ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 17

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 12015 ครั้ง

สัปดาห์นี้ ยังคงเป็นเรื่องของเหรียญที่ระลึกอันเกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันดับแรก คือ เหรียญพระแก้วมรกต เนื่องในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525 ในสมัยรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานโครงการ ในการนี้ได้มีการจัดสร้าง เหรียญพระแก้วมรกต ทั้ง 3 ฤดู ให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว โดย พระมหาเถระจำนวน ๑๐ รูป นั่งปรกปลุกเสก ในภาพนี้เป็นชุดเนื้อทองคำ ของ ต้น ท่าพระจันทร์(เหรียญรุ่นนี้มีการจัดสร้างครั้งที่ 2 ในเวลาไล่เลี่ยกัน เหรียญรุ่นที่ 2 มีข้อความเล็กๆ ใต้พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ว่า “พระราชศรัทธา”


เหรียญพระแก้วมรกต 3 ฤดู สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี 6 เมษายน 2525 เนื้อทองคำ ของ ต้น ท่าพระจันทร์
เหรียญพระแก้วมรกต 3 ฤดู สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี 6 เมษายน 2525 เนื้อทองคำ ของ ต้น ท่าพระจันทร์

อันดับที่ 2 เหรียญเฉลิมพระเกียรติมหามงคลสมัย ใน พระราชพิธีเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 5 ธันวาคม 2530 เป็นเหรียญกลมรี เนื้อเงินกะไหล่ทอง กลางเหรียญมี พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเครื่องขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย ด้านล่างมีข้อความว่า “ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙”


ด้านหลัง เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้พระสัปตปฎลเศวตฉัตร มีพระมหาอุณาโลมประดิษฐานอยู่กลางพระแสงจักร มีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ


ภายในวงกลมขอบเหรียญมีข้อความ “มหามงคลพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา” เบื้องล่างมีข้อความ “๕ ธันวาคม ๒๕๓๐”ขอบนอกเบื้อบนมีจักรและตรีศูล อันเป็นสัญลักษณ์และตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ (ภาพและข้อมูลจากหนังสือ “เหรียญรัชกาล ๙” พ.ศ.๒๕๓๙)



เหรียญพระราชพิธีเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา 5 ธันวาคม 2530 เนื้อเงินกะไหล่ทอง (ภาพและข้อมูลจากหนังสือ "เหรียญรัชกาล ๙" พ.ศ.๒๕๓๙)
เหรียญพระราชพิธีเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา 5 ธันวาคม 2530 เนื้อเงินกะไหล่ทอง (ภาพและข้อมูลจากหนังสือ "เหรียญรัชกาล ๙" พ.ศ.๒๕๓๙)

อันดับที่ 3 เหรียญนวมหาราช เป็นเหรียญที่มีพระรูปของพระมหากษัตริย์ไทยที่ได้รับการเทิดทูนขึ้นเป็น มหาราช ของชาติไทย 9 พระองค์ ตั้งแต่สมัยล้านนา จนถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดสร้างเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ และพระบุญญาธิการของพระมหาราชของชาติไทยทั้ง 9 พระองค์ โดย สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมศิลปากร ออกแบบ กรมธนารักษ์ ดำเนินการสร้าง ประกอบพิธีมหาราชาภิเษก ณ วัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2530 สร้างด้วยเนื้อโลหะต่างๆ คือ ทอง เงิน นวโลหะ ทองแดง บรอนซ์ เหรียญในภาพนี้เป็นของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์


เหรียญนวมหาราช 12 มี.ค.2530 ของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์
เหรียญนวมหาราช 12 มี.ค.2530 ของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์

อันดับที่ 4 เหรียญพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก 3 เชือก ณ จ.เพชรบุรี พ.ศ.2521  ตามคติความเชื่อ ช้างเผือก หากเกิดขึ้นในรัชกาลใด ถือเป็นความสิริมงคลแก่บ้านเมืองและราชบัลลังก์ จึงมีประเพณีประกอบพระราชพิธีสมโภช เพื่อขึ้นระวางเป็น พระยาช้างต้น หรือ นางพระยาช้างต้น ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีการพบ ช้างเผือก10 เชือก ในจำนวนนี้เป็น ช้างเผือก ที่ได้มาจาก จ.เพชรบุรี 3 เชือก คือ พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ, พระเทพรัตนกิริณีฯ และ พระบรมนัขทัศ จึงได้มีพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก 3 เชือกนี้ขึ้นเมื่อ ปี 2521 และได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกในโอกาสนี้ด้วย โดยสร้างด้วยเนื้อโลหะทองคำ, เงิน และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง (เหรียญในภาพนี้) ของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์


เหรียญพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก 3 เชือก ณ จ.เพชรบุรี พ.ศ.2521 ของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์
เหรียญพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก 3 เชือก ณ จ.เพชรบุรี พ.ศ.2521 ของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์

อันดับที่ 5 เหรียญเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 7 รอบ พ.ศ.2554 จัดสร้างขึ้นในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อนำรายได้สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ สำหรับอาคาร 20 ชั้น หลังใหม่ โรงพยาบาลตำรวจ จัดเป็นเหรียญที่ออกแบบได้ละเอียดประณีตมาก เป็นที่สนใจของนักสะสมทั่วไป เหรียญในภาพนี้เป็นเนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่ ของ เต๋อ สมิหลา สงขลา


เหรียญเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 7 รอบ พ.ศ.2554 เนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่ ของ เต๋อ สมิหลา สงขลา
เหรียญเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 7 รอบ พ.ศ.2554 เนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่ ของ เต๋อ สมิหลา สงขลา