สมาคมฯชวนชิล : 3 วัด 1 วัง เที่ยวเพลินจัง เมืองพิษณุโลก

22 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 7642 ครั้ง

สวัสดีค่ะ ช่วงวันหยุดยาววันเข้าพรรษาที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายท่านคงออกเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อนกันอย่างเบิกบานสำราญใจ “สมาคมฯชวนชิล” ก็ไปมาเหมือนกันค่า ทำงานด้วยได้เที่ยวด้วย ดี๊ดีค่ะคุณ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๑๖-๑๗ ก.ค.๕๙ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดมหกรรมการประกวด การอนุรักษ์ พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ และเครื่องรางของขลัง ณ จ.พิษณุโลก มาเยือนเมืองแห่งประวัติศาสตร์ทั้งที สมาคมฯชวนชิลก็ไม่พลาดที่จะนำสถานที่ท่องเที่ยวดีๆมีสาระ ของกินอร่อยๆ มาฝากท่านผู้อ่านอีกเช่นเคย

"วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร"


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน เป็นศูนย์กลางชุมชนมาตั้งแต่สมัยโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” หรือที่ชาวเมืองพิษณุโลก เรียกว่า พระใหญ่หรือ หลวงพ่อใหญ่พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย



“พระพุทธชินราช”พุทธรูปปางมารวิชัย ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวพิษณุโลก สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัยวัสดุหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ลงรักปิดทอง พระวรกายสมส่วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเรียวเสมอกัน มีพระอุณาโลมที่พระนลาฏ พระโขนงใหญ่ พระเนตรทอดต่ำ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีที่มีบัวคว่ำหงาย มีซุ้มเรือนแก้วแกะสลักไม้ลงรักปิดทองที่มีความประณีตอ่อนช้อยงดงาม ด้านข้างซ้ายขวามีท้าวเวสสุวรรณและท้าวอาฬวกยักษ์คอยพิทักษ์รักษา ด้วยพุทธลักษณะที่งดงาม พระพุทธชินราช จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความสง่างามที่สุดในประเทศไทยผู้ใดได้ไปสักการะกราบขอพรก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้าน



เดินมาตามระเบียงทางเดินรอบพระวิหาร จะเห็นพระพุทธรูปประดิษฐานเรียงอยู่โดยรอบ ส่วนใหญ่สร้างในสมัยสุโขทัยต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ให้มีความสมบูรณ์ ยังมี “พระศรีศาสดา” ประดิษฐานอยู่ในวิหารทางทิศใต้ และ “พระพุทธชินสีห์” ประดิษฐานอยู่ในวิหารทางทิศเหนือ“พระศรีศาสดา” และ “พระพุทธชินสีห์” องค์เดิมที่สร้างพร้อมกับพระพุทธชินราช ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระวิหารมีสภาพชำรุดทรุดโทรมได้อัญเชิญย้ายพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ มาประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชประสงค์ให้หล่อ “พระศรีศาสดา” และ “พระพุทธชินสีห์” องค์จำลองขึ้นมาถวายคืนให้กับทางวัด เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของเหล่าพสกนิกรสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน



ส่วนที่น่าสนใจ คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช” อยู่ภายวิหารพระพุทธชินสีห์เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุล้ำค่า อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายคราม ป้านน้ำชาโบราณ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง และตาลปัตรพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๕ ล้วนเป็นของเก่าที่หาชมได้ยากยิ่ง


หลังพระวิหาร บริเวณใจกลางของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จะเห็น “พระปรางค์” องค์ใหญ่สูงเด่นเป็นสง่า ถือว่าเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญ แต่เดิมพระปรางค์ประธานคงเป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯให้มีการบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ดังนั้นพระเจดีย์ทรงปรางค์ จึงเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้นอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน



ด้านหน้าพระปรางค์ คือ “พระอัฏฐารส” ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง มีความสูง ๑๘ ศอก ดูสวยงามลึกซึ้ง เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นหลักฐานทางประศาสตร์เพียงชิ้นเดียวที่ยังคงเหลือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเก่าแก่ของวัด เมื่อครั้งที่พระอัฏฐารสเกิดการชำรุด ส่วนบนหักลงมา ได้มีการค้นพบพระเครื่องอยู่ด้านใน ซึ่งรวมถึง พระชินราชใบเสมา, พระยอดอัฏฐารส และพระเครื่ององค์สำคัญอีกจำนวนมาก



