ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่38

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 15094 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์

แล่ม จันท์พิศาโล

////////////////////////////////////////////

พระกริ่ง 7 รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2499 ของ พจนารถ ภัสสรศิริกุล (เฉิน รังเทพ)(ด้านหน้า)
พระกริ่ง 7 รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2499 ของ พจนารถ ภัสสรศิริกุล (เฉิน รังเทพ)(ด้านหลัง)
พระกริ่ง 7 รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2499 ของ พจนารถ ภัสสรศิริกุล (เฉิน รังเทพ)(ด้านล่าง)

     พระกริ่ง 7 รอบ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2499 เป็นพระกริ่งที่จำลองแบบองค์พระมาจากพระพุทธชินสีห์ สร้างในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ ของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) พระราชอุปัธยาจารย์ใน พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คราวทรงพระผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2499 ตามกำหนดเดิมพิธีเททอง พระกริ่ง 7 รอบ จะมีขึ้นในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2499 แต่พอถึงวันดังกล่าว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระประชวร จึงทรงมอบหมายให้ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพิธีเททองแทน ต่อมาอีก 2 วัน พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลาพระผนวช  จึงนับได้ว่า พระกริ่ง 7 รอบ เป็นพระกริ่งเพียงรุ่นเดียวที่ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพิธีเททองขณะทรงพระผนวช จึงเป็นพระกริ่งที่นักสะสมนิยมแสวงหากันอย่างกว้างขวาง องค์ในภาพนี้เป็นพระสภาพสวยแชมป์ พระหล่อได้สมบูรณ์มาก หน้าตาติดคมชัด จมูกโด่ง หูตากระพริบ ผิวเดิมๆ มีน้ำทองกระจายทั่วองค์พระ เป็นพระกริ่งติดรางวัลที่ 1 งานสมาคมฯ รับรองมาแล้วถึง 3 ครั้ง เป็นพระของพจนารถ ภัสสรศิริกุล (เฉิน รังเทพ) ร้านรังเทพ ชั้น 3 ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน 


พระปิดตาหลวงพ่อผุด วัดวังเวียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เนื้อผงคลุกรัก ประมาณปี 2454 ของ หมู เกาะกง (ธิติเดช ทองภัทร)(ด้านหน้า)
พระปิดตาหลวงพ่อผุด วัดวังเวียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เนื้อผงคลุกรัก ประมาณปี 2454 ของ หมู เกาะกง (ธิติเดช ทองภัทร)(ด้านหลัง)

     พระปิดตาหลวงพ่อผุด วัดวังเวียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สร้างประมาณปี 2454 เป็นพระปิดตาอันดับ 1 ของ จ.จันทบุรี  หลวงพ่อผุด เป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยกับ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา พระปิดตาของท่านทั้ง 2 มีเนื้อหาและลักษณะพิมพ์ทรงใกล้เคียงกัน สมัยก่อนชื่อของ หลวงพ่อผุด ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก จึงมีคนนำพระของท่านไปขายเป็นพระของหลวงปู่จีน เสมอ พระปิดตาหลวงพ่อผุด มีพุทธคุณเด่นทางเมตตา แคล้วคลาด องค์นี้เป็น พระปิดตาพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงมาตรฐาน  หมู เกาะกง (ธิติเดช ทองภัทร) พบเห็นในสนามพระที่ กทม. จึงขอแบ่งจากเจ้าของเดิม นิมนต์กลับบ้านที่ จ.ตราด ทันที


พระปิดตาหลวงพ่อผุด วัดวังเวียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เนื้อผงคลุกรัก ประมาณปี 2454 ของ หมู เกาะกง (ธิติเดช ทองภัทร)(ด้านหน้า)
พระปิดตาหลวงพ่อผุด วัดวังเวียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เนื้อผงคลุกรัก ประมาณปี 2454 ของ หมู เกาะกง (ธิติเดช ทองภัทร)(ด้านหลัง)

     พระสมเด็จ วัดระฆัง ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างขึ้นเอง ทุกวันนี้มีราคาเกินหลักล้าน สูงเกินเอื้อมสำหรับนักสะสมพระเครื่องคนรุ่นใหม่ หลายคนจึงหันมามอง พระสมเด็จ วัดระฆัง รุ่น อนุสรณ์ฯ 100 ปี แห่งวันมรณภาพ สมเด็จฯ โต พ.ศ.2515 ที่กำลังมาแรงในชั่วโมงนี้ มีการจับกลุ่มสะสม / แลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างกว้างขวาง โดยมี ป.สตูดิโอ ผู้ชำนาญพระสายนี้เป็นสื่อกลาง วันนี้ได้ส่งภาพ พระสมเด็จ วัดระฆัง ๑๐๐ ปี มาให้ชมเป็นวิทยาทาน องค์นี้เป็น พิมพ์เส้นด้ายลึก สภาพสวยคมชัด ผิวพรรณเดิมๆ พระเศียรกลมโต พระเกศเรียวยาว ลำพระองค์เต็ม แขนเต็ม พระกดได้เต็มพิมพ์ดีมาก ด้านหลังเข้มจัดจ้าน จัดเป็น พระแท้ดูง่าย ไร้รอยชำรุดอุดซ่อมใดๆ


เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี พิมพ์รูปไข่ บล็อก 10 ขีด เนื้ออัลปาก้า ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช(ด้านหน้า)
เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี พิมพ์รูปไข่ บล็อก 10 ขีด เนื้ออัลปาก้า ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช(ด้านหลัง)

     เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี ที่สร้างในสมัย พระอาจารย์ทิม ส่วนใหญ่จะเป็นพิมพ์เสมา และ พิมพ์รูปไข่ เป็นมาตรฐาน กล่าวสำหรับ เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์รูปไข่ ที่เป็นยอดนิยมรุ่นหนึ่ง คือ เหรียญบล็อก 10 ขีด รุ่นนี้สร้างในช่วงปี 2504-2505 เท่าที่พบเห็นมีเฉพาะ เนื้ออัลปาก้า เอกลักษณ์สำคัญของบล็อกนี้ คือ ด้านหลังเหรียญ บริเวณไหล่ซ้าย พระอาจารย์ทิม จะมี เส้นแตก คล้ายรอยขีด เรียงกัน 2 แถว แถวละ 5 ขีด รวมเป็น 10 ขีด อันเป็นที่มาของชื่อ “บล็อก 10 ขีด”  ข้อมูลและภาพจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรังพระใหญ่สาย หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี


เหรียญแสตมป์ ท่านพ่อจตุคามรามเทพ ปี 2530 แบบไม่มีห่วง ยันต์ด้านข้าง พิมพ์ฉอจุด หลังเฮง เนื้อทองแดง ของ อ๊อด พันล้าน(ด้านหน้า)
เหรียญแสตมป์ ท่านพ่อจตุคามรามเทพ ปี 2530 แบบไม่มีห่วง ยันต์ด้านข้าง พิมพ์ฉอจุด หลังเฮง เนื้อทองแดง ของ อ๊อด พันล้าน(ด้านหลัง)

     หนึ่งในวัตถุมงคลชุด องค์ท่านพ่อจตุคามรามเทพ หลักเมืองนครศรีธรรมราช ที่นิยมกันมาก คือเหรียญแสตมป์ ปี 2530 มี 2 แบบ คือ แบบมีห่วงและแบบไม่มีห่วง จำนวนสร้างแบบละ 60,000เหรียญ เหรียญไม่มีห่วง จะมียันต์ด้านข้าง สร้างด้วยเนื้อนวโลหะ, เนื้อทองฝาบาตร, เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง มี 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ฉอจุด หลังเฮง, พิมพ์หลังเฮง, พิมพ์หลัง จ.ชัด, พิมพ์หลัง จ.เลือน และพิมพ์ทั่วไป เหรียญในภาพนี้เป็น พิมพ์ฉอจุด หลังเฮง เนื้อทองแดง พิมพ์นี้เนื้อทองแดงมีน้อย และหายาก มีค่านิยมสูง เคยขึ้นถึง 5-6 หมื่นบาท รองจากเนื้อนวโลหะ... เหรียญในภาพนี้เป็นของ อ๊อด พันล้าน เซียนพระสายตรง จตุคามรามเทพ ผู้ศรัทธามั่นคงองค์พ่อมาตลอด