สมาคมฯชวนชิล : ทัวร์ม่วน ๆ ชวนสักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ริมบึงแก่นนคร

22 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 9763 ครั้ง

รุ่งแสงสุริยา เสียงไก่ขันมาก้องกังวาน สวัสดียามเช้าค่ะ สัปดาห์นี้ “สมาคมฯชวนชิล” โบยบินลัดฟ้ามาตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง มาถึงเมืองดอกคูณเสียงแคนดินแดนผ้าไหม จังหวัดขอนแก่นตะเว็น (พระอาทิตย์) ก็สาดส่องแสงพอดี และด้วยอาณาเขตที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของประเทศไทย จ.ขอนแก่น จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทัวร์ม่วน ๆ ของเราในครั้งนี้ จะชวนท่านผู้อ่านมา “สักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ริมบึงแก่นนคร” บึงขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่กว่า ๖๐๓ ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองขอนแก่น รับรองว่าม่วนอีหลีเด้อค่าเด้อ


1.พระธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง


อธิษฐานขอพร : ด้านความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เมื่อมาถึง “วัดหนองแวง” ถึงกับต้องอ้าปากค้าง อุทานว่า คุณพระ!!! “พระธาตุแก่นนคร” หรือ “พระธาตุเก้าชั้น” นี่สวยจริงๆ ในรูปถ่ายว่าสวยแล้ว ของจริงนั้นสวยยิ่งกว่า ด้วยความกว้างของฐานพระธาตุด้านละ ๕๐ เมตร ความสูงถึง ๘๐ เมตร หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “สูงเทียมฟ้า”


center

ตามประวัติ“วัดหนองแวง” เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองขอนแก่น เดิมชื่อวัดเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ โดยพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี หรือ ท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก สำหรับ“พระธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น”จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และ มหามังคลานุสรณ์ ๒๐๐ ปี เมืองขอนแก่น
บริเวณชั้นที่ ๑เป็นที่ประดิษฐานของ“พระบรมสารีริกธาตุ”ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ ๑๐๐ องค์ บรรจุในโถแก้ว ตั้งอยู่บนบุษบกสูงสวยงามวิจิตร บรรยากาศโดยรอบมีพุทธศาสนิกชนเข้ามาสักการะขอพรเป็นจำนวนมาก บ้างมาถวายทำบุญสังฆทาน บ้างมานั่งสมาธิ หรือมา“ตักบาตร ๑๐๘”คือการตักบาตรโดยใช้เหรียญ นำเหรียญใส่ลงในบาตรด้านหน้าของพระพุทธรูปซึ่งสมมติว่าเป็นตัวแทนพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐๘



สำหรับชั้นที่ ๒ ถึงชั้นที่ ๙ สามารถเดินขึ้นไปชมได้ เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นเมืองชาวอีสาน, หอปริยัติธรรม, หอพระอุปฌาจารย์, หอพระอรหันต์สาวก, หอพระธรรม และ หอพระพุทธ ซึ่งแต่ละชั้นจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นและพุทธประวัติ ขอเชิญชวนจากใจไหน ๆ ไปแล้วขึ้นไปชมให้ครบ ๙ ชั้นนะคะ รับรองว่าพรที่ขอเรื่องความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจะสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอน



2.วัดกลางเมืองเก่า


อธิษฐานขอพร : ด้านความสงบสุข การใช้ชีวิตเดินทางสายกลาง ละทิ้งกิเลสทั้งปวง
“วัดกลางเมืองเก่า” เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง ในอดีตใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่บริหารงานเมือง ถือได้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเมืองขอนแก่น หากถามว่าจุดเด่นของ “วัดกลางเมืองเก่า” คืออะไร ขอตอบว่า “ความสงบ เรียบง่าย”  ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากเหลือเกินในสังคมยุคปัจจุบัน อานิสงส์ที่ได้รับจากการขอพระ ณ ที่นี่ คือ การเตือนสติตนเองให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่หลงมัวเมากับวัตถุและกิเลสทั้งปวง ใช้ชีวิตบนทางสายกลางไม่ละโมบโลภมาก นำผลประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตน



3.ศาลเจ้าพ่อมเหสักข์


อธิษฐานขอพร : ด้านอำนาจบารมี การงานประสบความสำเร็จ 
“เจ้าพ่อมเหสักข์” เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองขอนแก่นมาช้านาน เชื่อกันว่า สามารถขอพรได้ทุกเรื่องทุกประการ ชาวเมืองขอนแก่นนิยมมาขอพรให้ประสบความสำเร็จในการสอบเข้าสถาบันการศึกษา, การสอบเพื่อเข้ารับตำแหน่งราชการรัฐวิสาหกิจ หรือ งานที่ต้องใช้บารมีในการปกครองบริหารผู้คน เมื่อสัมฤทธิ์ผลส่วนใหญ่จะมาแก้บนในวันพุธ ตามความเชื่อว่าองค์เจ้าพ่อที่อยู่บนสรวงสวรรค์จะเสด็จลงมารับของไหว้ ทั้งของคาว ของหวาน ผลไม้ หมากพลู เหล้าขาว โดยผู้นำมาถวายจะรอจนกว่าธูปจะหมดดอกแล้วจึงลาของไหว้กลับไปรับประทานที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล



“ศาลเจ้าพ่อมเหสักข์” ตามประวัติ พระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี หรือท้าวเพียเมืองแพน ได้สร้างศาลเจ้าพ่อมเหสักข์ขึ้น ตั้งเป็นเสาบือบ้าน  ศูนย์กลางของบ้านเมือง ตามความเชื่อของชาวอีสานในฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ที่กล่าวถึง “สมบัติคูนเมือง” ซึ่งเป็นคองของเจ้าเมืองไว้ ๑๔ ข้อ ใน ๑๔ ข้อ นั้นมี “ใจบ้าน” หรือ ศูนย์กลางบ้านเมือง และอีก ๑ ข้อ คือ “เมมเมือง” ซึ่งหมายถึง เทพารักษ์ มเหสักข์ เทวดาผู้ยิ่งใหญ่ปกป้องคุ้มครองเมืองขอนแก่นให้ร่มเย็นเป็นสุข แต่เดิม “ศาลเจ้าพ่อมเหสักข์” เป็นศาลไม้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้มีการสร้างใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก รูปทรงปราสาทขอม ดูทรงพลังงดงามเข้มขลัง


4.วัดธาตุ พระอารามหลวง พระลับ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น


อธิษฐานขอพร : ด้านความแคล้วคลาดปลอดภัย ประสบชัยชนะ
“วัดธาตุ พระอารามหลวง” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นพร้อมกับวัดหนองแวง และ วัดกลางเมืองเก่า โดยพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี หรือ ท้าวเพียเมืองแพน ได้สร้างพระธาตุขึ้นเป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองขอนแก่น และเมื่อมาถึงวัดธาตุ ต้องสักการะ “พระลับ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ พุทธศิลป์จัดอยู่ในศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทร์ สันนิษฐานว่า สร้างโดย พระเจ้าโพธิสาร พระมหาธรรมิกราชาธิราช ณ เมืองหลวงพระบาง ส่วนเหตุที่เรียกว่า “พระลับ” เนื่องจากในอดีตสมัยของท้าวเพียเมืองแพน ได้มีการสร้างอุโมงค์ภายในนำพระพุทธรูปไปซ่อนไว้ในที่ลับที่สุด มีเพียงเจ้าอาวาสเท่านั้นที่รู้ ชาวเมืองจึงเรียกว่า “พระพุทธรูปลับ หรือ พระลับ” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น เชื่อกันว่าหากมากราบสักการะขอพรในด้านความแคล้วคลาดปลอดภัย โชคดีมีชัยชนะ จะสัมฤทธิ์ผล เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างยิ่งของชาวเมืองขอนแก่น



5.อนุสาวรีย์พระศรีบริรักษ์บรมราชภักดี หรือ ท้าวเพียเมืองแพน


อธิษฐานขอพร : การเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จ ปราศจากอุปสรรค
เดินทางออกจากวัดธาตุ พระอารามหลวง ไม่ถึง ๑ นาที ก็ถึง “อนุสาวรีย์พระศรีบริรักษ์บรมราชภักดี หรือ ท้าวเพียเมืองแพน” เดิมนามว่า ท้าวศักดิ์ เจ้าเมืองคนแรก ท่านมีเชื้อสายมาจากขุนนางเชื้อพระวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทร์ และได้อพยพไพร่พลประมาณ ๓๓๐ ครอบครัว จากบ้านชีหล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านบึงบอน (บ้านเมืองเก่า ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น) ท้าวเพียเมืองแพน มีธิดาชื่อ “นางคำแว่น” พระสนมเอกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งต่อมามีบรมราชโองการยกฐานะ “บ้านบึงบอน” ขึ้นเป็น “เมืองขอนแก่น” และตั้งให้ “ท้าวศักดิ์” ซึ่งเป็น “ท้าวเพียเมืองแพน” เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น มีนามว่า “พระศรีบริรักษ์บรมราชภักดี”
แม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปี ชาวเมืองขอนแก่นยังคงมีความเคารพต่อ “พระศรีบริรักษ์บรมราชภักดี” มากในฐานะพ่อเมือง และหากจะริเริ่มทำกิจการงานใด เมื่อมาสักการะขอพรจากท่าน งานนั้นย่อมประสบความสำเร็จ ปราศจากปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ มาแผ้วพาน


center

6.ศาลเจ้าปีงเถ่ากง-มา และ ศาลปู่เย็น


อธิษฐานขอพร : ด้านโชคลาภและการค้าขาย มั่งมีศรีสุข
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวเมืองขอนแก่นจะมากราบไหว้ขอพรในด้านโชคลาภการค้าขายให้มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของ “ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า” จึงเป็นศูนย์รวมใจชาวจีนและชาวไทยในท้องถิ่นไว้อย่างเหนียวแน่น ภายในประดิษฐานองค์เถ่ากง-ม่า, องค์เทพเจ้าไฉ่ซิง (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) และเจ้าแม่ทับทิม 



