ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่39

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 16077 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล

////////////////////////////////////////////

พระสมเด็จ พิมพ์ฐานคู่ กรุวัดบางขุนพรหม (ภาพจากหนังสือ พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ <โต พรหมรังสี> วัดระฆัง+วัดบางขุนพรหม จัดทำโดยนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์”(ด้านหน้า)
พระสมเด็จ พิมพ์ฐานคู่ กรุวัดบางขุนพรหม (ภาพจากหนังสือ พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ <โต พรหมรังสี> วัดระฆัง+วัดบางขุนพรหม จัดทำโดยนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์”(ด้านหลัง)

          พระสมเด็จ กรุวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กทม. จัดสร้างโดย เสมียนตราด้วง ผู้เป็นต้นตระกูล "ธนโกเศศ" เมื่อ พ.ศ.2411 โดยได้อาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ธนบุรี ประกอบพิธีสร้างพระเครื่อง (พระสมเด็จ) พร้อมกับขอผงวิเศษเป็นส่วนผสม จำนวนพระที่สร้างประมาณ 84,000 องค์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จฯโต ได้ทำพิธีปลุกเสกเมื่อ พ.ศ.2413 เสมียนตราด้วง ได้นำพระสมเด็จทั้งหมดบรรจุกรุในเจดีย์องค์ใหญ่ หลังอุโบสถวัดใหม่อมตรส มีทั้งหมด 4  พิมพ์ที่เหมือนกับของ วัดระฆัง คือ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ทรงเจดีย์, พิมพ์เกศบัวตูม และพิมพ์ฐานแซม รวมกับอีก 6 พิมพ์ใหม่ คือ พิมพ์เส้นด้าย, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์ฐานคู่, พิมพ์อกครุฑ, พิมพ์ปรกโพธิ์, และพิมพ์ไสยาสน์  ต่อมาเมื่อก่อน พ.ศ.2500 ได้มีชาวบ้านไปตกเบ็ดเอา พระสมเด็จ ออกมาใช้ในช่วงเกิดสงคราม รวมทั้งการแอบขุดเจาะฐานเจดีย์ล้วงเอา พระสมเด็จ ออกมาอีกจำนวนมาก จนทางวัดต้องสั่งห้าม และได้ทำพิธี เปิดกรุ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2500 ได้พระสมเด็จที่สมบูรณ์ประมาณ 3,000 องค์เท่านั้น นอกนั้นชำรุดเป็นส่วนใหญ่ รวมกับที่ถูกขโมยขุดออกไปอีกหลายพันองค์ องค์ในภาพนี้ คือ พระสมเด็จ กรุบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ สภาพสวยงามสมบูรณ์มาก ด้านหลังมีคราบกรุเกาะติดแน่น เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุนี้ (ภาพจากหนังสือ พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ <โต พรหมรังสี> วัดระฆัง+วัดบางขุนพรหม จัดทำโดยนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์” รางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการ “งานประกวดพระ” จัดโดย นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 36 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ส.ค.2560 ณ ชั้น 8 ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน)


พระขุนแผนพลายคู่ตัดเดี่ยว พิมพ์หน้าฤาษี กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี ของ ณี ผักไห่(ด้านหน้า)
พระขุนแผนพลายคู่ตัดเดี่ยว พิมพ์หน้าฤาษี กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี ของ ณี ผักไห่(ด้านหลัง)

          พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี  เป็นพระเนื้อดินเผา เป็นพระเนื้อดินเผา สันนิษฐานว่าสร้างโดย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา หลังจากชนะศึกยุทธหัตถีที่ต่อสู้กับแม่ทัพพม่า เมื่อกว่า 400 ปีก่อน จำนวนพระที่สร้างมีมากมาย คาดว่าน่าจะเป็นจำนวน 84,000 องค์ มีจำนวนพิมพ์กว่า 60 พิมพ์ ฝีมือการแกะแม่พิมพ์หลายพิมพ์ที่มีความงดงามอลังการมาก จนเชื่อว่าเป็นฝีมือ “ช่างหลวง” ในกองทัพ นอกจากนี้ยังมีพระบางองค์มีลักษณะติดกัน 2 องค์ ที่เรียกกันต่อมาว่า พระขุนแผนพลายคู่ องค์ในภาพนี้เป็น พระขุนแผนพลายคู่ตัดเดี่ยว พิมพ์หน้าฤาษี เนื้อพระค่อนข้างละเอียด มีเม็ดแร่ประปราย และที่สำคัญของพระกรุนี้ คือ มี “รอยว่านหลุด” ปรากฏอยู่ด้วย สภาพองค์พระสมบูรณ์คมชัด แท้ดูง่าย เป็นพระของ ณี ผักไห่ เซียนพระหญิงเงินล้าน ผู้ก้าวมาจากสาวโรงงาน ได้ศึกษาจากพระแท้องค์จริง จนสามารถดูพระได้อย่างแม่นยำในทุกวันนี้


เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง รุ่นแรก พ.ศ.2460 ของ ต้น ท่าพระจันทร์(ด้านหน้า)
เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง รุ่นแรก พ.ศ.2460 ของ ต้น ท่าพระจันทร์(ด้านหลัง)

         พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ที่ชาวจีนเรียกว่า ซำปอฮุดกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 7 วา 10 นิ้ว ความสูง 9 วา 2 ศอก พุทธลักษณะแบบสมัยอู่ทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่ วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา มานานปี มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวจีน ให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสอย่างกว้างขวาง และมีการจัดงานประจำปีเพื่อสักการบูชาทุกปี รวมทั้งวันธรรมดาก็มีผู้คนไปกราบไหว้บูชาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา....เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง รุ่นแรก พ.ศ.2460 เป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม หูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดง กะไหล่เงิน กะไหล่ทอง และรมดำ ด้านหน้าเป็นรูปจำลอง พระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่ง ปางมารวิชัย เหนืออาสนะ ด้านข้างทั้งซ้ายและขวามีพระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ และ พระสารีบุตร ยืนหันข้าง ด้านหลังเป็นพื้นเรียบ ตรงกลางเป็น "ยันต์ 3" บรรจุอักขระขอม 4 ตัว อ่านว่า "อิ สวา สุ อิ" ด้านบนของยันต์เป็นอักษรไทยว่า "วัดพนัญเชิง กรุงเก่า" ด้านล่างเป็นอักษรจีน 4 ตัว อ่านว่า "ซำปอฮุดกง" เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง มีการจัดสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2460 ต่อมามีการจัดสร้างอีกใน พ.ศ.2485,พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2533 รูปแบบพิมพ์ทรงเหมือนกับเหรียญรุ่นแรกเป็นส่วนใหญ่ สำหรับ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2460 ราคาเช่าหาอยู่ที่หลักล้านบาทขึ้นไป เหรียญในภาพนี้สภาพเดิมๆ สวยสมบูรณ์คมชัดมาก ของ ต้น ท่าพระจันทร์ แชมป์แฟนพันธุ์แท้พระเหรียญ ปี 2551


เหรียญหล่อโบราณ หลวงพ่อกล่อม วัดโพธาวาส จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2470 ของ เซี๊ย วัดหนัง(ด้านหน้า)
เหรียญหล่อโบราณ หลวงพ่อกล่อม วัดโพธาวาส จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2470 ของ เซี๊ย วัดหนัง(ด้านหลัง)

