ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 61
พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก เนื้อดินเผา ต้นกำเนิดของ พระนางพญา ที่มีหลายกรุหลายวัด เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดย พระวิสุทธิกษัตริย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และเป็นพระราชมารดาของ พระสุพรรณกัลยา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ประมาณ พ.ศ.2100 พร้อมกับทรงสร้าง “พระนางพญา” บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ พระนางพญา พุทธศิลป์สุโขทัยผสมอยุธยา พิมพ์ทรงสามเหลี่ยม มี 6 พิมพ์ คือ พิมพ์เข่าโค้ง, พิมพ์เข่าตรง, พิมพ์อกนูนใหญ่, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์เทวดา และพิมพ์อกนูนเล็ก เป็น 1 ใน 5 ของพระชุดเบญจภาคี ที่นักสะสมพระเครื่องต่างสนใจใฝ่หา องค์ในภาพนี้เป็น พิมพ์อกนูนเล็ก สภาพใช้ เป็นพระแท้ดูง่าย ของ เต้ สระบุรี ผู้ชำนาญพระเนื้อดินชินผงยอดนิยม
พระนางพญา กำแพงเพชร หรือ พระนางกำแพง โดยทั่วไปมีพิมพ์ทรงสามเหลี่ยม เหมือนกับ พระนางพญา
กรุวัดนางพญา แต่พระตระกูลนางกำแพง มีพิมพ์แตกต่างออกไปอีกหลายพิมพ์ทรง อาทิ พระนางกำแพงกลีบบัว, พระนางกำแพงพิมพ์ลูกแป้ง, พระนางกำแพงฐานตาตาราง, พระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด
ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสกุลช่างสุโขทัยผสมกับช่างกำแพงเพชร
ขุดพบทั้งกรุทุ่งเศรษฐี และกรุฝั่งจังหวัด เป็นพระยุคเดียวกับ พระกำแพงซุ้มกอ
เนื้อดินเผา แบบละเอียด ตามองค์พระจะปรากฏรารักและคราบกรุให้เห็น
เอกลักษณ์สำคัญของ พระนางกำแพง ทุกพิมพ์ คือ พระเศียรเป็นทรงบาตรคว่ำหน้าผากกว้าง
แก้มและคางจะสอบลงมาได้รูป ตามศิลปะแบบสุโขทัย ดังที่เห็นในภาพนี้
องค์นี้เป็นพระของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน อาจารย์ศัลยแพทย์ผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน 2433
ในสมัยรัชกาลที่ 5 อุปสมบทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2453
ได้ฉายา “จนฺทสุวณฺโณ” ท่านได้เรียนวิชา
“ฌานสมาบัติ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “นั่งทางใน” กับโยมพ่อพรม
และได้ศึกษาวิชาอาคมจาก พระครูอุตตรการบดี (สุข) วัดห้วยจระเข้
ต่อมาท่านได้เดินธุดงค์เข้าไปในป่าระยะหนึ่ง
เมื่อได้กลับมาสู่วัดดอนยายหอมอีกครั้งท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวัดเป็นอย่างมาก
ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับชั้น จนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2504
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชธรรมภรณ์” ท่านได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2520 สิริรวมอายุ 87
ปี พรรษา 60 หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ได้สร้างวัตถุมงคลหลายอย่างหลายรุ่น
ที่ได้รับความสนใจรุ่นหนึ่ง คือ พระพุทธรูป
นั่งสมาธิก้ามปู ปี 2493 ในโอกาสทำบุญอายุครบ 5 รอบ 60
ปี มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเมฆพัด และเนื้อตะกั่ว เทหล่อแบบโบราณ
มีห่วงกลมติดอยู่ที่ปลายยอด บางองค์ไม่มีห่วง องค์ในภาพนี้เป็นเนื้อเมฆพัด
พิมพ์หน้าใหญ่ พระศอใหญ่ นิยมสุด ของ จิมมี่
ลานโพธิ์ (คำว่า “พิมพ์สมาธิก้ามปู” มาจากนิ้วมือที่ประสานกันมีลักษณะเหมือนกับ “ก้ามปู”)
พระกริ่งไพรีพินาศ รุ่น “เขาค้อ” พ.ศ.2520 เป็นการจัดสร้าง “พระกริ่ง” ในรูปแบบ
“พระไพรีพินาศ”
ครั้งแรกของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
โดยมีพระเกจิอาจารย์และพระวิปัสสนาจารย์ ทั้งในกรุงเทพฯ และ สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ร่วมในพิธี อาทิ หลวงปู่โต๊ะ, หลวงปู่เทศก์, หลวงปู่ขาว, หลวงตามหาบัว,
พระอาจารย์สาม, หลวงปู่แหวน ฯลฯ พระกริ่งรุ่นนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานแก่ผู้บริจาคทุนทรัพย์สร้างอุโบสถ วัดเพชรวราราม จ.เพชรบูรณ์
และบรรดาทหารที่ไปถวายการอารักขา ทหารหลายท่านได้รับพระราชทานไปแล้ว
เมื่อสู้รบกับฝ่ายตรงข้ามปรากฏว่ากระสุนไม่ระคายผิวหนังแต่ประการใด
นับเป็นเหตุอัศจรรย์เหนือการอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
พระกริ่งรุ่นนี้สร้างด้วยเนื้อทองคำ
(ชั่วโมงนี้เช่าหากันที่หลักแสนต้น), เนื้อเงิน (3-4 หมื่นบาท) และเนื้อนวโลหะ (หลักหมื่นต้น) องค์นี้เป็นพระของ ฐกร บึงสว่าง ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ชื่อดัง
พระปิดตากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พิมพ์ห้าเหลี่ยม เนื้อชินตะกั่ว
สร้างขึ้นในพิธีไหว้ครู ที่วังนางเลิ้ง พระนคร ปลุกเสกโดย
หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มี 2 พิมพ์ อีกพิมพ์หนึ่งสร้างด้วยเนื้อผงคลุกรัก
ขนาดจิ๋ว จำนวนสร้างไม่มาก
เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย จัดเป็นพระชุดเล็กที่น่าใช้บูชาเป็นอย่างยิ่ง
บางองค์มีจารที่ท้องพระ ด้วยอักขระขอม ตัว “อะ” ด้านหลังบางองค์มีจาร ตัวขอม “อิ” บางองค์ก็ไม่มีจาร องค์นี้มีจารด้านหน้าอย่างเดียว เป็นพระแท้ดูง่ายของ สถิต มหัทธนไพศาล ประธานกรรมการบริหาร
สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สาขา จ.ราชบุรี