ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 24

23 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 11737 ครั้ง

สวัสดีปีใหม่ 2560 ขอให้ทุกท่านมีความสุขกายสบายใจ ตลอดปีนี้และปีต่อๆ ไป ขอให้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง และขอให้ประสบความสมหวังในสิ่งอันพึงปรารถนาตลอดกาลนาน


ยอดนิยมจากคมเลนส์ ฉบับนี้เปิดศักราชใหม่ด้วยพระองค์แรก คือ พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว จ.สุพรรณบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของ เลิศ สุพรรณ...ความเป็นมาของพระกรุนี้ คือ เมื่อ พ.ศ.2486 พระอธิการถนอม เจ้าอาวาสวัดคูบัว ต.บ้านแหลม อ.บางปลาม้า ดำริจะก่อสร้างโบสถ์ ทราบว่าในที่นาของนายกัณหา และนางพัด ศรีเมือง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ 1 กม. มีเนินดินและอิฐเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไปขออิฐเหล่านั้นมาสร้างโบสถ์ เจ้าของที่นาไม่ขัดข้อง พระอธิการถนอม จึงเกณฑ์พระเณรลูกศิษย์วัดและชาวบ้านไปช่วยกันขุดดินขนอิฐมาไว้ที่วัด ขณะที่ขุดดินขนอิฐอยู่นั้น ได้พบไหโบราณใบหนึ่งบรรจุพระเครื่องพิมพ์ พระร่วง เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ประมาณ 200-300 องค์ นายกัณหาได้นำพระที่ขุดได้ไปถวายพระอธิการถนอม ท่านได้เก็บพระชุดนี้ไว้เป็นเวลานาน ใครมาขอท่านก็แจกให้ฟรีๆ ต่อมาอีก 20 ปี พระร่วงกรุวัดคูบัว ได้เริ่มเข้าสู่สนามพระเมืองสุพรรณฯ นักนิยมพระเครื่องเห็นเข้าต่างรู้ว่าเป็นพระเก่าแท้ เนื้อสนิมแดงสวยงาม เมื่อสืบหาก็ทราบว่าได้มาจาก วัดคูบัว จึงเรียกว่า พระร่วงกรุวัดคูบัว มี 2 พิมพ์คือ พระร่วงยืน (ใหญ่-เล็ก) และ พระร่วงนั่ง อีกจำนวนหนึ่ง เป็นพระเนื้อชินสนิมแดงเข้มจัด มีสนิมไขขาวขึ้นปกคลุมอีกชั้นหนึ่ง ศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น หรืออู่ทองสุวรรณภูมิ ซึ่งมีอิทธิพลของศิลปะขอมปะปนอยู่ด้วย...ทุกวันนี้จัดเป็น พระร่วง ยอดนิยมพิมพ์หนึ่งของวงการพระ และหายากด้วย  (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจากหนังสือพระฯเมืองสุพรรณ โดย อ.มนัส โอภากุล)


พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว จ.สุพรรณบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของ เลิศ สุพรรณ
พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว จ.สุพรรณบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของ เลิศ สุพรรณ

วัดชีปะขาวหาย จ.พิษณุโลก เป็นวัดเก่าแก่สร้างในยุคเดียวกับ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในสมัย พระมหาธรรมราชาลิไท ที่ วัดชีปะขาวหาย มีการขุดพบพระเครื่องที่มีลักษณะแบบเดียวกับ พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง กรุงศรีอยุธยา พระที่ขุดพบมี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง อยุธยา พิมพ์สมาธิ ด้านหลังมีรอยกาบหมาก และหลังเรียบ เป็นพระเนื้อดินเผา...แบบที่ 2 พระหลวงพ่อโป้ (หรือ พระโป้) เป็นแบบไม่มีกนกข้าง พิมพ์ทรงเหมือนกับที่พบในกรุงศรีอยุธยา แต่พระหลวงพ่อโต วัดชีปะขาวหาย มีขนาดกว่าเล็กกว่า เป็นขยาดกะทัดรัดน่ารักมาก องค์ในภาพนี้เป็นพระของ ฐกร บึงสว่าง บมจ.หลักทรัพย์ แอพเพิลเวลท์


พระหลวงพ่อโต กรุวัดชีปะขาวหาย จ.พิษณุโลก ของ ฐกร บึงสว่าง บมจ.หลักทรัพย์ แอพเพิลเวลท์
พระหลวงพ่อโต กรุวัดชีปะขาวหาย จ.พิษณุโลก ของ ฐกร บึงสว่าง บมจ.หลักทรัพย์ แอพเพิลเวลท์
พระหลวงพ่อโต กรุวัดชีปะขาวหาย จ.พิษณุโลก ของ ฐกร บึงสว่าง บมจ.หลักทรัพย์ แอพเพิลเวลท์
พระหลวงพ่อโต กรุวัดชีปะขาวหาย จ.พิษณุโลก ของ ฐกร บึงสว่าง บมจ.หลักทรัพย์ แอพเพิลเวลท์

หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม คลองสาน ธนบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมถกรรมฐาน จนสำเร็จวิชา “เจโตกสิณ” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง พระเนื้อเมฆสิทธิ์ นอกจากนี้หลวงปู่ทับ ยังเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐานอีกด้วย พระเนื้อเมฆสิทธิ์ เป็นพระเนื้อโลหะพิเศษ ที่เกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุ โดยเอาแร่ธาตุต่างๆ มาผสมกัน พร้อมกับใช้เวทมนต์เสกคาถากำกับ ผู้มีวิชาอาคมสูงเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ พระเนื้อเมฆสิทธิ์ ของ หลวงปู่ทับ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สีเขียวเข้มเหมือนปีกแมลงทับ เนื้อเปราะแตกหักง่าย ท่านได้สร้างพระพิมพ์ต่างๆ อาทิ พระพิมพ์ปางซ่อนหา พิมพ์ใหญ่, พิมพ์เล็บมือ, พิมพ์เล็ก, พิมพ์พระหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ฯลฯ ที่นิยมสุด เช่าหากันแพง  คือ พระพิมพ์ปางซ่อนหา ที่เห็นในภาพนี้ องค์นี้เป็นพระของ รศ.จิรพัฒน์ เงาประเสริฐวงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


center
พระปางซ่อนหา หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม เนื้อเมฆสิทธิ์ ของ รศ.จิรพัฒน์ เงาประเสริฐวงศ์

พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน รุ่นแรก ปี 2497 ที่นิยมกันมาก สนนราคาสูง คือ พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็ก หรือ พิมพ์พระรอด หมายถึงขนาดองค์พระเล็กเท่ากับ พระรอด กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน มิได้หมายความว่ามีพิมพ์ทรงองค์พระเหมือนกับ พระรอด กรุวัดมหาวัน แต่อย่างใด พระหลวงพ่อทวด พิมพ์พระรอด มี 2 พิมพ์ย่อย คือ พิมพ์หน้าใหญ่ และ พิมพ์หน้าเล็กทั่วไป ความนิยมอยู่ที่ พิมพ์หน้าใหญ่ สนนราคาเช่าหากันสูงกว่า เนื่องจากองค์พระล่ำสัน คมชัดลึกกว่า องค์ในภาพนี้ คือ พิมพ์พระรอด หน้าใหญ่ สวยสมบูรณ์ดูง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็น พิมพ์ทรง หรือ เนื้อว่าน ถือเป็นพระแท้องค์ครู พระสวยองค์จริง ได้เลย ส่งประกวดติดรางวัลชนะเลิศมาแล้วหลายครั้ง องค์นี้เป็นพระของ เอก ท่าพระจันทร์ ผู้ชำนาญพระสายนี้ รวมทั้งพระหลักนิยมสายอื่นๆ อีกด้วย


พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน รุ่นแรก ปี 2497 พิมพ์พระรอดหน้าใหญ่ ของ เอก ท่าพระจันทร์
พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน รุ่นแรก ปี 2497 พิมพ์พระรอดหน้าใหญ่ ของ เอก ท่าพระจันทร์

เหรียญหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พิมพ์สี่เหลี่ยม รุ่น 2 เนื้อเงิน ปี 2496 เหรียญรุ่นนี้สร้างเลียนแบบเหรียญรุ่นแรก โดยแกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีทั้งหลังยันต์ห้าและหลังยันต์ครู มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงิน กับ เนื้อทองแดง ที่เห็นในภาพนี้เป็น เนื้อเงิน สร้างน้อยและหายาก ก้อง กิ่งแก้ว ผู้ชำนาญพระสายนี้บอกว่า เหรียญเนื้อเงินรุ่นนี้พบเห็นในวงการไม่เกิน 10 เหรียญ (เนื้อเงินมีเฉพาะหลังยันต์ห้าเท่านั้น) เหรียญสภาพสวยเหมือนในภาพนี้เช่าหากันที่หลักแสนกลางขึ้นไป เป็นเหรียญของ ทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ซึ่งเป็นลุงแท้ๆ ของ ก้อง กิ่งแก้ว สาเหตุที่มีการสร้างเหรียญรุ่นนี้ ก้อง กิ่งแก้ว ให้ข้อมูลว่า...เมื่อปี 2496 หลวงปู่เผือก ได้วางโครงการจัดสร้าง “เจดีย์” ในวัด ได้มีผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท ซึ่งทางวัดพอมีปัจจัยชำระได้บ้าง แต่เมื่อเจดีย์สร้างเสร็จแล้ว ผู้รับเหมาก่อสร้างเอาสัญญามาให้ดู ระบุค่าก่อสร้างเป็นเงิน 400,000 บาท จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นมานี้ทำให้ หลวงปู่เผือก ต้องสร้างพระเครื่องขึ้นมาหลายพิมพ์ในปีนั้น เพื่อหาเงินไปใช้หนี้ให้กับคนที่โกงวัด...ต่อมาปรากฏว่า คนที่โกงวัดไปนั้นบ้านถูกไฟไหม้ ครอบครัวแตกแยกสาแหรกขาด หมดเนื้อหมดตัวไปตามๆ กัน เพราะเวรกรรมที่สร้างขึ้นมาเอง


เหรียญหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว พิมพ์สี่เหลี่ยม รุ่น 2 เนื้อเงิน ปี 2496 ของ ทรงชัย นกขมิ้นนายก อบต.ราชาเทวะ
เหรียญหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว พิมพ์สี่เหลี่ยม รุ่น 2 เนื้อเงิน ปี 2496 ของ ทรงชัย นกขมิ้นนายก อบต.ราชาเทวะ
ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า ขอให้ทุกท่านมีโอกาสเป็นเจ้าของ พระแท้ โดยทั่วกัน