พระรอด พิมพ์ใหญ่

18 มีนาคม 2562 ยอดผู้ชม 11527 ครั้ง
ชื่อพระ:
พระรอด
พิมพ์พระ:
พิมพ์ใหญ่
เนื้อพระ:
เนื้อดินเผา
ชื่อวัด:
วัดมหาวัน (วัดมหาวนาราม)
จังหวัด:
ลำพูน
พุทธศักราช:
พุทธศตวรรษ 14

พระรอด วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน

พระรอด เป็นพระเครื่องที่มีอายุนับพันปี นับเป็นหนึงในพระเครื่องที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย พระรอด สร้างโดยพระนางจามเทวี เมื่อครั้งเสด็จจากเมืองละโว้มาเสวยราชย์ ณ กรุงหริภุญไชย (จังหวัดลำพูน) ในพ.ศ. 1223 พระนางได้ทรงสถาปนาพระอารามประจำทวารทั้งสี่ของนครขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระนคร เรียกว่า จตุรพุทธปราการ โดยพระฤาษีทั้งสี่ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล โดยสร้างพระเครื่องของตนขึ้น และบรรจุในกรุของแต่ละวัดใน 4 มุมเมือง เพื่อต่ออายุพระศาสนา และเพิ่มเกณฑ์ชะตาพระนคร วัดมหาวัน (วัดมหาวนาราม) เป็นหนึ่งในพระอารามทั้งสี่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดลำพูน ภายในวัดมหาวันมีพระเจดีย์ใหญ่ ภายในพระเจดีย์ใหญ่ บรรจุ พระรอด ที่พระสุมณนารทะฤาษี เป็นผู้สร้าง พระสุมณนารทะฤาษี เป็นพระคณาจารย์มาจากทิศตะวันตกของพระนคร คือจากชุหบรรพต (ดอยอินทนนท์) สานุมหาพน (มหาวัน) พระรอด มาจาก รอท หรือ นารทะ อันเป็นนามของพระฤาษีนารอท หรือพระนารทะฤาษี ความหมายว่า ความแคล้วคลาดและปลอดภัย พระรอดที่ขุดพบที่วัดมหาวัน พุทธศิลป์อยู่ในยุคกลางของสมัยกรุงหริภุญไชย (จังหวัดลำพูน) ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13-14 หลังสมัยทวาราวดี รูปแบบของพระรอด คือ พระพุทธรูปประทับพระบาทสมาธิเพชร (ท่านั่งขัดเพชร) ซึ่งเป็นแบบอย่างเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดียฝ่ายเหนือ (มหายาน)

พระรอดมีพิมพ์นิยม 5 พิมพ์ ดังนี้

  1. พระรอดพิมพ์ใหญ่
  2. พระรอดพิมพ์กลาง
  3. พระรอดพิมพ์เล็ก
  4. พระรอดพิมพ์ตื้น
  5. พระรอดพิมพ์ต้อ