พระผงแช่น้ำมนต์ ยุคแรก หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี

28 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 107409 ครั้ง
พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๓๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) ในวัยเด็กได้เข้าเรียนที่วัดเกาะแก้ว อ.บางคณฑี จ.สมุทรสงคราม กับ พระภิกษุแก้ว ต่อมาไม่นานบิดามารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้วได้พาท่านไปฝากไว้กับ พระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี  ขณะนั้นท่านมีอายุ ๑๓ ปีเศษ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร หลังจากบรรพชาได้เพียงวันเดียวพระอธิการสุขได้มรณภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข จึงได้อุปการะท่านต่อมา เมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดประดู่ฉิมพลี โดยมี พระครูสมณธรรมสมาทาน(แสง) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต(ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์พระครูธรรมวิรัต(เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า อินทสุวัณโณ

หลังจากนั้น ท่านได้ศึกษาปฏิบัติคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมา พระอธิการคำ เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี ได้ลาสิกขา คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี สืบต่อมา เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๕๖

ท่านได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับ พระอาจารย์พรหม, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร, หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี และหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ จนมีความเชี่ยวชาญด้านนี้มากขึ้น และเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ มีกิจนิมนต์ไปนั่งปรกปลุกเสกในพิธีพุทธาภิเษกตามวัดต่างๆ ตลอดเวลา

หลวงปู่โต๊ะ ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากมีกิจนิมนต์มากมาย ไม่มีเวลาพักผ่อน สุขภาพจึงไม่ค่อยแข็งแรง จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๔ ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี พรรษา ๗๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา ๑๐๐ ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นกรณีพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม และได้พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ อีกทั้งได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด หลวงปู่โต๊ะ ได้รับพระราชสมณศักดิ์ครั้งแรกที่ “พระครูสังฆวิชิต” เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ ต่อมา พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูวิริยกิตติ์” และได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นระยะๆ จนถึง พ.ศ.๒๕๑๖ ได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระสังวรวิมลเถร” ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวราภิมณฑ์

หลวงปู่โต๊ะ ได้สร้างและปลุกเสกพระเครื่องของท่านหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ พระปิดตาหลายรุ่นของท่านโด่งดังมาก และที่พิเศษสุด คือ พระผงแช่น้ำมนต์ ยุคแรก ของท่านซึ่งสร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๖๘ มีทั้งหมด ๑๓ พิมพ์หลัก คือ
พระสมเด็จ ๓ ชั้น พิมพ์ขาโต๊ะ, พระสมเด็จพิมพ์ ๗ ชั้น, พระสมเด็จ ๓ ชั้น หูบายศรี (ก้างปลา) พิมพ์ใหญ่ / พิมพ์เล็ก, พระสมเด็จปรกโพธิ์ พิมพ์โพธิ์ ๘ ก้าน / พิมพ์โพธิ์ ๖ ก้าน, พระสมเด็จ พิมพ์แหวกม่าน, พระสมเด็จ พิมพ์ซุ้มประตู, พระสมเด็จพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว (ซุ้มชินราช), พระพิมพ์วัดพลับยืน (วันทาเสมา) พิมพ์ใหญ่ / พิมพ์เล็ก, พระพิมพ์พระคง ลำพูน พิมพ์ใหญ่ / พิมพ์เล็ก, พระพิมพ์หยดแป้ง, พระพิมพ์กลีบบัวใหญ่, พระพิมพ์กลีบบัวเล็ก และ พระพิมพ์บัวเล็บช้าง (กลีบบัวตัด)

พระสมเด็จ ๓ ชั้น พิมพ์ขาโต๊ะ (หน้า - หลัง)

พระสมเด็จปรกโพธิ์ พิมพ์โพธิ์ ๖ ก้าน (หน้า - หลัง)

พระสมเด็จปรกโพธิ์ พิมพ์โพธิ์ ๘ ก้าน (หน้า - หลัง)

พระสมเด็จ ๓ ชั้น หูบายศรี ก้างปลา (หน้า - หลัง)

พระพิมพ์พระคง ลำพูน (หน้า - หลัง)

พระพิมพ์กลีบบัวใหญ่(หน้า - หลัง)

พระพิมพ์หยดแป้ง (หน้า - หลัง)


ปัจจุบัน พระผงแช่น้ำมนต์ ยุคแรก ทั้ง ๑๓ พิมพ์นี้ได้รับความนิยมสูง สนนราคาเช่าหาหลักหมื่นขึ้นไปถึงหลักแสน แต่หาพระแท้ได้ยากยิ่ง เพราะพระแต่ละพิมพ์ล้วนมีประสบการณ์ในทุกด้าน และมีพระปลอม มานานแล้ว ผู้สนใจจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก่อนเช่าบูชาควรปรึกษาผู้รู้ผู้ชำนาญพระสายนี้ก่อน จะปลอดภัยที่สุด
ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจาก คุณกิตติพงษ์ กลิ่นแก้ว (แหลม กลิ่นแก้ว) กรรมการตัดสินพระหลวงปู่โต๊ะ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย