ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 11

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 9506 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์ วันนี้ขอเริ่มที่ พระซุ้มนครโกษา สกุลช่างเมืองลพบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ขุดพบจากกรุหลายแห่งหลายเมือง พุทธลักษณ์คล้ายกัน จึงเรียกชื่อเหมือนกัน คือ พระซุ้มนครโกษา ตามชื่อวัดที่มีการขุดพบพระครั้งแรก คือที่ วัดนครโกษา เมืองลพบุรี...สำหรับ เมืองสิงห์บุรี ในสมัยโบราณ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ อาณาจักรลพบุรี เพิ่งมีการแบ่งแยกเป็นเมืองสิงห์บุรีในยุคหลัง ดังนั้น โบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ ส่วนใหญ่ใน เมืองสิงห์บุรี จึงเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใน สมัยลพบุรี เช่นเดียวกัน อิทธิพลทางพุทธศิลป์จึงเหมือนกัน อย่างเช่น พระซุ้มนครโกษา กรุวัดสว่างอารมณ์ ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นพระเครื่องศิลปะแบบลพบุรี ขุดพบเมื่อปี 2525 ประมาณ 200 องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระที่สมบูรณ์ มีทั้ง พิมพ์ฐานสูง และ พิมพ์ฐานธรรมดา เนื้อชินตะกั่วสนิมแดงล้วนๆ และเป็นเนื้อสนิมแดงจัดมาก ผิวพระคลุมด้วยคราบกรุดินสีเหลือง พุทธศิลป์ของ พระซุ้มนครโกษา กรุวัดสว่างอารมณ์ มีความงดงามอลังการมาก องค์พระประทับนั่งปางสมาธิ อยู่บนฐานบัวที่ทำเป็นฐานสูง อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ด้านข้างเป็นขีดรัศมี นับเป็นพุทธลักษณะที่ไม่เคยปรากฏในพระพิมพ์ใดมาก่อน ส่วนด้านหลังองค์พระเป็นลายผ้า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ พระศิลปะลพบุรี ทั่วๆ ไป ขนาดองค์พระสูงประมาณ 4 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม. นับเป็นขนาดกะทัดรัด กำลังพอเหมาะพอดี จึงเป็นที่นิยมของนักสะสมพระเครื่องทั่วไป องค์ในภาพนี้ คือ พระซุ้มนครโกษา กรุวัดสว่างอารมณ์พิมพ์ฐานสูง ของ ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ นักสะสมพระเครื่องที่มุ่งเก็บแต่พระเนื้อชินเท่านั้น



พระผงขมิ้นเสก หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จากข้อมูลของ อ.สุธน ศรีหิรัญ ได้บันทึกไว้ว่า...เมื่อสมัยที่ หลวงปู่บุญ ยังอยู่ ท่านได้เอา หัวขมิ้น มาลงอักขระและปลุกเสกเป็นครั้งคราว โดยทำครั้งละไม่มากนัก เมื่อเสกเสร็จแล้วก็เอาใส่ในโถเคลือบ ท่านว่าจะเอาไว้สร้าง พระขมิ้นเสก แต่ไม่ทันได้สร้างท่านก็ได้มรณภาพไปเสียก่อน…ต่อมา หลวงปู่เพิ่ม จึงได้สืบสานงานนี้ต่อ โดยเอา หัวขมิ้น มาลงอักขระและปลุกเสกอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้ปริมาณที่มากพอจะสร้างพระได้หลายๆ องค์ จึงได้เอา ขมิ้นเสก ของ หลวงปู่เพิ่ม มาผสมเข้าด้วยกัน แล้วดำเนินการสร้าง พระขมิ้นเสก พิมพ์ต่างๆ เมื่อปี 2504 โดยมี พระปลัดใบ คุณวีโร พระลูกศิษย์เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง บดผง กดพิมพ์เป็นองค์พระ มีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ 1.พิมพ์พระประธาน ปางมารวิชัย ฐานผ้าทิพย์,  2.พิมพ์สมเด็จ ฐาน 5 ชั้น, 3.พิมพ์พระนาคปรก กรอบสี่เหลี่ยม, 4.พิมพ์พระนาคปรก กรอบมนแบบซุ้มกอ และ 5.พิมพ์พระชัยวัฒน์ ฐานบัว (หลวงปู่เพิ่มเรียกว่า “พระยอดธง”)...พระผงขมิ้นเสก ทั้ง 5 พิมพ์นี้เป็นพระเครื่องที่น่าใช้มาก เพราะได้ผ่านพิธีปลุกเสกโดย 2 พระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังแห่งลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ย่อมมีพลังอานุภาพความขลังความศักดิ์สิทธิ์ถึง 2 เท่าตัว องค์ในภาพนี้ คือ พระผงขมิ้นเสก พิมพ์พระนาคปรก กรอบมนแบบพระซุ้มกอ หลังจารลายมือ หลวงปู่เพิ่ม เป็นพระเก่าเก็บของ เต๋อสมิหลา สงขลา นักสะสมพระเครื่องระดับชาวบ้าน



พระชุดเบญจภาคี พระนาคปรกใบมะขามยอดนิยม ประกอบด้วย พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท, พระนาคปรกใบมะขาม ท่านเจ้าคุณสุนทรสมาจาร (พรหม) วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี, พระนาคปรกใบมะขาม ท่านเจ้าคุณพระสนิทสมณคุณ วัดท้ายตลาด ธนบุรี, พระนาคปรกใบมะขาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ธนบุรี และ พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จ.สมุทรสงคราม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพระนาคปรกใบมะขามยอดนิยมที่หายากสุดๆ จัดเป็น พระชุดเล็ก ที่มีพุทธคุณเลิศล้ำในทุกด้าน องค์ในภาพนี้ คือ พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เนื้อเมฆพัด มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์เข็มเดียว, พิมพ์สองเข็ม และพิมพ์มีจุด องค์ในภาพนี้ คือ พิมพ์เข็มเดียว ของ หมอต้น ศิริราช สุดยอดนักสะสมพระเครื่องหลากหลายประเภท



พระปิดตาจัมโบ้ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่าพระ ธนบุรี เนื้อผง ผสมเกศา ปี 2520 เดิมทีทางวัดเรียกว่า พระปิดตามหาลาภ พิมพ์ใหญ่ แต่ชาวบ้านเห็นว่าองค์พระใหญ่เป็นพิเศษ (ขนาดองค์พระกว้างประมาณ 3.0 ซม. สูงประมาณ 3.6 ซม. หลังอูมหนา 1.4 ซม.) ก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครสร้างพระปิดตาองค์ใหญ่เท่านี้ ก็เลยเรียกว่า พระปิดตาจัมโบ้ ตอนออกให้บูชาใหม่ๆ องค์ละ 100 บาท ชาวบ้านก็ยังไม่ค่อยสนใจเช่าบูชา เพราะขนาดองค์พระใหญ่เกินจะแขวนได้ และราคาก็สูงด้วย (สำหรับสมัยนั้น) ต่อมาไม่นานมีนายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้ให้ลูกน้องไปบูชาพระปิดตารุ่นนี้จากวัดจำนวนหนึ่ง เพื่อเอาไปแจกให้ผู้ใต้บังคับบัญชา สมัยนั้นมีผู้นำไปทดลองยิงปรากฏว่ายิงไม่ออก เป็นที่โจษขานกันในหมู่นายทหาร ทำให้ผู้ทราบเรื่องพากันไปเช่าพระปิดตารุ่นนี้ที่วัดอย่างต่อเนื่อง เพียงไม่กี่วันพระก็หมดไปจากวัด จนมีการซื้อขายในหมู่คนที่รู้จักกัน ด้วยราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงองค์ละ 1 พันบาท  มาถึงทุกวันนี้องค์สวยๆ ก็ต้องว่ากันที่หลักแสนขึ้นไป พระปิดตาจัมโบ้ สร้างด้วย เนื้อผงใบลาน 1,272 องค์, เนื้อผงเกสร 57 องค์ และเนื้อผงสมเด็จ 16 องค์ พระทุกองค์ผสมเส้นเกศาและบรรจุตะกรุดเงิน 1 ดอกที่ด้านล่างขององค์พระ ในภาพนี้เป็นพระเนื้อผงใบลาน ของ เบ็นซ์ ทวีทรัพย์ คนหนุ่มสายเลือดใหม่ผู้สนใจพระเครื่องหลากหลายประเภท



พ่อท่านจันทร์ สุเมโธวัดทุ่งเฟื้อ อ.เชียรใหญ่ เป็นพระอริยสงฆ์ผู้ทรงวิทยาคุณสูงรูปหนึ่งของ จ.นครศรีธรรมราช ท่านได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน จาก พระครูอรรถธรรมรส(พ่อท่านซัง) วัดวัวหลุง,พ่อท่านเอียด (ดำ) วัดในเขียว,พ่อท่านเอียด (ขำ) วัดหรงบน,พ่อท่านทอง วัดดอนสะท้อน ฯลฯ จนมีวิชาอาคมแก่กล้ามาก สามารถเรียกและตัดเหล็กไหลได้ อาจารย์ขุนพันธรักษ์ราชเดช ให้ความเคารพนับถือมาก...


center

เมื่อ พ.ศ.2513 ท่านได้สร้าง เหรียญรุ่นแรก เป็นที่ระลึกงานฉลองอายุ 70 ปี เป็นเหรียญสี่เหลี่ยมรูปเหมือนหลังยันต์ห้า ท่านมีความมั่นใจในเหรียญรุ่นนี้มาก ถึงกับเคยประกาศว่า "หากยิงออก ไม่ต้องเอาไป" ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532 ต่อมาปรากฏว่า สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด กลับแข็งดุจหิน แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วหลายปี…ปัจจุบันเหรียญรุ่นแรกสภาพสวยๆ เหมือนในภาพนี้พบเห็นได้น้อยมาก สนนราคาหลักหมื่นกลางขึ้นไป เหรียญนี้เป็นของ รศ.จิรพัฒน์ เงาประเสริฐวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ…ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาตลอด...อายุบวร