ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 16

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 9085 ครั้ง

ข่าวการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.52 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษา 89 พรรษา ทรงครองราชย์ 70 ปี นับเป็นความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ของชาวไทยทั่วประเทศ รวมทั้งชาวไทยในต่างแดนเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนชาวไทยให้ความเคารพรักอย่างสูงสุดนั่นเอง


ยอดนิยมจากคมเลนส์ วันนี้ จึงขอนำเสนอพระเครื่องและเหรียญอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์ซึ่งมีจำนวนมาก แต่จะนำมาให้ชมเพื่อการศึกษาเป็นเพียงบางรุ่น อาทิ พระสมเด็จจิตรลดา ซึ่งเป็นพระเครื่องเพียงรุ่นเดียวที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสร้างขึ้นทุกขั้นตอน ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยทรงสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2508 ติดต่อกันไปจนถึงปี 2513 รวมจำนวนพระสมเด็จจิตรลดา ที่ทรงสร้างทั้งหมดประมาณ 3,000 องค์ พระองค์ได้พระราชทาน พระสมเด็จจิตรลดา นี้แก่ข้าราชบริพาร, ข้าราชการ, ทหาร, ตำรวจ ฯลฯ โดยมีใบกำกับองค์พระให้กับผู้ที่ได้รับพระราชทานในภายหลัง พระสมเด็จจิตรลดา องค์ในภาพนี้เป็นพระรุ่น ปี 2511 สภาพสวยสมบูรณ์มาก เป็นพระของ นพ.มาณพ โกวิทยา


พระสมเด็จจิตรลดา ปี 2511 ของ น.พ.มาณพ โกวิทยา
พระสมเด็จจิตรลดา ปี 2511 ของ น.พ.มาณพ โกวิทยา

เหรียญทรงผนวช ปี 2508 สร้างโดย วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 4 ประการ (จาตุรงคมงคล) เหรียญที่สร้างมีเนื้อทองคำ, เนื้อเงิน, เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ทั่วไป และ พิมพ์นิยม ผลิตโดยกองกษาปณ์ กระทรวงการคลัง ในภาพนี้เป็นเหรียญเนื้อทองคำ ของ ต้น ท่าพระจันทร์ (ความจริง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.2499 แต่ เหรียญทรงผนวช สร้างในพ.ศ.2508 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศล จาตุรงคมงคล คือ พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 4 ประการ ในระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2508 อันได้แก่ 1. พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุ 38 พรรษา เสมอสมเด็จพระราชบิดา  2. พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2508  3. พระราชพิธีฉลองสมโภชพระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2508  และ  4. ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมศิลาแผ่นแรก ที่จะผนึกผนังพระอุโบสถ เป็นปฐมฤกษ์ที่จะผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถในกาลต่อไป)


เหรียญทรงผนวช ปี 2508 วัดบวรนิเวศวิหาร เนื้อทองคำ ของ ต้น ท่าพระจันทร์
เหรียญทรงผนวช ปี 2508 วัดบวรนิเวศวิหาร เนื้อทองคำ ของ ต้น ท่าพระจันทร์

เหรียญอนุสรณ์มหาราช หรือ เหรียญ 3 รอบ สร้างขึ้นในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมายุครบ 36 พรรษา หรือ 3 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2506 เหรียญนี้ผลิตด้วยเนื้อทองคำ, เนื้อเงิน และเนื้ออัลปาก้า ผู้สมทบทุน 1 บาท ได้รับเหรียญเนื้ออัลปาก้า 1 เหรียญ, ผู้สมทบทุน 5 บาท ได้รับเหรียญเนื้อเงิน 1 เหรียญ พิธีปลุกเสกใหญ่ ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธฯ 2 วาระด้วยกัน ในภาพนี้เป็น เหรียญเนื้อทองคำ ของ บอย ท่าพระจันทร์


เหรียญอนุสรณ์มหาราช (เหรียญ 3 รอบ) ปี 2506 เนื้อทองคำ ของ บอย ท่าพระจันทร์
เหรียญอนุสรณ์มหาราช (เหรียญ 3 รอบ) ปี 2506 เนื้อทองคำ ของ บอย ท่าพระจันทร์

เหรียญพระมหาชนก ปี 2539 สร้างขึ้นเพื่อให้คู่กันกับหนังสือพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก ตามพระราชประสงค์ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหรียญนี้ออกแบบโดย ศ.นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.2549 สร้างด้วยเนื้อทองคำ, เนื้อนาก และเนื้อเงิน มีทั้งเหรียญพิมพ์ใหญ่ และเหรียญพิมพ์เล็ก ผู้สั่งจองหนังสือ พระมหาชนก ชุดละ 50,000 บาท  จะได้รับเหรียญพิมพ์ใหญ่ 1 ชุด ในภาพนี้เป็น เหรียญทองคำ พิมพ์ใหญ่ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต


เหรียญพระมหาชนก ปี 2539 เนื้อทองคำ พิมพ์ใหญ่ ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.
เหรียญพระมหาชนก ปี 2539 เนื้อทองคำ พิมพ์ใหญ่ ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประทับบนพระราชอาสน์บัลลังก์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า เหรียญในหลวงนั่งบัลลังก์ สร้างขึ้นโดย กระทรวงมหาดไทย ในวาระเฉลิมฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มากมาย ในด้านแคล้วคลาดปลอดภัยของทหารและตำรวจตลอดมา จัดสร้างด้วย เนื้อทองสัมฤทธิ์ 25,390 เหรียญ, เนื้อทองคำขัดเงา 25,390 เหรียญ, เนื้อเงินขัดเงา 5,000,000 เหรียญ และเนื้ออัลปาก้า 5,000,000 เหรียญ เฉพาะเนื้ออัลปาก้า ทำบุญเหรียญละ 10 บาท ปัจจุบันเช่าหากันที่หลักร้อยกลางขึ้นไปถึงหลักพัน ในภาพนี้เป็นเหรียญอัลปาก้า ของ เต๋อ สมิหลา สงขลา


เหรียญในหลวงนั่งบัลลังก์ ปี 2539 เนื้ออัลปาก้า ของ เต๋อ สมิหลา สงขลา
เหรียญในหลวงนั่งบัลลังก์ ปี 2539 เนื้ออัลปาก้า ของ เต๋อ สมิหลา สงขลา