บริเวณเดียวกันมี “ศาลปู่เย็น” ในอดีตชาวบ้านเรียกกันว่า “ปู่โกรธ” เนื่องจากเวลามีคนสัญจรผ่านไปมาแล้วไม่เคารพยำเกรง จะมีอาการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อว่า “ศาลปู่เย็น” เพื่อแก้เคล็ดให้ท่านใจเย็นลง เป็นที่เคารพของชาวเมืองขอนแก่น เมื่อมาสักการะขอพร ชีวิตก็จะมีแต่ความร่มเย็น มั่งมีศรีสุข



7.เจ้าแม่กวนอิม


อธิษฐานขอพร : ด้านเมตตาบารมี ความเจริญรุ่งเรือง

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของศูนย์รวมใจของชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนในท้องถิ่น เจ้าแม่กวนอิม สร้างในปี พ.ศ.๒๕๔๕ โดยสมาคมปึงเก่ากง-ม่า ขอนแก่น องค์เจ้าแม่กวนอิมสลักด้วยหินสีเหลืองทรายทอง แกนในมาจากภูเขาพระงาม จ.ลพบุรี ประดิษฐานอยู่ในสวนหนานหนิง (สวนมิตรภาพไทย-จีน) ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดวิวพอยด์อีกจุดหนึ่งของบึงแก่นนคร มีทัศนียภาพที่สวยงาม เมื่อได้เข้าไปสักการะขอพรจะรู้สึกร่มเย็ม สัมผัสได้ถึงบารมีที่เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาของพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม ที่ดลบันดาลให้ชีวิตมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง



8.วัดเสาเดียว


อธิษฐานขอพร : ด้านความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว
“วัดเสาเดียว” ตั้งอยู่ริมน้ำบึงแก่นนคร แสดงถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างสองเชื้อชาติ ไทย-เวียดนาม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ร้อยมือพันตา ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงฮานอย เชื่อกันว่าหากได้มาสักการบูชา จะได้อานิสงส์ในเรื่องความมั่นคงของชีวิตและครอบครัว ในด้านสถาปัตยกรรม “วัดเสาเดียว” นั้นได้รับการจำลองแบบมากจากวัดเสาเดียว ในบึงฮวานเจี๋ยม ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม



9.ศาลเจ้าแม่สองนาง


อธิษฐานขอพร : ด้านความรัก คู่ครอง
มาถึงจุดที่ ๙ ขอเอาใจคนโสด พามากราบสักการะ “เจ้าแม่สองนาง” ที่เชื่อกันว่าหากได้ขอพร จะสมหวังในเรื่องความรัก มีคู่ครองที่ดี ตามประวัติ สองนาง เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งเมืองล้านช้าง ผู้พี่มีนามว่า “เจ้านางคำหมื่น” ผู้น้องมีนามว่า “เจ้านางคำแสน ทั้งสองพระองค์มีสิริโฉมที่งดงาม ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต พระราชธิดาทั้งสองจึงได้อพยพผู้คนโดยใช้ช้างเป็นพาหนะเดินทางมาหา พระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น ผู้เป็นน้า เมื่อทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ ชาวเมืองจึงสร้างศาลของพระนางขึ้น แต่เดิมเป็นศาลไม้ ต่อมาได้บูรณะใหม่เป็นศาลปูน ภายในมีรูปปั้นหุ่นพระนางทั้งสอง เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวขอนแก่นมาจวบจนถึงปัจจุบัน



สมาคมฯชวนชิล


ในเรื่องอาหารการกิน เมืองขอนแก่น ก็ได้รับอิทธิพลจากชาวเวียดนามมาไม่น้อย เมนูที่จะนำเสนอในวันนี้ คือ “ไข่กระทะ” ไข่สองใบทอดดาวเป็นตานีสีแดงสวย แนมด้วยกุนเชียงกับหมูยอทอดส่งกลิ่นหอม เสริฟเคียงอีกหนึ่งเมนูด้วย “ขนมปังสอดไส้” ขนมปังเวียดนามทรงรีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป สอดไส้หมูยอกับกุนเชียง อบมาร้อน ๆ กรอบนอกนุ่มใน อร่อยละมุนลิ้นแบบสุด ๆ หรือถ้าอยากทานของร้อน ๆ แนะนำ “ข้าวต้มซี่โครงหมู” เนื้อหมูนุ่ม ๆ ผสมผสานกับน้ำซุปหวานหอม เป็นอะไรที่พิเศษสุด ๆ สมกับเป็นการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่สดใสค่ะ



สุดท้ายทัวร์ม่วน ๆ ชวนสักการะ ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ริมบึงแก่นนคร ผู้เขียนขอฝากธรรมะดี ๆ จากท่าน ว.วชิรเมธี ที่กล่าวว่า 


“ไหว้พระขออะไรดี” ……………
ขออย่าให้โลภ จนหน้ามืด
ขออย่าให้โกรธ จนทำร้ายตัวเอง
ขออย่าให้หลง จนไม่รู้ดีรู้ชั่ว
ขออย่าให้ตาย ในสงครามระหว่างคนไทยด้วยกันเอง