พระพุทธชินราช ใบมะยม กรุวัดอรัญญิก เนื้อชินเงิน จ.พิษณุโลก

26 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 12165 ครั้ง
พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย มีความกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว ความสูง ๗ ศอก เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่า มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทยองค์หนึ่ง ที่มีพุทธศิลป์แตกต่างไปจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยสมัยอื่นๆ คือ มีพระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง และวงพระพักตร์ค่อนข้างกลม ไม่ยาวรีเหมือนพระพุทธรูปยุคศิลปะสุโขทัยทั่วๆ ไป ยิ่งเมื่อเสริมกับซุ้มเรือนแก้ว ที่สลักและลงรักปิดทองประดับเบื้องพระปฤษฎางค์ เสมือนเป็นรัศมีรอบๆ องค์พระ ทำให้มีความโดดเด่น และงดงามยิ่งขึ้น พุทธลักษณะโดดเด่นเหล่านี้ทำให้ พระพุทธชินราช ได้รับการจัดให้เป็น พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดพิเศษ โดยตั้งชื่อหมวดตามชื่อขององค์พระคือ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราช ด้วยความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของ พระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก จึงมีการสร้างพระเครื่องที่จำลองมาจากองค์ พระพุทธชินราช ตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยบรรจุลงกรุไว้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น พระพุทธชินราช ใบเสมา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เนื้อชินเงิน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๕ ของ ชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดนิยม นอกจากนี้ยังมีวัดอื่นๆ ทั้งในเมืองพิษณุโลก และเมืองต่างๆ มีการสร้างพระเครื่องพิมพ์พระพุทธชินราช ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพระเครื่องที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ยุคหลัง ก็มีมากมายเช่นกัน กล่าวสำหรับพระเครื่องพิมพ์หนึ่ง ที่มีอายุการสร้างในยุคที่ใกล้เคียงกัน พระพุทธชินราช ใบเสมา เป็นพระยอดนิยมที่หายาก และสามารถใช้บูชาแทนกันได้ คือ พระพุทธชินราช ใบมะยม กรุวัดอรัญญิก เนื้อชินเงิน จ.พิษณุโลก วัดอรัญญิก สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยยุคปลาย หรือในระยะเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดป่าที่พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานจำพรรษา ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้มีพลังจิตสูง การปลุกเสกพระเครื่องจึงย่อมเข้มขลังเป็นพิเศษ พระเครื่องกรุวัดอรัญญิก แตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ และอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา โดยฝีมือขบวนการลักขุดทั้งสิ้น จนถึง พ.ศ.๒๔๙๖ จึงได้มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ขึ้น ต่อมาหลังจาก พ.ศ.๒๕๐๐ ก็ยังมีการขุดพบพระเครื่องอีกเป็นจำนวนมาก และมีมากกว่า ๒๐ พิมพ์ ที่มีมากที่สุด คือ พระซุ้มเสมาทิศ (พระซุ้มระฆัง) นอกจากนี้ยังได้ขุดพบ พระพุทธชินราช ใบมะยม อีกด้วย พุทธลักษณะ พระพุทธชินราช ใบมะยม เป็นพระเครื่องที่จำลองแบบพิมพ์มาจาก พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก มาไว้ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่วขนาดเล็ก โดยเน้นลักษณะองค์พระเป็นลายเส้นนูนเหมือนภาพลายเส้น พระพิมพ์นี้น่าจะสร้างโดยฝีมือชาวบ้านในสมัยนั้น พุทธศิลป์จึงไม่งดงามอลังการเท่าที่ควร ด้านหลังองค์พระเรียบตรง และมีลายผ้าแบบเล็กละเอียดปรากฏทั่วไป ราคาเช่าหา อยู่ที่หลักหมื่นต้น ถึงหลักหมื่นกลาง ตามสภาพความสวยงามคมชัด ขนาดองค์พระกว้างประมาณ ๑.๖๐ ซม. สูง ๒.๗๐ ซม. พุทธคุณสุดยอดแห่งความเป็นสิริมงคลด้านโชคลาภ การค้าขาย และแคล้วคลาด ปลอดภัยจากสรรพสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างยิ่ง (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจาก คุณชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ)
พระพุทธชินราช ใบมะยม กรุวัดอรัญญิก เนื้อชินเงิน จ.พิษณุโลก องค์พระกว้างประมาณ ๑.๖๐ ซม. สูง ๒.๗๐ ซม.