ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 50 / แล่ม จันท์พิศาโล

23 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 15966 ครั้ง

พระกำแพงเม็ดขนุน เนื้อดินเผา จ.กำแพงเพชร (ภาพจากหนังสือ “สุดยอดพระเบญจภาคี” จัดทำโดย นิตยสาร “พระท่าพระจันทร์ 10 มิ.ย.2561)
พระกำแพงเม็ดขนุน เนื้อดินเผา จ.กำแพงเพชร (ภาพจากหนังสือ “สุดยอดพระเบญจภาคี” จัดทำโดย นิตยสาร “พระท่าพระจันทร์ 10 มิ.ย.2561)

พระกำแพงเม็ดขนุน เนื้อดินเผา แบบละเอียด   พุทธศิลป์สุโขทัย มีลีลาการก้าวย่างอ่อนช้อย งดงามมาก ขุดพบจากกรุวัดบรมธาตุ ในบริเวณทุ่งเศรษฐี จ.กำแพงเพชร กรุเดียว พระซุ้มกอ อายุความเก่าประมาณ 600 ปี ยุคแรกของการจัด พระชุดเบญจภาคี ได้มีการบรรจุ พระกำแพงเม็ดขนุน ไว้ด้วย ต่อมาได้มีการพิจารณาเห็นว่า พระชุดเบญจภาคี อีก 4 องค์ คือ พระสมเด็จฯ โต, พระรอด, พระผงสุพรรณ และ พระนางพญา ล้วนเป็นพระประทับนั่ง แต่ พระกำแพงเม็ดขนุน เป็นพระลีลา (ยืน)  เมื่อรวมกันในสร้อยคอ จะไม่เข้ารูปกัน จึงได้เปลี่ยนเอา พระซุ้มกอ (พระประทับนั่ง) เข้ามาแทน ปัจจุบัน  พระกำแพงเม็ดขนุนของแท้ๆ หายาก ไม่ค่อยมีการหมุนเวียนในวงการพระเครื่อง กลายเป็น “พระในตำนาน” ไปโดยปริยาย พระกำแพงเม็ดขนุนองค์นี้เนื้อจัดมาก สวยสมบูรณ์ทุกมิติ (ภาพและข้อมูลจากหนังสือ “สุดยอดพระเบญจภาคี” จัดทำโดย ทีมงานนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์ 10 มิ.ย.2561)

/////////////////////////////////////

พระนางพญา กรุวัดนางพญา พิมพ์เข่าตรง (ภาพจากหนังสือ “สุดยอดพระเบญจภาคี” จัดทำโดย นิตยสาร “พระท่าพระจันทร์ 10 มิ.ย.2561)
พระนางพญา กรุวัดนางพญา พิมพ์เข่าตรง (ภาพจากหนังสือ “สุดยอดพระเบญจภาคี” จัดทำโดย นิตยสาร “พระท่าพระจันทร์ 10 มิ.ย.2561)

พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก เนื้อดินเผา ศิลปะและอายุ สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างโดย พระวิสุทธิกษัตรีย์    พระมเหสีของ พระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ วัดราชบูรณะ  ราว พ.ศ.2090-2100  พระนางพญา กรุวัดนางพญา ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของ พระนางพญา ที่ขุดพบจากกรุอื่นๆ อีกหลายแห่ง หากเป็นพระพิมพ์สามเหลี่ยม องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย จะเรียกว่า พระนางพญา ทั้งนั้น พระนางพญา กรุวัดนางพญา มี 7 พิมพ์ คือ พิมพ์เข่าโค้ง, พิมพ์เข่าตรง, พิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า), พิมพ์อกนูนใหญ่, พิมพ์อกนูนเล็ก, พิมพ์สังฆาฏิ และพิมพ์เทวดา เป็นพระพิมพ์หนึ่งใน ชุดเบญจภาคี องค์ในภาพนี้เป็น พิมพ์เข่าตรง สภาพสวยสมบูรณ์ทุกมิติ และมีทองเก่าติดมาจากในกรุอีกด้วย (ภาพและข้อมูลจากหนังสือ “สุดยอดพระเบญจภาคี” จัดทำโดย ทีมงานนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์ 10 มิ.ย.2561)

/////////////////////////////////////

พระพิมพ์สมเด็จแหวกม่าน วัดทรงประมูล เนื้อผง ของ หมอต้น ศิริราช
พระพิมพ์สมเด็จแหวกม่าน วัดทรงประมูล เนื้อผง ของ หมอต้น ศิริราช

วัดวงศมูลวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีเขตติดต่อกับอู่กำปั่นหลวง (กรมอู่ทหารเรือ) ชาวบ้านมักจะเรียกชื่อวัดว่า “วัดทรงประมูล” เพราะมีผู้ขุดพบพระพิมพ์สี่เหลี่ยม แบบพระสมเด็จวัดระฆัง พุทธลักษณะปางสมาธิ สองข้างซุ้มมีผ้าม่านห้อยอยู่ เป็นพระผงสีขาว มวลสารแข็งแกร่งแบบ พระสมเด็จ วัดระฆัง เป็นที่นิยมของนักสะสมพระเครื่องสมัยก่อนมาก โดยเรียกพระผงนี้ว่า พระพิมพ์สมเด็จแหวกม่าน วัดทรงประมูล มีบางกระแสสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นพระเครื่องที่ สมเด็จฯ โต วัดระฆัง สร้างขึ้นก็ได้ เนื่องจากวัดอยู่ใกล้กัน สมเด็จฯ โต มีความคุ้นเคยกับ วัดทรงประมูล มาก พระพิมพ์สมเด็จแหวกม่าน วัดทรงประมูล องค์นี้มีสภาพสวยแชมป์ ส่งประกวดติดรางวัลที่ 1 มาแล้วหลายครั้ง พร้อมกับ “ใบเซอร์” ของ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งระบุว่า พระพิมพ์นี้สร้างประมาณ พ.ศ.2410-2415  องค์นี้เป็นพระของ หมอต้น ศิริราช นักสะสมพระเครื่องทุกประเภท

/////////////////////////////////////

เหรียญพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน รุ่นแรก ปี 2498 สองขอบ เนื้อทองแดงผิวไฟ ของ ติ่ง ทุ่งสง (ระพีพันธ์ รักษาพงษ์)
เหรียญพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน รุ่นแรก ปี 2498 สองขอบ เนื้อทองแดงผิวไฟ ของ ติ่ง ทุ่งสง (ระพีพันธ์ รักษาพงษ์)

เหรียญพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน   จ.นครศรีธรรมราช รุ่นแรก ปี 2498 (พิมพ์นิยมสุด สองขอบ) เนื้อทองแดงผิวไฟ เป็นรุ่นที่นิยมสุดในสายนี้ สวยสมบูรณ์มากๆ เช่าหากันถึงกว่า 8 แสนบาท เหรียญรุ่นแรกนี้แยกได้ 4 พิมพ์ คือ 1. พิมพ์สองขอบ  2. พิมพ์สองขอบ ไฝแตก  3. พิมพ์ขอบเดียวธรรมดา (แบ่งย่อยเป็นพิมพ์ยันต์สูง และพิมพ์ยันต์ต่ำ)  และ 4. พิมพ์ขอบเดียวธรรมดา ไฝแตก  จุดสังเกตของ เหรียญสองขอบ คือ ด้านหลังของเหรียญมีรอยเส้นซ้อนกันตรงขอบเหรียญด้านล่าง อันเนื่องจากการปั๊ม ส่วนคำว่า ไฝแตก ดูจากด้านหน้า ริมฝีปากพ่อท่านจะมีจุดกลมเล็กๆ ถ้ามีลักษณะนูน คือ ไฝไม่แตก หากมีลักษณะบุบบี้ คือ ไฝแตก ในภาพนี้ คือ เหรียญพ่อท่านคล้าย รุ่นแรก ปี 2498 สองขอบ นิยมสุด ของ ติ่ง ทุ่งสง (ระพีพันธ์ รักษาพงษ์) นักอนุรักษ์พระเครื่องภาคใต้ (ข้อมูลจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช)

/////////////////////////////////////

เหรียญหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ รุ่น "ถวายภัตตาหาร" พ.ศ.2501 เนื้อเงิน ของ วัฒน์ บางแค
เหรียญหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ รุ่น "ถวายภัตตาหาร" พ.ศ.2501 เนื้อเงิน ของ วัฒน์ บางแค

เหรียญหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี รุ่น "ถวายภัตตาหาร" พ.ศ.2501 จัดสร้างในช่วงที่หลวงพ่อดำรงสมณศักดิ์ที่ "พระมงคลเทพมุนี" โดยคณะศิษยานุศิษย์ เพื่อแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในวัดหลวงพ่อสด ปลุกเสกด้วยวิชาธรรมกาย อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์จึงไม่แตกต่างจาก พระผงของขวัญ เหรียญรุ่นนี้สร้างด้วย เนื้อเงิน,  เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน  และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง  ด้านหลังตรงกลางเป็น "ดวงปริศนาธรรมกาย" ประกอบด้วยอักขระขอมอ่านว่า "สัมมาอรหํ" มีอักษรไทยล้อมรอบว่า "ที่ระลึกในการถวายภัตตาหาร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี" สนนราคาเช่าหาเหรียญเนื้อเงินหลักแสนกลางขึ้นไป  เนื้อทองแดงหลักแสนต้น ในภาพนี้เป็นเหรียญเนื้อเงิน ของ วัฒน์ บางแค ผู้ชำนาญพระเครื่องทุกประเภท