สมาคมฯชวนชิล : สัญจรพระนคร เกาะรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 2

22 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 5111 ครั้ง

สืบเนื่องจากทริปที่แล้ว ที่กล่าวว่า เกาะรัตนโกสินทร์ วันเดียวเที่ยวไม่ทั่ว สัปดาห์นี้ สมาคมฯชวนชิล ขออาสาพาสัญจรพระนครอีกครา เริ่มต้นกันที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ (วัดประจำรัชกาลที่ 1) ต่อด้วย วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม(วัดประจำรัชกาลที่4) ข้ามสะพานปีกุน มายังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (วัดประจำรัชกาลที่5 , รัชกาลที่7) ตบท้ายอิ่มท้องด้วยการหาของอร่อยๆทานย่านสามแพร่ง เกริ่นนำกันขนาดนี้แล้ว จะรอช้าอยู่ทำไม ออกเดินทางกันเลยดีกว่าค่ะ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร


เดินจากท่ามหาราชมุ่งหน้ามาทางท่าช้าง เลี้ยวเข้าถนนด้านหลังของพระบรมมหาราชวัง ก็จะพบประตูทางเข้า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร" พระอารามหลวงชั้นเอก ที่มีชื่อเดิมว่า "วัดโพธาราม" หรือที่เรียกกันโดยทั่วๆไปว่า "วัดโพธิ์" ตามประวัติ เป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าให้ปฏิสังข์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม พร้อมโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดร้างตามหัวเมืองต่างๆมาประดิษฐานในพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส" วัดนี้ถือเป็นวัดประจำราชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้ง และโปรดเกล้าให้รวบรวมสรรพวิชาการต่างๆ จารึกลงบนแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามศาลาราย เพื่อเป็นวิทยาทาน ต่อจากนั้น ในสมัยรัชกาลที่4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์บางส่วนและพระราชทานนามใหม่เป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร



สถาปัตยกรรมและสิ่งสำคัญของวัดโพธิ์


1.วิหารพระพุทธไสยาส สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 เพื่อประดิษฐานพระพุทธไสยาสหรือพระนอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ ประดับมุกภาพมงคล 108ประการที่พระบาท เป็นฝีมือของช่างสิบหมู่ ด้วยความยิ่งใหญ่ของพระวิหาร สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญขีดสุดในการสร้างสรรค์งานช่างศิลปสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนอกจากจะได้เข้าไปกราบพระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บันทึกเรื่องราวสรรพวิชารายล้อมรอบตัวพระวิหารตามแบบไทยประเพณี ให้ได้ชมกันอีกด้วย



2.ตำราเวชเชตุพน เมื่อเข้าไปในวัดจะพบเห็นจารึกแผ่นศิลาประดับไว้ตามที่ต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ พระวิหาร ระเบียงคด และศาลาราย โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เหล่าบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ตรวจสอบชำระตำราสรรพวิทยาความรู้ต่างๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เวชศาสตร์ และสุภาษิต แล้วจารึกลงบนแผ่นศิลา เพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทานให้แก่ราษฎรทุกชนชั้นที่ใฝ่รู้สนใจในตำราวิชาการเหล่านี้ ได้ศึกษาค้นคว้าเล่าเรียนอย่างกว้างขวาง จึงมีคำกล่าวว่า วัดพระเชตุพน คือ มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย


3.พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ถัดจากศาลารายที่รวบรวมตำราเวชเชตุพน เมื่อท่านเดินผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้ว ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบและเครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนจัดวางอยู่ข้างประตู ท่านจะพบกับพระเจดีย์องค์ใหญ่ทั้ง 4 องค์ ตั้งตระหง่านตระการตาอยู่ภายใน เป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่1 จนถึง รัชกาลที่4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ละองค์ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีแตกต่างกันทั้ง สีเขียว สีขาว สีเหลือง และ สีน้ำเงินเข้ม พระมหาเจดีย์ทั้งสี่องค์สร้างขึ้นเพื่อทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา ถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามและสำคัญยิ่งของวัดโพธิ์


