พระกริ่งหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จังหวัดปราจีนบุรี

28 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 44050 ครั้ง



“พระกริ่งหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ออกที่วัดบางหอย จ.นครนายก ปี ๒๔๘๕ ”


หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลังรูปหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี โดยเฉพาะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๘) ท่านเป็นที่พึ่งของทหารหาญและชาวบ้านเป็นอันมาก วัตถุมงคลของท่านได้ช่วยชีวิตคนไทยให้รอดพ้นจากภัยสงครามมาแล้วเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ที่โด่งดังในยุคเดียวกัน

หลวงพ่อจาด เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี พ.ศ.๒๔๓๖ ท่านได้บรรพชาที่วัดบ้านสร้าง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดบางกระเบา ศึกษาพระธรรมและวิชาอาคมต่างๆ จากพระอาจารย์หลายท่านที่มีชื่อเสียง


นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระนักพัฒนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดบางกระเบามาก จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูสิทธิสารคุณ ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี พรรษา ๖๔


สำหรับวัตถุมงคลของท่าน นอกจากเหรียญรูปเหมือนท่านแล้วยังมี พระกริ่ง ออกที่วัดบางหอย พระปิดตา ตะกรุด เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ฯลฯ


กล่าวสำหรับ พระกริ่งหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา รุ่นนี้เททองที่ วัดสุทัศนเทพวราราม โดยท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) เป็นเจ้าพิธี ประกอบพิธีพุทธาภิเษกที่ วัดบางหอย จ.นครนายก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ๙ รูปนั่งปรกปลุกเสก คือ


๑. หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
๒. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
๓. หลวงพ่อคง วัดซำป่างาม จ.ฉะเชิงเทรา
๔. หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
๕. หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
๖. หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง อ.เมือง จ.นนทบุรี
๗. หลวงพ่อเชิด วัดลาดบัวขาว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
๘. หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
๙. หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม

จากนั้น หลวงพ่อจาด ได้นำกลับไปปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้งที่วัดบางกระเบา นับเป็นพระกริ่งที่น่าศรัทธาเลื่อมใส มีคุณค่าสูง อีกรุ่นหนึ่งของวงการ





องค์ในภาพนี้ คือ พระกริ่งพิมพ์กลาง พระพักตร์ชัดเจนมาก ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาจมูกขององค์พระ หล่อออกมาได้สมบูรณ์ คมชัดลึกมาก อีกทั้งคราบเบ้าโลหะตามซอกก็มีครบถ้วน ทำให้ดูเก่าตามอายุ เป็นพระสภาพเดิมๆ แบบหล่อโบราณ ไม่แต่งพิมพ์ ผิวพรายเงินซึ่งเป็นผิวที่วงการนิยมเล่นหากัน และมีค่านิยมสูงกว่าผิววรรณะทองผสมทั่วไป


แต่อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาประกอบกับความสวยงาม ความสมบูรณ์ในองค์พระด้วย เพราะเป็นพระหล่อโบราณ ยิ่งหล่อได้สวยคมงดงามมาก ก็ยิ่งมีค่านิยมสูงตามกันไปตามเหตุผล เป็นพระกริ่งหล่อโบราณยุคเก่าที่มีชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ผสมมากมาย และน่าสนใจสะสม ในราคาที่ยังไม่สูงนัก
ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก “หมอต้น ศิริราช”