ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่66

06 มิถุนายน 2563 ยอดผู้ชม 19282 ครั้ง


ยอดนิยมจากคมเลนส์  /  แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 66







พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรีเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของสถิต มหัทธนไพศาล จ.ราชบุรี
พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรีเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของสถิต มหัทธนไพศาล จ.ราชบุรี
พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรีเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของสถิต มหัทธนไพศาล จ.ราชบุรี


        พระองค์แรก วันนี้ ได้รับภาพมาจาก  สถิต มหัทธนไพศาล   ประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สาขาจังหวัดราชบุรี  พร้อมกับข้อมูลว่า......  พระท่ากระดาน   สมญานาม  “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง”  หนึ่งในชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดนิยม  อันประกอบไปด้วย  1. พระร่วงหลังรางปืน,   2. พระท่ากระดาน,   3. พระหูยาน,   4. พระชินราชใบเสมา  และ  5. พระมเหศวร   ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพระยอดนิยมมาตั้งแต่สมัยเก่าก่อน  เป็นพระที่มีประสบการณ์มากมาย    พระท่ากระดาน มีหลายกรุ และขึ้นหลายครั้ง   กรุปฐมฤกษ์  คือ กรุลั่นทม, กรุเหนือ, กรุกลาง, กรุใต้, กรุนาสวน,  กรุวัดหนองบัว, กรุวัดเหนือ, กรุท่าเสา, กรุลาดหญ้า, กรุทองผาภูมิ   ต่อมาได้มีการแยกเป็นพระกรุเก่า กรุใหม่  โดยทุกกรุที่ขึ้นใน  อ.ศรีสวัสดิ์  นักเลงพระจะเรียกว่า  “พระกรุเก่า”  ทั้งสิ้น  ส่วนที่เหลือจะเรียกว่า  “พระกรุใหม่”  แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกรุเก่ากรุใหม่ ถือว่า สร้างพร้อมกัน พิมพ์เดียวกัน  เพียงแต่ระยะเวลาการแตกกรุต่างกันเท่านั้น  องค์ที่ลงให้ชมนี้  คือ  พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์   (กรุเก่า)    สันนิษฐานว่า  เป็นพระที่ฤาษีเป็นผู้สร้าง แล้วนำมาบรรจุตามที่ต่างๆ ในเมืองกาญจนบุรี   เชื่อกันว่า พุทธคุณโด่งดังทางคงกระพันชาตรี  หรือเหนียวชนิดแมลงวันไม่ได้กินเลือด  เป็นที่ถวิลหาของนักเลงพระรุ่นเก่ายิ่งนัก  แต่ราคาไม่ธรรมดา  และมีของเก๊เลียนแบบมากมายอีกด้วย...... พระท่ากระดาน  เป็นพระประจำเมืองกาญจนบุรี  เป็นปฏิมากรรมแบบนูนสูง  มีด้านหน้าด้านเดียว  ด้านหลังแบนเรียบ   ส่วนใหญ่พระเกศยาวตรงขึ้นไป  เนื่องจากระยะเวลาของอายุพระมากและอยู่ใต้ดินถูกทับถมมาก  ทำให้ปลายพระเกศบางองค์หักชำรุดสั้นลง  บางองค์ปลายพระเกศงอไปด้านใดด้านหนึ่ง  ลักษณะพระพักตร์เป็นพุทธศิลป์อู่ทอง  เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง โดยทั่วไปมีความกว้างประมาณ  2.8 ซม. สูงประมาณ  4.5 ซม. ความหนาที่ฐานประมาณ 1.3 ซม. (ข้อมูลจากหนังสือ พระเนื้อชิน  โดย  ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ) 





พระนางแขนอ่อน กรุเจดีย์สูง เนื้อดินเผา จ.สุโขทัย ของ ฐกร บึงสว่าง
พระนางแขนอ่อน กรุเจดีย์สูง เนื้อดินเผา จ.สุโขทัย ของ ฐกร บึงสว่าง

        พระนางพญา พิมพ์แขนอ่อน จ.สุโขทัย   หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า  “พระนางแขนอ่อน”  เป็นพระสกุลช่างสุโขทัย ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย  ยุคที่บ้านเมืองอยู่ดีกินดี  มีความสุขกันทั่วไป  จนมีการถ่ายทอดความสุขนั้นลงทางพระพิมพ์ต่างๆ  ที่มีองค์พระอ่อนช้อย สวยงาม ปรากฏรอยยิ้ม อย่างมีความสุข   อ.ต้อย เมืองนนท์   เขียนไว้ หนังสืออมตะพระกรุ  เรียกชื่อ  “พระนางแขนอ่อน”  ว่า  “พระกลีบบัว แขนอ่อน สุโขทัย  เป็นพระสกุลสุโขทัยอีกพิมพ์หนึ่ง ที่แตกกรุออกมาจากหลายกรุ  คือ  กรุวัดมหาธาตุ,  กรุวัดเจดีย์สูง,  กรุวัดเจดีย์งาม และกรุเขาพนมเพลิง  เป็นพระขนาดกำลังใช้ น่าติดตัว  ไม่ว่าจะเป็นพระกรุไหน  พุทธคุณเหมือนกันทุกกรุ  คือ แคล้วคลาด เมตตามหานิยม” ...... พระนางแขนอ่อน  มีทั้งเนื้อดินเผา และเนื้อชินเงิน  สนนราคายังพอจับต้องได้ อยู่ที่ประมาณหลักพันปลาย ถึงหลักหมื่นต้น  องค์ในภาพนี้  คือ  พระนางแขนอ่อน  กรุเจดีย์สูง  เนื้อดินเผา  จ.สุโขทัย   ของ   ฐกร บึงสว่าง   ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ชื่อดัง





    เหรียญหลวงพ่อโอภาสี รุ่น 3 พิมพ์นิยม          มีราวบันได ปี 2497 ของวีระชัย ชัยนุมาศ (คิง ปากพนัง)
    เหรียญหลวงพ่อโอภาสี รุ่น 3 พิมพ์นิยม          มีราวบันได ปี 2497 ของวีระชัย ชัยนุมาศ (คิง ปากพนัง)

        เหรียญหลวงพ่อโอภาสี  รุ่น 3  พิมพ์นิยม  มีราวบันได  ปี 2497  เหรียญรุ่นนี้มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์มีราวบันได และไม่มีราวบันได   จำนวนสร้างประมาณ 10,000 เหรียญ (รวมทั้ง 2 พิมพ์)   เป็นเหรียญพิมพ์ทรงรูปอาร์ม  ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อโอภาสี  ด้านหลังระบุปีที่สร้าง 2497  เหรียญรุ่นนี้ถือว่าเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมาช้านาน  ใครมีต่างก็หวงแหน  เพราะมีประสบการณ์มากมาย  โดยเฉพาะทางแคล้วคลาด  มหาอุด  คงกระพัน ชาตรี  โด่งดังมาก  เหรียญที่มีสภาพสวยเหมือนในภาพนี้ เช่าหากันที่หลักหมื่นปลายขึ้นไป  เป็นเหรียญของ   วีระชัย ชัยนุมาศ  (คิง ปากพนัง)  ผู้ชำนาญพระสายใต้  ประวัติ หลวงพ่อโอภาสี  (พระมหาชวน มลิพันธ์)  เกิดเมื่อปี 2441  ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช  อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร  โดยมี  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  เป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านสอบได้เปรียญ 7 ประโยค  ต่อมาในปี 2484  ท่านได้ออกจากวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อไปธุดงค์ยังที่ต่างๆ  จนมาปักกลดอยู่ที่สวนบางมด ธนบุรี  ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนั้นมาก โดยเรียกท่านว่า  “หลวงพ่อโอภาสี”  ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2498  ทุกวันนี้ สวนบางมด ที่ท่านมาปักกลดอยู่นั้น มีฐานะเป็น  วัดหลวงพ่อโอภาสี  เขตทุ่งครุ กทม. โดยมีสรีระสังขารของหลวงพ่อประดิษฐานอยู่ที่นี่  ทุกวันมีพุทธศาสนิกชนผู้เคารพศรัทธาไปกราบไหว้บูชามิได้ขาด 





เหรียญหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ รุ่นแรก ปี2500เนื้อทองแดงกาไหล่ทอง ของ ภมร ภคอัครเลิศกุล(ตือ ประตูน้ำ)
เหรียญหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ รุ่นแรก ปี2500เนื้อทองแดงกาไหล่ทอง ของ ภมร ภคอัครเลิศกุล(ตือ ประตูน้ำ)




        เหรียญหลวงพ่อสด  วัดปากน้ำ  ภาษีเจริญ  รุ่นแรก  ปี 2500  สร้างขึ้นเนื่องโอกาสที่หลวงพ่อได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่   "พระมงคลเทพมุนี"  เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ศิษยานุศิษย์  มีเนื้อเงินและเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง  เป็นเหรียญรูปไข่ หูในตัว  สนนราคาเช่าหา เหรียญเนื้อเงิน สวยๆ อยู่ที่หลักแสนต้นขึ้นไป  เนื้อทองแดงกะไหล่ทองหลักหมื่นกลางถึงหลักแสนต้น  ที่น่าแปลกก็คือ  เหรียญรุ่นแรก ราคาจะถูกกว่า  เหรียญรุ่น 2  (รุ่นถวายภัตตาหาร)  ปี 2501 มี 3 เนื้อ  คือ เนื้อเงิน,  เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน  และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง  สนนราคาจะสูงกว่าเหรียญรุ่นแรก เล็กน้อย  (เหรียญสภาพสวยพอๆ กัน)  ที่นำมาให้ชมนี้  คือ  เหรียญหลวงพ่อสด  วัดปากน้ำ  รุ่นแรก  ปี 2500  เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง   ของ   ภมร ภคอัครเลิศกุล  (ตือ ประตูน้ำ)   นักสะสมพระเครื่องคนรุ่นเก่า





เหรียญหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค รุ่นสรงน้ำ เนื้อทองแดง ปี 2517 ของ เฉิน รังเทพ
เหรียญหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค รุ่นสรงน้ำ เนื้อทองแดง ปี 2517 ของ เฉิน รังเทพ

        เหรียญหลวงพ่อพรหม  วัดช่องแค  รุ่นสรงน้ำ  เนื้อทองแดง  ปี 2517   จัดเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่ หลวงพ่อพรหม ได้ปลุกเสก  จำนวนสร้าง 3,300 เหรียญ  โดยหลวงพ่อได้เมตตาปลุกเสกให้นานถึง 8 วันเต็มๆ  ออกให้ทำบุญบูชาเหรียญละ 5 บาท เมื่อปลายเดือน เมษายน 2517   ด้วยเเรงศรัทธาของชาวบ้าน เหรียญรุ่นนี้จึงหมดภายในไม่ถึง 1 วัน  ที่นำมาให้ชมนี้เป็นเหรียญเนื้อทองแดง สวยสมบูรณ์คมชัด  สภาพแชมป์งานใหญ่ที่สามพราน  (27 ม.ค.2562)    เป็นเหรียญเก่าเก็บ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อนเลย  ผิวไฟของเหรียญแดงมาก แบบเดิมๆ  สนนราคาหลักแสนต้น  เป็นเหรียญของ   เฉิน รังเทพ  เซียนหนุ่มคนรุ่นใหม่ที่เก็บแต่พระสวยระดับแชมป์  ชั้น 3 ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน  (เหรียญรุ่นนี้ยังมีเนื้อทองระฆัง 19 เหรียญ และเนื้อสแตนเลส 21 เหรียญ เป็นเหรียญที่ลูกศิษย์สร้างส่วนตัว ฝากปลุกเสกในพิธีเดียวกัน)  หลวงพ่อพรหม เกิดเมื่อ 20 เมษายน 2427 มรณภาพเมื่อ 30 มกราคม 2518  สิริรวมอายุ 91 ปี  พรรษา 71  ปัจจุบัน สรีระสังขารของท่านยังเก็บรักษาอยู่ในหีบแก้ว ประดิษฐานอยู่ที่ วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์  ให้ชาวบ้านและผู้เคารพนับถือกราบไหว้สักการะ