4.พระมณฑป (หอไตรจัตุรมุข) ทางเชื่อมต่อกับพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล จะพาท่านไปพบกับ พระมณฑป หรือ หอไตรจัตุรมุข ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมจัตุรมุขเครื่องยอดทรงมงกุฎ ประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสี ลวดลายงามวิจิตรประณีตละเอียดอ่อนเกินคำบรรยาย  ภายในมีตู้เก็บพระไตรปิฎก รอบพระมณฑป คือ ศาลาทิศ ที่มีภาพจิตรกรรม กำเนิดรามเกียรติ์และประเพณีรามัญกวนข้าวทิพย์ เป็นต้น ผนังภายนอกมีศิลาจารึกโคลงสุภาษิต เรียกว่า โคลงโลกนิติ ที่ซุ้มประตูทางเข้ามณฑปทั้งสองข้างมี ยักษ์วัดโพธิ์ ที่มีตำนานเล่าว่าไปรบกับยักษ์วัดแจ้งจนเป็นต้นกำเนิดของท่าเตียน

center

5.ยักษ์วัดโพธิ์ ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาก็นาน เห็นหน้าคร่าตาผ่านทั้งจอแก้วจอเงินมาก็หลายหน วันนี้ตั้งใจแน่วแน่จะต้องเจอยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริงๆให้จงได้ ยักษ์วัดโพธิ์ ตั้งอยู่บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป(หอไตรจัตุรมุข) ทำหน้าที่พิทักษ์พระไตรปิฎกที่ประดิษฐานอยู่ภายใน เดิมยักษ์วัดโพธิ์มีอยู่ด้วยกัน 8 ตน แต่ล่ะตนมีใบหน้า สีกายและเครื่องสวมศรีษะต่างกัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่4 ได้โปรดเกล้าให้รื้อซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑปออกไป 2 ซุ้ม จึงเหลือยักษ์เพียง 4 ตนเท่านั้น คือ พญาสัทธาสูรกายสีหงเสน (ชมพู) พญาชร (เขียว) พญาไมยราพณ์ (ม่วง) และพญาแสงอาทิตย์ (แดง)


center


นอกจากสิ่งสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ ยังคงมีสิ่งมหัศจรรย์ให้ท่านได้ค้นหาและค้นพบอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถและรอบๆพระอาราม , พระระเบียง , พระวิหารทิศ , พระวิหารคด ฯลฯ รวมถึง ตุ๊กตาจีน (ตุ๊กตาอับเฉา) และ เขามอ เขาฤาษีดัดตน ที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดโพธิ์แล้วยังคงเสน่ห์ความงดงามครองใจนักท่องเที่ยวทุกคนทุกชนชาติที่ได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน



วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม


จาก ถ.ท้ายวัง เดินต่อมาทาง ถ.สราญรมย์ เข้าประตู วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอกแห่งนี้ รัชกาลที่4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นตามพระราชดำริ 2 ประการ คือ ประการแรกให้เป็น พระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นไปตามพระราชประเพณีโบราณที่ว่าในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด ได้แก่ วัดมหาธาตุฯ , วัดราชบูรณะฯ และ วัดราชประดิษฐ์ฯ ประการที่สอง ให้เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระบรมอัฐิของรัชกาลที่4 ไปบรรจุในพระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ จึงถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4


ภายในวัด พระวิหารหลวง ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นไม้แกะสลักลวดลายวิจิตร เป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธสิงหังคปฏิมากร พระพุทธรูปปางสมาธิที่มีพุทธศิลป์ที่งดงามมาก ภาพจิตรกรรมภายในพระวิหารแห่งนี้มีความวิจิตรแปลกกว่าที่วัดอื่น คือ ผนังระหว่างหน้าต่างเป็น ภาพพระราชพิธี 12 เดือน ส่วนที่ผนังหน้าพระประธานเป็น ภาพสุริยุปราคา มีคนกำลังส่องกล้องดูดาว ทำให้รำลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจอบคีรีขันธ์นอกจากนี้ยังมี ปราสาทยอดปรางค์,ปรางค์เขมร , หอระฆัง และ พระตำหนักสมเด็จฯ ซึ่งเมื่อความล้ำค่าทางสถาปัตยกรรมผนวกรวมกับความสงบร่มเย็นแห่งพระบวรพุทธศาสนาแล้วย่อมส่งผลให้ความงามอันเรียบง่ายของวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามเป็นที่ตราตรึงใจมากขึ้นเท่าทวีคูณ



สะพานปีกุน อนุสาวรีย์หมู


ออกจากวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ข้ามคูเมืองเดิมโดยผ่าน สะพานปีกุน สะพานเล็กๆที่มีอายุกว่า 100ปี โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่5 ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2454 ซึ่งตรงกับปีกุน ใกล้กันนั้นมี อนุสาวรีย์หมู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อนุสาวรีย์สหชาติ คำว่า สหชาติ หมายถึง ผู้เกิดปีเดียวกัน คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์,พระยาพิพัฒนโกษา (เชเลสติโน ชาเวียร์) และ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ได้ร่วมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์นี้ถวายเพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบเป็นรูปหมู หล่อด้วยโลหะ มีความหมายถึง ปีกุน ซึ่งตรงกับปีพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งเป็นปีเกิดเดียวกันของผู้สร้างถวายทั้งหมด


โอกาสนี้ขอกล่าวถึง เหรียญเสาวภาฯ (เหรียญหมู) ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสร้างขึ้นให้เป็นที่ระลึกเนื่องในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ของพระราชมารดา มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนขอบเรียบคล้องห่วง จัดสร้างทั้งเนื้อทองคำและเนื้อเงิน ด้านหน้าทำเป็นรูปหมู มีทั้งหมูตัวเดียวและหมูสองตัว เป็นแบบลงยาและไม่ลงยา ปัจจุบันมีค่านิยมสูง เป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งในหมู่นักสะสม



วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม


เมื่อแรกก้าวข้ามพ้นประตูเข้าสู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ผู้เขียนรู้สึกประทับใจพระรามหลวงชั้นเอกแห่งนี้เป็นอย่างมาก แม้อยู่ในช่วงบูรณปฏิสังขรณ์ ความงดงามวิจิตรของสถาปัตยกรรมภายในวัดก็มิได้เสื่อมคลายลงไป ถาวรวัตถุต่างๆภายในพระอาราม เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตกได้อย่างลงตัว มีความวิจิตรประณีตเป็นอย่างมาก


ตามประวัติพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นวังเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ และบ้านเรือนราษฎร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเป็นพระอาราม สถาปนาขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลตามประเพณี โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทรงเป็นปฐมเจ้าอาวาส


ครั้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 มิได้ทรงสร้างวัดประจำรัชกาล เพราะทรงเห็นว่าวัดมีอยู่มากแล้ว แต่ได้ทรงรับภาระทำนุบำรุงวัดนี้ซึ่งเป็นวัดของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ดังนั้นวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จึงเป็นวัดประจำ 2 รัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์



ในบริเวณเขตติดต่อเดียวกันกับพระอาราม เป็นที่ตั้งของ "สุสานหลวง" ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ อนุสาวรีย์และพระเจดีย์แต่ล่ะองค์จะมีรูปแบบแตกต่างกันไปทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค บรรยากาศโดยรอบตั้งอยู่ในสวนที่มีหมู่มวลต้นไม้และดอกลั่นทม ดูสงบเยือกเย็นสวยงาม



สมาคมฯชวนชิม ย่านสามแพร่ง


สัญจรพระนครมาตั้งแต่เช้าจนตะวันบ่ายคล้อย หนังท้องก็เริ่มหย่อน เรี่ยวแรงก็เริ่มหมด เลยเดินวกเข้า "ย่านสามแพร่ง" หาของอร่อยๆใส่ท้องเพิ่มพลังกันเสียหน่อย บอกเลยว่าย่านสามแพร่งนี้จะต้องเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดานักชิมและนักแชะที่ชื่นชอบการถ่ายรูปแนววินเทจย้อนยุคอย่างแน่นอน


เริ่มต้นที่ "แพร่งภูธร" แต่เดิมเรียกกันว่าวังเหนือ เคยเป็นวังของ กรมหมื่นภูธรธำรงศักดิ์ พระโอรสในรัชกาลที่4 ภายหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว รัชกาลที่5 ทรงซื้อเพื่อตึกและตัดเป็นถนนแพร่งภูธร เมื่อพูดถึงตึกแถวแพร่งภูธรแล้วส่วนใหญ่มีหน้าต่างประดับด้วยไม้ฉลุลายดูสวยงามคลาสสิค อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของแหล่งอาหารการกินที่มีชื่อเสียงเก่าแก่หลายร้าน อาทิ บะหมี่แพร่งภูธร ร้านบะหมี่สูตรกวางตุ้งที่เปิดบริการมานานกว่า 60 ปี , ร้านอุดมโภชนา ที่เปิดขายข้าวหมูแดง สตูและแกงกะหรี่รสชาติเยี่ยม มากว่า70ปี , ร้านเกาเหลาสมองหมู เจ้าดังที่หาชิมได้ยากยิ่ง ดับร้อนด้วย ไอติมกะทิโบราณนัฐพร ทั้งหอมหวานมัน ชื่นใจสุดๆ


ถัดมาคือ "แพร่งนรา" เป็นถนนที่เกิดจากการพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างตึกแถวพาณิชย์ โดยตัดผ่านวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ บริเวณนี้ในสมัยรัชกาลที่5-6 เคยเป็นย่านโรงละครที่มีชื่อเสียงมาก ซึ่งตัววังต่อมาถูกปรับปรุงให้เป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ถึงแม้จะทรุดโทรดไปตามกาลเวลาแต่ก็ยังคงเสน่ห์และกลิ่นอายของวันวานอย่างไม่รู้คลาย หากพูดถึงของอร่อย แพร่งนรา ต้องยกให้ ขนมเบื้องโบราณป้าศรี สูตรชาววัง จุดเด่นอยู่ที่แป้งบางกรอบ ใส่ไส้ล้วนๆไม่ใส่ครีมอย่างทั่วๆไป , ก๊วยจั๊บมัสยา เพียงแค่เดินผ่านก็ได้กลิ่นของน้ำซุปสูตรดั้งเดิม หอมเตะจมูกจนต้องแวะชิม อีกเจ้าคือ ลูกชิ้นปิ้งแพร่งนรา เนื้อหมูเน้นๆไม่ผสมแป้ง ปิ้งจากเตาร้อนๆราดด้วยน้ำจิ้มสามรส แถมแม่ค้าก็น่ารัก กดไลค์ให้เลยค่ะ


ปิดฉากความอร่อยกันที่ "แพร่สรรพศาสตร์" เดิมก่อนตัดถนนเป็นพื้นที่วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ ซึ่งด้านหน้าถนนยังคงปรากฏซุ้มประตูวังให้เห็นอยู่ ย่านนี้จานเด็ดขอยกให้ ร้านราดหน้าสูตร 40 ปี ที่มีเมนูเส้นหลากหลาย ทั้งราดหน้า ผัดซีอิ๋ว แถมใช้วัตถุดิบชั้นเลิศและราคาไม่แพงอีกด้วย ข้ามฝั่งมาชิมของอร่อยห้ามพลาดร้านสุดท้าย เผือกหิมะเจ๊ณี เผือกทอดสูตรลับเฉพาะที่ทั้งกรอบหอมอร่อย เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก



ท่านใดสนใจจะมาชิมของอร่อยย่านสามแพร่งให้ครบทุกร้าน ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าควรมาวันจันทร์-ศุกร์ เพราะร้านส่วนใหญ่หยุดวันอาทิตย์ และสำหรับสัปดาห์นี้ทัวร์ของเราก็ถึงเวลาที่จะต้องขอตัวลาไปก่อน พบกับ "สมาคมฯชวนชิล" ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะ เพราะเราจะไปพาคุณไปท่องเที่ยวทุกที่ แล้วคุณจะรู้จักและหลงรักเมืองไทยมากกว่าที่เคย สวัสดีค่ะ