         พระครูวิธูรธรรมสาสน์ (หลวงพ่อกล่อม นันทะ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธาวาส ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าผู้ทรงวิทยาคม และมีชื่อเสียงโด่งดังรูปหนึ่งของภาคใต้ ท่านเป็นชาวบ้านริมคลองท่ามะตูม ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2389 เดิมมีชื่อว่า กล่อม แก้วกล่อม อุปสมบทเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2413 ณ พัทธสีมาวัดโพธาวาส ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก ลงโบสถ์ทำวัตรทุกเช้า-เย็นทุกวันไม่ได้ขาด แม้จะอาพาธก็ตาม นอกจากนี้ท่านยังศึกษาพระปริยัติธรรมและท่องบทสวดมนต์เจ็ดตำนานสิบสองตำนานจนขึ้นใจ อีกทั้งยังมุ่งมั่นปฏิบัติวิปัสสนาธุระจนแตกฉาน จึงเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2474 สิริรวมอายุ 86 ปี พรรษา 62 วัตถุมงคลของท่านที่โด่งดังมาก คือ ตะกรุด, สาลิกาลิ้นทอง และที่ได้รับความนิยมมาก คือ เหรียญหล่อโบราณรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2470 พิมพ์ทรงกลมรี หูขวาง หล่อในตัว เนื้อทองผสมเงินหัวนะโมและทองคำ ที่ชาวบ้านนำมาถวายใส่เบ้าหลอม ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อ นั่งเต็มองค์ ครองจีวรรัดประคด พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งขัดสมาธิ มือจับเข่าทั้งสองข้าง ใต้ผ้ารองนั่งมีตัวหนังสือเขียนว่า “พ.ศ.๒๔๗๐” ขอบเหรียญมีเส้นคู่ขนานมีอักขระขอม ด้านหลังเป็นยันต์ จำนวนสร้างมีน้อยมาก ไม่น่าเกิน 100 เหรียญ เหรียญในภาพนี้เป็นของ เซี๊ย วัดหนัง นักสะสมพระเครื่องหลากหลายประเภท (นอกจากเหรียญหล่อโบราณนี้แล้ว ในปี 2470 ยังมีการสร้าง เหรียญปั๊มรูปเหมือน ของท่านด้วย เป็นเหรียญเนื้ออัลปาก้า พิมพ์ทรงเหรียญคล้ายกับเหรียญหล่อโบราณทุกอย่าง นับเป็นเหรียญนิยมอีกรุ่นหนึ่งที่เช่าหากันอย่างกว้างขวาง)


พระรูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ พิมพ์ใบโพธิ์ วัดเทพศิรินทร์ ปี 2512 เนื้อนวโลหะ ของ ศักดิ์ ตลิ่งชัน(ด้านหน้า)
พระรูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ พิมพ์ใบโพธิ์ วัดเทพศิรินทร์ ปี 2512 เนื้อนวโลหะ ของ ศักดิ์ ตลิ่งชัน(ด้านหลัง)
พระรูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ พิมพ์ใบโพธิ์ วัดเทพศิรินทร์ ปี 2512 เนื้อนวโลหะ ของ ศักดิ์ ตลิ่งชัน(ด้านข้างและใต้ฐาน)

         พระรูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ พิมพ์ใบโพธิ์ วัดเทพศิรินทร์ ปี 2512 พิมพ์นี้ นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ พระท่านเจ้าคุณนรฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นใด สร้างพระพิมพ์แบบนี้มาก่อนเลย เพิ่งมายุคหลังที่มีการสร้างเลียนแบบพิมพ์ของหลวงพ่อต่างๆ อีกมากมายหลายสำนัก แต่ก็สู้ความนิยมของ พระท่านเจ้าคุณนรฯ ไม่ได้ พระพิมพ์นี้ออกแบบโดย นายช่างเกษม มงคลเจริญ ผู้ออกแบบและแกะแม่พิมพ์พระ/เหรียญ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคนั้น เพราะฝีมือเฉียบขาดจริงๆ สำหรับ พระรูปเหมือนใบโพธิ์ ท่านเจ้าคุณนรฯ ที่นายช่างเกษมออกแบบนี้มี 2 รุ่น คือ รุ่นแรกปี 2512 และรุ่น 2 ปี 2513 พิมพ์คล้ายๆ กัน นอกจากนี้ ยังมี พระนาคปรกพิมพ์ใบโพธิ์ 2513 อีกด้วย อันเป็นพระประจำวันเกิดของ ท่าน (ท่านเกิดวันเสาร์)  พระรูปเหมือนใบโพธิ์ ท่านเจ้าคุณนรฯ รุ่นนี้ ท่านเจ้าคุณอุดมฯ จัดสร้าง มีเนื้อทองคำ 150 องค์, เนื้อเงิน 150 องค์ และเนื้อนวโลหะ 2,512 องค์ ท่านเจ้าคุณนรฯ อฐิษฐานจิตให้เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2512 และวันที่ 1 ม.ค.2513องค์ในภาพนี้เป็นพระเนื้อนวโลหะ ของ ศักดิ์ ตลิ่งชัน กรรมการตัดสินพระสายนี้ มีร้านพระอยู่ใน ชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชั้น 3 ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน