พระนางพญาเข่าบ่วง กรุสวนแก้วอุทยานน้อย

19 มีนาคม 2562 ยอดผู้ชม 8616 ครั้ง
ชื่อพระ:
พระนางพญาเข่าบ่วง
พิมพ์พระ:
พิมพ์นางพญา
เนื้อพระ:
ดิน
ชื่อวัด:
กรุสวนแก้วอุทธยานน้อย
จังหวัด:
สุโขทัย
พุทธศักราช:
พุทธศตวรรษที่ 19

พระนางพญาเข่าบ่วง กรุสวนแก้วอุทยานน้อย

          สุโขทัย เมืองของพระร่วงซึ่งปรากฏร่องรอยตามหลักฐานที่เป็นจริงอยู่บนผืนแผ่นดินไทยจนได้รับกล่าวขานกันต่อๆ มาว่าเป็น ดินแดนอันแสนศักดิ์ การปกครองเมืองสุโขทัยยุคต้นได้กล่าวถึงเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถม เจ้าเมืองสุโขทัยสิ้นพระชนม์ลง ในเมืองสุโขทัยเกิดการระส่ำระส่าย เนื่องจาก “ขอมสมาสโขลญลำพง” เข้าครองเมืองสุโขทัย จนกระทั่ง พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดผู้เป็นโอรสพ่อขุนศรีนาวนำถม ต้องเชิญชวนพ่อขุนบางกลางหาว ผู้เป็นสหายมาช่วยร่วมรบ ชิงเอาสุโขทัยกลับคืนมา           เมื่อทำการยึดสุโขทัยกลับมาได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองก็ยกเมืองสุโขทัยซึ่งเป็นราชบิดาให้แก่พ่อขุนบางกลางหาว พร้อมกับมอบขรรค์ชัยศรีและนามศรีอินทราทิตย์ เป็นเกียรติยศ นามที่ได้รับมาจากกษัตริย์ของกัมพูชาให้กับพ่อขุนบางกลางหาวอีกด้วย ส่วนตนเองกลับไปครองเมืองราดตามเดิม           ต่อแต่นั้นมา พ่อขุนบางกลางหาว จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ซึ่งถือกันว่า เป็นต้นราชธานีวงค์พระร่วงที่ครองสุโขทัยสืบต่อมา           เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนบาลเมืองโอรสองค์ใหญ่ได้ครองเมืองสืบมา โดยมีพ่อขุนรามคำแหงพระอนุชาคอยช่วยเหลือในการครองเมืองตลอดมา สภาพการณ์ของสุโขทัยในขณะนั้น ยังมีสภาพเป็นนครหรือรัฐเล็กๆ ที่เริ่มก่อสร้างตัวใหม่ๆครั้นถึงต้นพุทธศตวรรษทีสิบเก้า ประวัติศาสตร์สุโขทัยได้กลับรุ่งโรจน์ขึ้นอย่างโดดเด่น เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ขึ้นครองเมืองต่อจากพ่อขุนบาลเมืองผู้เป็นเชษฐา           ในระยะเวลาแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัยตามหลักฐานทางด้านศิลาจารึกระบุว่า อยู่ในระหว่างรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๔๑) ถึงยุคสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ระหว่างสองสมัยนี้เอื้ออำนวยต่อการวิวัฒนาการตามรูปแบบของศิลปกรรมสุโขทัยเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ก็ได้เริ่มแพร่หลายในสุโขทัย มีพระพุทธรูปและวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก ที่ได้สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาดั่งกล่าว ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในสมัยสุโขทัยรุ่งเรืองขึ้นจนถึงขีดสูงสุดในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่๑ (พระเจ้าลิไท) ดังจะเห็นได้จากการเสด็จออกผนวชของพระองค์ที่ วัดป่ามะม่วง ในปี พ.ศ. ๑๙๐๕ พระมหาธรรมราชาลิไททรงเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เป็นแกนนำในการรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้าไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ สามารถสะท้อนภาพออกมาให้เห็นได้อย่างเด่นชัดจากบรรดาโบราณวัตถุโบราณสถานอันเป็นปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน ทางพระพุทธศาสนาที่ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์           โบราณสถานของสุโขทัยที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระเครื่องมากมายกว่า ๒๐ พิมพ์ เช่น พระร่วงซุ้มข้างเม็ดที่มีชื่อเสียง พระร่วงตีนโด่ ฯลฯ วัดสระศรี วัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพระร่วงนั่งหน้าโหนกพระเชตุพนบัวสองชั้น และพระพิมพ์ล้อพิจิตรข้างเม็ด วัดเจดีย์งาม วัดตะพังทอง วัดเจดีย์ห้ายอด วัดมุมลังกา วัดถ้ำหีบที่มีชื่อเสียงของพระลีลาศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ วัดเจดีย์งาม วัดศรีสวาย ฯลฯ

เมืองศรีสัชนาลัย

          ที่รู้จักกันในปัจจุบันตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมฝากที่บริเวณแก่งหลวงในเขตอำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัยในยุคปัจจุบัน ลักษณะของตัวเมืองโบราณมีผังอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวไปตามลำน้ำยม ด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองเป็นเทือกเขาพระศรีที่ทอดตัวยาวมาทางทิศตะวันออกต่อกับเทือกเขาพนมเพลิง ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ทั้งภายในเมืองและนอกเมือง มีโบราณสถานเรียงรายกระจายอยู่โดยอยู่โดยทั่วไป จากเอกสารตามพงศาวดารมีคำเรียกชื่อของเมืองนี้แตกต่างกัน มีหลายชื่อ เช่น เชลียง เฉลียง เชื่องชื่นศรีสัชนาลัย และสวรรคโลก เดิมที่เชื่อกันว่าเป็นชื่อของแต่ละเมือง ซึ่งต่อมาได้มีการศึกษาค้นคว้ามากขึ้นจึงได้สรุปได้ว่า ชื่อเหล่านั้นเป็นเมืองเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกต่างกันไปตามพัฒนาการของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย           ประวัติการก่อสร้างเมืองจะมีความเป็นมาอย่างไรมาปรากฏแน่ชัด แต่มีการกล่าวอยู่ในพงศาวดารเหนือ ถึงตำนานการสร้างเมืองสวรรคโลกไว้ว่า ฤๅษี ๒ ตน คือ พระฤๅษีสัชนาไลย และพระฤๅษีสิทธิมงคล ได้มอบให้บาธรรมราชสร้างเมืองสวรรคโลกขึ้นในพุทธศักราชสามร้อยหก จากการศึกษาค้นคว้าทำให้ได้ข้อยุติในปัจจุบันนี้ว่า สวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัยเป็นเมืองที่มีอยู่ก่อนการตั้ง กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อการพัฒนาเริ่มขึ้น ได้พบหลักฐานว่า เดิมทีเดียวมีชุมนุมเก่าแก่หรือเมืองโบราณขนาดย่อม ชื่อว่า “เชลียง” ตั้งอยู่แถบบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงและวัดเจ้าจันทร์ ทางทิศตะวันออกของเมืองศรีสัชนาลัยในปัจจุบันนี้ เมืองเชลียงที่กล่าวนี้ได้ เป็นชุมชุมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนของลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับการสร้างเมือง หริภุญไชย (ลำพูน) ทีเดียว           สุโขทัยในสมัยช่วงต้นๆ นั้น เมืองสุดโขทัยคงมิได้เป็นศูนย์กลางแต่เพียงแห่งเดียว เมืองศรีสัชนาลัยก็ยังคงมีความสำคัญควบคู่กันไปกับเมืองสุโขทัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะด้านการเมือง การศาสนา และเศรษฐกิจก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัยเดิมนั้นได้เป็นชุมชนที่รกรากมาก่อนสุโขทัยเป็นเวลาช้านาน ดังนั้นจึงมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกของสุโขทัยที่กล่าวถึงชื่อเมืองทั้งสองควบคู่กันไปว่า “ “ศรีสัชนาลัย สุโขทัย” ตลอดระยะเวลาของสมัยของสุโขทัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมา ศรีสัชนาลัย ได้รับสถาปนาเป็นเมืองลูกหลวงอันสำคัญ ที่กษัตริย์สุโขทัยจะให้ราชโอรสหรืออุปราชไปปกครองอยู่เสมอ           เมื่อครั้งรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท อาจถือได้ว่าเป็นยุคทองของแคว้นสุโขทัยก็ว่าได้ บรรดาสิ่งก่อสร้างอันได้แก่ ศาสนสถาน เทวสถาน ทั้งที่อยู่ในเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย เชื่อกันว่าได้รับการก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมในรัชสมัยนี้เป็นส่วนมาก ครั้งสิ้นสุดรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทแล้ว สุโขทัยก็ด้อยกำลังลง บรรดาหัวเมืองของสุโขทัยต่างแยกกันเป็นอิสระ จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั้วหรือ พระเจ้าอู่ทอง พ.ศ. ๑๙๒๑) นับแต่นั้นมาสุโขทัยก็ตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยเด็ดขาด โบราณสถานที่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันที่น่าสนใจ ได้แก่
  1. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) หรือวัดพระบรมธาตุเชลียง ต้นกำเนิดพระเครื่องที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเรียกกันว่า “จักรพรรดิแห่งเนื้อชิน” คือ พระร่วงประทานพรหลังรางปืน หรือบางท่านเรียกว่า “หลังร่องกาบหมาก” อีกพิมพ์หนึ่งคือ พระร่วงทรงเกราะ วัดพระศรีฯเข้าใจว่าแต่เดิมมีลักษณะเป็นปราสาทแบบเขมร ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เช่นเดียวกับวัดพระพายหลวง
  2. วัดเขาพนมเพลิงเป็นวัดซึ่งได้พบพระเครื่องแตกกรุออกมามากมาย เช่น พระศาสดา พระอู่ทองตะกวน พิมพ์ล้อพระพิจิตรข้างเม็ด พระลีลาบัวสองชั้น พระซุ้มฐานบัวขีด หรือที่เรียกว่า “พระกระต่ายแกลบ” พระหน้าตะกวนก็พบที่วัดนี้
  3. วัดช้างล้อม เป็นสถานที่พบพระกรุที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อีกพิมพ์หนึ่ง คือ พระร่วงนั่งหลังลิ่มเป็นพระที่นักสะสมใฝ่ฝันที่จะได้ครอบครอง
  4. วัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นสถานที่พบทั้งพระเครื่องและพระบูชาโดยเฉพาะพระบูชาที่ได้พบศิลปะสุโขทัยหมวดตะกวนเป็นจำนวนมาก
  5. วัดสวนแก้วอุทยานน้อย ได้พบพระร่วงนั่ง ขึ้นมาหลายพิมพ์
  6. วัดนางพญา ก็พบพระเครื่องทั้งเนื้อดิน และเนื้อชิน เช่นกัน
  7. เตาทุเรียง เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือชุดสังคโลกที่ใหญ่ที่สุดของสุโขทัย และเข้าใจว่าเป็นเตาอบพระพิมพ์ต่างๆ ดังได้ปรากฎว่าบริเวณเตาทุเรียง มีการขุดพบพระเครื่องสกุลหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า “พระร่วงกรุเตาทุเรียง” และพิมพ์พระอื่นๆอีกมาก