ความเป็นมาของ “พระบูชารัชกาล”

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 25767 ครั้ง
     พระพุทธรูป เริ่มมีการสร้างขึ้นครั้งแรกหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วประมาณ 500 ปี ในแคว้นคันธาราฐ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีป ต่อมาความนิยมบูชาพระพุทธรูปก็แพร่หลายลงมาทางใต้ จนชาวมคธและมณฑลอื่นๆ ต่างพากันสร้างพระพุทธรูปทั่วไป ในประเทศอินเดีย และประเทศใกล้เคียง ซึ่งได้รับลัทธินิยมการสร้างพระพุทธรูปตามกาลสมัย และมีการประยุกต์เปลี่ยนแปลงแบบอย่างพระพุทธรูปตามความคิดของตนเอง จนเกิดเป็นพุทธศิลป์ที่แตกต่างกัน เช่น พระพุทธรูปสมัยทวารวดี (ระหว่าง พ.ศ.1000-1200),  สมัยศรีวิชัย (ระหว่าง พ.ศ.1200-1700), สมัยลพบุรี (ระหว่าง พ.ศ.1500-1800),  สมัยเชียงแสน (ระหว่าง พ.ศ.1600-2089),  สมัยสุโขทัย (ระหว่าง พ.ศ.1800-1893),  สมัยอู่ทอง (ระหว่าง พ.ศ.1700-2000),  สมัยศรีอยุธยา (ระหว่าง พ.ศ.1893-2325)      สำหรับ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ที่มีการขึ้นหุ่นปั้นแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ ตามรูปแบบศิลปะที่คิดค้นขึ้นมาเอง หรืออาจจะดัดแปลงมาจากศิลปะพระพุทธรูปรุ่นเก่าก็ได้ แล้วเททองหล่อเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ เหล่านี้ล้วนเรียกว่า พระบูชารัชกาล ทั้งสิ้น      ทั้งนี้ โดยมีแนวความคิดมาจากการสร้าง พระชัยวัฒน์ ในแต่ละรัชกาล ที่เรียกว่า พระชัยรัชกาลซึ่งนิยมสร้างกันอย่างต่อเนื่องโดยพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง
พระบูชารัชกาล พระพุทธรูปปางสมาธิทรงเครื่องโปรดพญาชมพูบดี ยุครัชกาลที่๑
พระบูชารัชกาล พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ หรือปางป่าเลไลยก์ ยุครัชกาลที่๒
      จากหนังสือ “พระบูชารัชกาล” จัดทำโดยทีมงานนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์” เพื่อแจกเป็นรางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการ ในงานประกวดพระ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม จัดโดย ตำรวจภูธรภาค ๗ ในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2556 ได้ลงเรื่อง ความเป็นมาของ “พระบูชารัชกาล” ว่า .....นอกเหนือจาก พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล แล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์ย่อมๆ อื่นอีกด้วย เช่น พระนิรันตราย และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา     ในพุทธศักราช 2411 พระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้าง พระนิรันตราย จำนวน 18 องค์ หล่อด้วยทองเหลืองกะไหล่ทองคำ มีซุ้มเรือนแก้ว ที่ซุ้มมีคาถา      พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปจำนวนเท่าพระชนมพรรษา      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา 64 องค์ ส่วน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา รวม 58 องค์ เท่าพระชนมพรรษาของพระองค์      นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีรับสั่งให้ช่างชาวต่างประเทศปั้นและหล่อพระพุทธรูปกับพระสงฆ์องค์สำคัญส่งเข้ามาอีกด้วย (อาทิ พระพุทธชินสีห์ พระผอม กรมพระยาปรวเรศฯ และสมเด็จพระวันรัต-แดง)
พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล งาช้างเผือก ยุครัชกาลที่๓
พระบูชารัชกาล พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ฯ ยุครัชกาลที่๖
     ต่อมา ตั้งแต่ รัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน เหล่าขุนนาง ข้าราชการ คหบดี พ่อค้า ผู้มีฐานะดี และมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่างนิยมสร้างพระพุทธรูป รวมทั้งพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ อีกทั้งสร้าง (จำลอง) พระพุทธรูปองค์สำคัญในอดีตขึ้นมา ดังปรากฏให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน...พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเหล่านี้ล้วนเรียกว่า พระบูชารัชกาล      อาจจะกล่าวได้ว่า คำว่า พระบูชารัชกาล เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการ “จำลอง” พระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งคำนี้น่าจะเกิดขึ้นไม่นานนัก ในหมู่นักเลงพระ หรือนักสะสมพระ เป็นศัพท์ตลาดพระนั่นเอง เพื่อความเข้าใจง่าย คำว่า พระขัด พระแต่ง มักนิยมใช้กันหลัง พ.ศ.2411 แต่คำว่า พระบูชารัชกาลอาจหมายถึงพระในวังของทางราชการ หรืออาจหมายถึงเหล่าข้าราชการระดับสูงนิยมสร้างในระหว่าง พ.ศ.2460-2475 ก็เป็นไปได้
พระบูชารัชกาล พระพุทธรูปปางมารวิชัย ยุครัชกาลที่๗
พระบูชารัชกาล พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา(ปางประทานธรรม) ยุครัชกาลที่๙
     สรุปได้ว่า “พระบูชารัชกาล เป็นคำที่นักเล่นพระกำหนดขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง” ซึ่งกำหนดเรียกพระขัด แต่ไม่ทราบวัดที่มาแน่นอน แต่เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลสำคัญๆ หรือพระในราชนิกุล ซึ่งจำลองแบบ หรือเลียนแบบพระพุทธรูปพุทธศิลปะ หรือพระประธานที่มีมาแล้วแต่อดีต หรือคนประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ตามใจผู้สถาปนาและช่าง โดยกำหนดอายุพุทธศิลป์แบบของตน ตามลักษณะมหาปุริษลักษณะ หรือตามความคิดเห็นของช่างและเจ้าภาพ หรือพระภิกษุผู้ให้การแนะนำ      พระบูชารัชกาล หรือ พระรัชกาล จึงเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะโบราณ หรือประดิษฐ์คิดค้นใหม่ มีการผสมโลหะตามวัน เดือน ปีเกิด ของผู้สถาปนา โดยการคำนวณในตำราโหราศาสตร์ ผสมเนื้อโลหะตามน้ำหนักชะตาราศีของผู้ที่จะสถาปนา รวมทั้งบวกผสมกับดวงชะตาบิดา มารดา เรื่องนี้มีผู้เขียนอย่างละเอียดอยู่ใน “ตำนานหล่อพระปรมาสโย ของพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์)” เขียนเป็นจดหมายเหตุ เมื่อ พ.ศ.2460
พระบูชารัชกาล พระพุทธปฏิมาปางลีลา ยุครัชกาลที่๕
พระบูชารัชกาล พระศรีศากยะทศพลญาณ(จำลอง) พระประธานพุทธมณฑล ยุครัชกาลที่๙
(ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจากหนังสือ “พระบูชารัชกาล” จัดทำโดยทีมงานนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์)