พระหลวงพ่อทวด”วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์กลาง “ไม่ปั๊มซ้ำ” และ “ปั๊มซ้ำ” ปี 2505

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 45916 ครั้ง

“พระหลวงพ่อทวด”วัดช้างให้ หลังเตารีด
พิมพ์กลาง “ไม่ปั๊มซ้ำ” และ “ปั๊มซ้ำ” ปี 2505

โดย  แล่ม จันท์พิศาโล

     พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ อีกพิมพ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง คือ พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์กลาง ปี 2505 ซึ่งแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ แบบไม่ปั๊มซ้ำ และ แบบปั๊มซ้ำ      กล่าวสำหรับ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลาง มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด คือ ขอบด้านบนจะมน องค์พระมีขนาดปานกลาง โดยเฉพาะ พระพิมพ์กลาง ไม่ปั๊มซ้ำ หาชมองค์จริงได้ยากที่สุด เพราะพระพิมพ์นี้ส่วนหนึ่งที่หล่อออกมาแล้วมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่มีจำนวนน้อย      ส่วน พระพิมพ์กลางปั๊มซ้ำ เกิดขึ้นมาจากพระพิมพ์กลางส่วนใหญ่ที่หล่อออกมาแล้วพิมพ์ติดตื้น ไม่คมชัดสวยงามเท่าที่ควร ทางวัดจึงได้นำไปผ่านกระบวนการ ปั๊มกระแทกซ้ำ อีกครั้ง โดยใช้แม่พิมพ์ที่แกะขึ้นมาใหม่ เพื่อให้องค์พระติดรายละเอียด และมีความคมชัดสวยงามยิ่งขึ้น      ลักษณะของ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลาง ทั้ง 2 รูปแบบ จะเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ พระพิมพ์กลางไม่ปั๊มซ้ำ จะมีเค้าโครงหน้าหลวงพ่อทวดดูเล็ก และเป็นสันเหลี่ยมกว่า เมื่อเทียบกับ พิมพ์ที่ปั๊มซ้ำ แล้ว      อย่างไรก็ดี หากพิจารณา พระพิมพ์กลางที่ไม่ปั๊มซ้ำ อย่างละเอียด จะเห็นได้ชัดเจนว่า แม้ว่าจะคัดองค์ที่มีความสวยงามระดับแชมป์ของวงการ จะพบว่า ยังมีจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นในองค์พระ      กล่าวคือ  1. เส้นหน้าผากที่ไม่ลึกคมชัด   2. เม็ดตาส่วนใหญ่ไม่ปรากฏอย่างชัดเจน (แต่มีบางองค์ที่ติดชัด)   3. ริ้วจีวรบริเวณด้านขวามือองค์พระไม่มี   4. ฐานบัวมีรูปทรงที่ไม่มีลักษณะสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยมคมชัดเหมือนพิมพ์ใหญ่เอ และที่สำคัญ มิติความคมชัดตรงส่วนอื่นๆ ยังด้อยอยู่      ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงต้องนำพระส่วนใหญ่เข้าสู่กระบวนการปั๊มซ้ำอีกครั้งดังกล่าว      จุดต่างที่เห็นได้ชัดระหว่าง พิมพ์ไม่ปั๊มซ้ำ กับ พิมพ์ปั๊มซ้ำ ก็คือ พิมพ์ไม่ปั๊มจะสังเกตเห็นดินเบ้าสีเหลืองนวลกระจายอยู่ตามซอกทั่วทั้งองค์พระ ในขณะที่ พระพิมพ์ปั๊มซ้ำจะมีดินเบ้าปรากฏอยู่ตามซอกเพียงบางจุดเท่านั้น ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่บริเวณซอกคอทั้งสองฝั่ง ใต้หน้าแข้งที่ประสานกัน  บริเวณพื้นที่เหนือมือที่ประสานกัน  และบริเวณซอกแขนขวาขององค์พระ      ทั้งนี้เพราะในการปั๊มกระแทกซ้ำ ทำให้ดินเบ้าตามซอกต่างๆ หลุดหายไป  ขณะที่เค้าโครงใบหน้าหลวงพ่อทวดและช่วงลำตัวดูขยายในแนวกว้างมากขึ้น  สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการปั๊มกระแทกในแนวดิ่งด้วยแรงมหาศาล ทำให้เนื้อโลหะยืดขยายตัวออกด้านข้าง      จะสังเกตเห็นริ้วจีวรเกิดขึ้นนี้ตรงที่บริเวณด้านขวามือองค์พระ จะปรากฏครีบเนื้อปลิ้นยื่นออกมา และเกิดรอยเขยื้อนที่บริเวณต่างๆ ขององค์พระ เช่นที่ขอบผ้าสังฆาฏิและริ้วจีวร แถวบัวใต้หน้าแข้งจนถึงเข่า และพื้นผิวตรงซอกคอที่รองรับศีรษะองค์หลวงพ่อทวด เป็นต้น      สำหรับกระแสเนื้อของ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลาง โดยทั่วไปเป็นเนื้อโลหะผสม เช่นเดียวกับพระหลวงพ่อทวด พิมพ์ใหญ่หลังเตารีด กล่าวคือ เนื้อในลักษณะเนื้อแดงอมเหลือง ส่วนผิวด้านนอกในองค์ที่สภาพเดิมๆ จะออกผิวดำอมน้ำตาล      อย่างไรก็ตาม เท่าที่พบเห็น พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลางปั๊มซ้ำ จะมีขนาดมิติขององค์พระไม่ตายตัว โดยทั่วไปสามารถแบ่ง พระพิมพ์ปั๊มซ้ำ นี้ออกได้เป็น 3 พิมพ์ย่อย ตามลักษณะโครงหน้าขององค์พระ คือ พิมพ์หน้าใหญ่ พิมพ์หน้ากลาง และ พิมพ์หน้าเล็ก      ในวันนี้ จะขอโชว์พร้อมกันทีเดียว 3 องค์ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ไม่ปั๊มซ้ำ กับ พิมพ์ปั๊มซ้ำ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของเนื้อพระและพิมพ์ทรงอย่างครบวงจร สามารถเปรียบเทียบกันได้
พระหลวงปู่ทวด หลังเตารีด พิมพ์กลาง ไม่ปั๊มซ้ำ ของ หนุ่ม อิงค์ไอซ์
พระหลวงปู่ทวด หลังเตารีด พิมพ์กลาง ไม่ปั๊มซ้ำ ของ หนุ่ม อิงค์ไอซ์
     องค์ที่ 1. พิมพ์กลางไม่ปั๊มซ้ำ พระองค์นี้ยังคงความสวยงามและสมบูรณ์แบบดั้งเดิมแทบเต็มร้อย และเป็นหนึ่งในองค์แชมป์ของวงการ สภาพองค์พระมีดินเบ้าและคราบเบ้า เหมือนพระชุดหลังเตารีดพิมพ์ใหญ่ และหลังเตารีดพิมพ์เล็ก ซึ่งเป็นพระหล่อโบราณ พระองค์นี้มีความสวยงามคมชัดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำไปผ่านกระบวนการปั๊มซ้ำอีก พระองค์นี้เป็นพระของ คุณนิพนธ์ อบเชย(หนุ่ม อิงค์ไอซ์)
พระหลวงปู่ทวด หลังเตารีด พิมพ์กลาง ปั๊มซ้ำ (หน้าใหญ่) ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช
พระหลวงปู่ทวด หลังเตารีด พิมพ์กลาง ปั๊มซ้ำ (หน้าใหญ่) ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช
     องค์ที่ 2. พิมพ์กลางปั๊มซ้ำ (หน้าใหญ่) ที่คงเอกลักษณ์ของพิมพ์นี้คือ มีร่องรอยการปั๊มซ้ำ ทำให้เห็นครีบเนื้อยื่นออกมา และรอยเขยื้อนที่บริเวณต่างๆ รวมทั้งมีผิวโลหะที่เต่งตึง อันเนื่องจากการปั๊มกระแทก
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์กลางปั๊มซ้ำ (หน้ากลาง) ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช
พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์กลางปั๊มซ้ำ (หน้ากลาง) ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช
     องค์ที่ 3. พิมพ์กลางปั๊มซ้ำ (หน้ากลาง)องค์นี้มีสภาพสวยสมบูรณ์ครบสูตรเหมือนกับองค์ที่ 2      พระองค์ที่ 2 และ 3 จัดเป็น พระแท้องค์ครู ดูง่ายชนิดไม่ต้องส่องกล้องขยาย เป็นพระของศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต        (ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช และ คุณหนุ่ม อิงค์ไอซ์)