เมื่อกล่าวถึง “พระชินราชใบเสมา”จักรพรรดิของแห่งพระเครื่องอีกองค์หนึ่งในชุดเบญจภาคีพระเนื้อชิน เป็นพระศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือ “พระมหาธรรมราชาลิไท” พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงสุโขทัย “พระชินราชใบเสมา”แตกกรุออกมาเมื่อประมาณ ปีพ.ศ.๒๔๔๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก ได้มีการทูลเกล้าฯถวาย พระองค์ก็ทรงนำมาแจกจ่ายให้เหล่าข้าราชบริพารและพสกนิกรที่ติดตามอย่างถ้วนหน้า ต่อมาได้มีการค้นพบ “พระชินราชใบเสมา”ที่กรุอื่น คือกรุพระปรางค์ กรุอัฏฐารส กรุเขาสมอแคลง กรุพรหมพิราม และกรุเขาพนมเพลิง แต่ความนิยมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารมากที่สุด “พระชินราชใบเสมา” ที่ค้นพบมีด้วยกันหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่,พิมพ์กลาง,พิมพ์เล็ก มีทั้งฐานสูงและฐานเตี้ย ปัจจุบันจัดเป็นพระหายาก ราคาค่านิยมสูงมากพอสมควร ด้านพุทธคุณ เด่นในทางแคล้วคลาด มีอำนาจบารมี เมตตามหานิยม เชื่อว่าผู้ที่ต้องปกครองดูแลผู้คนควรมีไว้บูชา


center

วัดนางพญา


ใช้เวลาดื่มด่ำกับความสวยงามของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาพอสมควร เดินข้ามถนนมาก็ถึง “วัดนางพญา” วัดเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลกอีกวัดหนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างโดย “พระวิสุทธิกษัตริย์” พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในวัดไม่มีพระอุโบสถ มีแต่วิหารที่ประดิษฐาน “พระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว” เป็นพระประธานศิลปะสมัยสุโขทัย ด้านหลังพระวิหารมี “เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสององค์ใหญ่” ลักษณะสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นโบราณสถานที่สำคัญของวัด



“วัดนางพญา” มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เมื่อได้มีการค้นพบพระเนื้อดิน ทรงสามเหลี่ยม รูปทรงงดงามทุกพิมพ์ โดยเฉพาะบริเวณอกที่นูนเด่นชัด พุทธศิลป์อ่อนช้อยลักษณะคล้ายผู้หญิง ซึ่งผู้สร้างคือ “พระวิสุทธิกษัตริย์” จึงได้เรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระนางพญา” เพชรน้ำงามหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีของประเทศไทยกล่าวกันว่าใครได้ครอบครองบูชา “พระนางพญา” จะมีพุทธคุณยอดเยี่ยมทางด้านเมตตามหานิยมเป็นเลิศ


center

วัดราชบูรณะ


เดินข้ามสะพานลอย มาต่อกันที่อีกหนึ่งวัดที่การค้นพบพระนางพญา นั้นคือ “วัดราชบูรณะ” วัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เดิมก่อนสร้างถนนเคยมีอาณาเขตติดต่อกับวัดนางพญา จุดเด่นของวัดคือ “พระเจดีย์หลวง” ที่เป็นโบราณสถานสำคัญ บรรยากาศโดยรอบค่อนข้างเงียบสงบแตกต่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารและวัดนางพญา“พระอุโบสถ” มีลักษณะพิเศษ คือ ชายคาตกแต่งด้วยนาค3เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม แล้วด้วยความงามของพระประธานและภาพจิตรกรรมฝาผนัง เมื่อเข้าไปในพระอุโบสถ จะรู้สึกเหมือนย้อนเวลาไปสู่ยุคเก่าสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมี“วิหารหลวง” ที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ศิลปะสมัยสุโขทัย เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวพิษณุโลกและพุทธศาสนิกชนที่เดินทางผ่านมา ต้องแวะสักการะขอพรขอโชคลาภล้วนประสิทธิพล บริเวณใกล้เคียงจะเห็น “หอไตรเสากลม” ที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เป็นงานช่างสมัยโบราณที่ทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ โบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญ คือ “เรือพระที่นั่งรับเสด็จล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕” คราวเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก มีความเชื่อว่าหากได้ลอดใต้ท้องเรือพระที่นั่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสำเร็จ เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว



พระราชวังจันทร์


ครบ ๓ วัดตามที่วางแผนไว้ ก็เหลืออีก1วังไม่รอช้าเพราะเกรงว่าฟ้าฝนจะไม่รอใคร โบกรถกระป้อโดยสารหน้าวัดใหญ่ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน ๑๐ นาที “พระราชวังจันทร์” พระราชวังโบราณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเป็นที่ประทับของพระองค์เมื่อทรงดำรงตำแหน่งอุปราช โดยขณะนั้นเมืองพิษณุโลกสองแควมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยา


center

“ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”



เป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมาเยือนพระราชวังจันทร์ ต้องมากราบเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบไม่ได้ บริเวณโดยรอบพระราชวังจันทร์มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง ทั้งวัดวิหารทอง วัดศรีสุคต วัดโพธิ์ทอง และสระสองห้อง แต่สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลกอย่างลึกซึ้ง “สมาคมฯชวนชิล” แนะนำให้เข้าไปที่ “ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทร์” ภายในมีห้องจัดแสดงส่วนต่างๆทั้งในด้านของศิลปกรรม งานช่างหลวง วัดวาอาราม โบราณสถาน โบราณวัตถุ แผนผังเมืองพิษณุโลก ตลอดจนข้อมูลเกี่ยว ราชวงศ์ต่างๆในแต่ละยุคสมัย เดินชมกันเพลินๆ ห้องแอร์ปรับอากาศเย็นสบาย เหมาะกับการพาลูกหลานเยาวชนรุ่นใหม่ไปศึกษาหาความรู้



สมาคมฯชวนชิล


ออกร่อนเร่พเนจรกันตั้งแต่เช้าตรู่ ได้ยินมาว่า จ.พิษณุโลกของกินอร่อยๆเยอะมาก กอไก่ล้านตัว ประเดิมร้านแรกกันที่ “ข้าวมันไก่พังกี่” ข้าวมันไก่สูตรไหหลำโบราณ ตั้งอยู่ ถ.พญาเสือ ทางเข้าวัดอรัญญิก ความพิเศษของร้านนี้ อยู่ที่วิธีหุงข้าวมันที่นุ่มและหอม น้ำจิ้มรสชาติเข้มข้นแบบไทย ไก่ต้มมีให้เลือกสองแบบ ไก่บ้านกับไก่พันธุ์ ให้ความแตกต่างต่างที่ความเหนียวนุ่มแต่ยังความอร่อยทั้งสองแบบ อยากซดซุปร้อนๆแนะนำให้สั่ง “ต้มจืดมะระผักกาดดอง” หรือถ้าอยากลองของเผ็ดๆ “เครื่องในไก่ผัดพริก” กับ “เครื่องในทอดกระเทียม” ก็เข้าท่า เป็นเมนูขึ้นชื่อของทางร้าน



ผ่านไปครึ่งกระเพาะ โหนรถกระป้อกลับมาที่หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เห็นร้าน “ก๋วยเตี๋ยวห้อยขา” เรียงรายอยู่หลายร้าน ทุกร้านอร่อยเหมือนกัน เป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำสูตรโบราณ ใส่ถั่วคั่วบดมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน สมาคมฯชวนชิล ต้องขอชิมสักหน่อยเดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึงเมืองพิษณุโลกจัดไปชามโต ๆ เต็มกระเพาะของผู้หญิงบอบบางๆอย่างเราพอดี



จากการเดินทางครั้งนี้ทำให้เห็นว่า จ.พิษณุโลกยังคงความงดงามทางพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ แหล่งรวมมรดกศิลป์ของแผ่นดินไทยเป็นเมืองน่าเที่ยวอีกเมืองหนึ่ง แอบกระซิบเบาๆว่ามา จ.พิษณุโลกไม่ต้องเตรียมเงินมาเยอะ เตรียมเวลามามากๆก็พอ


ฝากไว้สักนิดก่อนคิดเดินทาง


๑. การเข้าวัด ควรแต่งกายสุภาพและถูกกาลเทศะ
๒. ในพระวิหารพระพุทธชินราช ไม่อนุญาตให้ยืนถ่ายรูป
๓. เที่ยวอย่างมีจิตสำนึก ร่วมกันรักษา ไม่สัมผัสหรือกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
๔. มีรถรางนำเที่ยวเมืองพิษณุโลก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริเวณลานจอดรถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร