ยอดนิยมจากคมเลนส์
แล่ม จันท์พิศาโล
++++++++++++++
พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี จากเว็บไซต์ “เรารักสุพรรณฯ” กล่าวตอนหนึ่งว่า สันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นผู้สร้าง “พระขุนแผน” ในคราวทำศึกยุทธหัตถี มีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา แม่ทัพพม่า ที่บ้านหนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ ปี 2135 โดยมี สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แห่งศรีอโยธยา เป็นองค์ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก แล้วนำมาบรรจุไว้ในสถูปวัดบ้านกร่าง เพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา ศิลปะอยุธยา สร้างขึ้น 84,000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ มีมากพิมพ์หลายแบบนับได้ถึง 81 พิมพ์ (บางแห่งกล่าวว่ามีมากถึง 100 พิมพ์) ---- องค์ที่นำมาให้ชมนี้ คือ พิมพ์ซุ้มประตู สภาพสวยแชมป์ ฟอร์มเทพ หูตากะพริบ คม-ชัด-ลึก ผิวเดิมๆ มีบัตรรับรองพระแท้จากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย พระพิมพ์นี้เป็นพิมพ์หนึ่งที่หายากพอสมควร องค์นี้เป็นพระของ นพ.มาณพ โกวิทยา แหล่งรวมพระยอดนิยมทุกประเภท
+++++++++++++
วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ ประมาณ 5 กม. เป็นโบราณสถานก่อนสมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระวิหาร และเสด็จออกทรงผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ.2007 โดยมีข้าราชบริพารออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป ตามประวัติเชื่อว่า บริเวณที่ตั้งวัดจุฬามณี คือ ที่ตั้งชุมชนแห่งแรกของเมืองพิษณุโลก โบราณสถานที่สำคัญของวัดนี้ คือ พระปรางค์ แบบขอม สร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ และมณฑปพระพุทธบาท (จำลอง) ซึ่ง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2221 สำหรับ พระกรุวัดจุฬามณี ที่ขุดพบ ไม่ใช่พระเก่าสมัยขอม หากแต่เป็น พระศิลปะสุโขทัยยุคปลาย หรือสมัยอยุธยายุคต้น เข้าใจว่า เป็นการสร้างของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในสมัยสุโขทัย ที่ทรงบูรณะวัดนี้ พร้อมกับสร้างพระเครื่องบรรจุกรุเอาไว้ พระกรุนี้ส่วนใหญ่เป็นพระ 2 หน้า เช่น พิมพ์หน้าฤาษี หลังนางพญา, พิมพ์ชินราช, พิมพ์นางพญา 2 หน้า, พิมพ์สมาธิซุ้มขีด (พิมพ์นี้เป็นพระหน้าเดียวมีน้อย) ฯลฯ พระทุกองค์เป็น เนื้อดินเผา มีทั้งแบบเนื้อละเอียด และเนื้อหยาบ องค์ที่เห็นนี้ คือ พิมพ์หน้าฤาษี หลังนาง ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมที่สุดของพระกรุนี้ เป็นพระของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน ผู้สนใจสะสมพระเครื่องทุกประเภทอย่างจริงจัง
พระท่ามะปราง ขุดพบครั้งแรกที่ วัดท่ามะปราง จ.พิษณุโลก ถือเป็นต้นกำเนิดของพระพิมพ์นี้ ต่อมาได้มีการ
