที่น่าสังเกตว่า พระปรุหนังไม่ว่าจะขุดพบจากกรุไหน ล้วนเป็นพระเนื้อชินเงินหรือชินปนตะกั่วเท่านั้นเป็นพระที่สร้างแบบเจาะโปร่งค่อนข้างบางมาก องค์พระส่วนมากจึงหักชำรุดง่าย โดยเฉพาะบริเวณพระศอ จะบางที่สุด พระที่สมบูรณ์จริงๆจึงมีไม่มากนัก พระปรุหนัง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ตัดกรอบสี่เหลี่ยม ฐานกว้างประมาณ 4.5 ซม. สูงประมาณ 5.0 ซม.ด้านหลังแบนเรียบไม่มีลายผ้า หรือลายอื่นใด  องค์พระมีผิวปรอทปกคลุมทั่วทั้งองค์ บางองค์จะปิดทองเดิมมาจากกรุบางองค์จะมีชาดแดงเก่า พุทธคุณ เป็นที่ยอมรับกันว่า ยอดเยี่ยมทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เพราะสมัยก่อนการสร้างพระเครื่องก็เพื่อไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองเหล่าวีรชนนักรบ ราคาเช่าหา พระปรุหนัง สภาพปานกลางหลักหมื่นกลางขึ้นไป ถ้าสวยสมบูรณ์คมชัดเต็มฟอร์ม ไม่หัก และมีชาด ทองเก่า ติดครบสูตรด้วยแล้วราคาจะอยู่ที่หลักแสนกว่า ถึงสองแสนขึ้นไป เพราะพระที่สมบูรณ์มีน้อยองค์มาก (ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก คุณชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ)
พระปรุหนัง พิมพ์บัวเบ็ดเนื้อชินเงิน ของ ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ
พระปรุหนัง พิมพ์บัวเบ็ดเนื้อชินเงิน ของหมอต้น ศิริราช
พระปรุหนัง พิมพ์บัวเบ็ดเนื้อชินเงิน ของหมอต้น ศิริราช