ที่ขุดพบพระที่มีพิมพ์ลักษณะเดียวกันนี้จากกรุต่างๆ ในเมืองพิษณุโลก ก็เรียกชื่อ พระท่ามะปราง เช่นกัน อาทิ พระท่ามะปราง กรุวัดพระศรีมหาธาตุ, กรุวัดสะตือ, กรุเจดีย์ยอดทอง นอกจากนี้ของจังหวัดอื่นก็มี อาทิ พระท่ามะปราง กรุสำปะซิว จ.สุพรรณบุรี, พระท่ามะปราง กรุมะละกอ จ.พิจิตร, พระท่ามะปราง จ.สุโขทัย, พระท่ามะปราง จ.เพชรบูรณ์, พระท่ามะปราง กรุบ้านตาก และ พระท่ามะปราง จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีพุทธศิลป์งดงามที่สุดในบรรดา พระท่ามะปราง ด้วยกัน พระท่ามะปราง จ.กำแพงเพชร ขุดพบจากหลายกรุ ที่สำคัญ คือ กรุวัดบรมธาตุ, กรุวัดอาวาสน้อย, กรุวัดกะโลทัย, กรุวัดพิกุล และกรุวัดพระสี่อิริยาบถ พระท่ามะปราง จ.กำแพงเพชร เป็นพระสกุลช่างศิลปะสุโขทัยแบบวัดตะกวน มีหลายเนื้อ อาทิ ชินเงิน ดิน ว่าน และสนิมแดง โดยเฉพาะพระเนื้อชินเงิน พบมากกว่าเนื้อชนิดอื่นๆ และเป็นที่นิยมสูง ขนาดองค์จริง ฐานกว้างประมาณ 2.2 ซม. สูงประมาณ 3.5 ซม. องค์ที่นำมาให้ชมนี้ คือ พระท่ามะปราง กรุวัดพระสี่อิริยาบถ เมืองชากังราว จ.กำแพงเพชร เนื้อชินเงิน ของ สันต์ วิวัฒนวาณิชย์ (เสือ ชุมพร) นักสะสมพระเครื่องรุ่นอาวุโส
+++++
พระอาจารย์เจ็ก วัดเขาแดงตะวันตก อ.เมือง
จ.พัทลุง เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมสูง
แต่ใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะ สันโดษ การสร้างพระเครื่องท่านจะออกแบบเอง
แกะแม่พิมพ์เอง เททองหล่อพระเอง โดยทำพิธีในถ้ำตลอด การสร้างพระเครื่องแต่ละครั้ง ท่านจะหล่อองค์พระฤาษีก่อน
เพราะท่านนับถือพระฤาษีว่า เป็นบรมครูผู้ประสิทธิ์ประสาท สรรพวิชาทุกแขนง
จากนั้นจึงจะหล่อพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ อาทิ พระปิดตา พระสังกัจจายน์ ฯลฯ
แต่ละองค์จะมีพิมพ์ทรงและขนาดไม่ซ้ำกัน
แต่มีเอกลักษณ์ของท่านเอง
โดยเฉพาะยันต์ด้านหลัง
องค์ในภาพนี้ คือ พระสังกัจจายน์ ปี 2484 เนื้อโลหะผสม
ที่มีพิมพ์ทรงไม่เหมือนกับของพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นใด
สุดยอดแห่งศิลปะคลาสสิกอย่างแท้จริง องค์นี้เป็นพระของ จูน หาดใหญ่
คนหนุ่มนักสะสมพระเครื่องเมืองใต้ด้วยใจรัก
+++++
พระเครื่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ธนบุรี ส่วนใหญ่ คือ พระปิดตา รุ่นต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ พระปิดตาปลดหนี้ ปี 2521-2523 ปลุกเสก 3 ไตรมาส พระปิดตารุ่น 3 ไตรมาส มีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ใหญ่ (จัมโบ้ 2), พิมพ์เล็ก หลังยันต์สุกิตติมา, พิมพ์เล็ก หลังยันต์ “นะ” (ต่อมาเรียกว่า “ปลดหนี้”) ฯลฯ ที่เรียกว่า “ปลดหนี้” เพราะมีผู้นำไปใช้แล้ว ได้โชคลาภ จนสามารถปลดหนี้สินได้หมด พระปิดตาปลดหนี้ มีทั้งเนื้อผงเกสร (มีหลังยันต์ “นะ” อย่างเดียว) และเนื้อผงใบลาน (มีทั้งหลังยันต์ “นะ” และหลังยันต์ตรีนิสิงเห) กล่าวเฉพาะ พระปิดตาปลดหนี้ เนื้อผงเกสร หลังยันต์ “นะ” มีทั้งแบบแช่น้ำมนต์ และไม่แช่น้ำมนต์ ทุกองค์ฝังตะกรุด องค์ที่ฝังตะกรุด 2 ดอก สร้าง 3,000 องค์, ตะกรุด 3 ดอก สร้าง 10 องค์ และตะกรุด 5 ดอก สร้าง 3 องค์ พระพิมพ์นี้ตอนออกจากวัดใหม่ๆ องค์ละ 50 บาท ต่อมาขยับขึ้นเป็น 100 บาท, 200 บาท และ 1,000 บาท ในเวลาไม่นานนัก จนเมื่อ พ.ศ.2537 องค์สวยๆ เช่าหากันถึง 5-6 หมื่นบาท มาถึงชั่วโมงนี้ (พ.ศ.2563) อยู่ที่ 2-3 แสนบาท สมัยก่อน พระปิดตาปลดหนี้ เนื้อผงเกสร หลังยันต์ “นะ” วงการนิยมเช่าหาเนื้อแช่น้ำมนต์ แตปัจจุบันนิยมเนื้อเดิมๆ ไม่แช่น้ำมนต์มากกว่า องค์ในภาพนี้ เป็นพระของ แหลม กิตติพงษ์ กลิ่นแก้ว กรรมการตัดสินพระหลวงปู่โต๊ะ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย