ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่31

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 9045 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์

แล่ม จันท์พิศาโล

////////////////////////////////////////////

พระยอดธง สมัยอยุธยา เนื้อทองคำ ของ วีระภูมิ พละภิญโญ(หน้า)
พระยอดธง สมัยอยุธยา เนื้อทองคำ ของ วีระภูมิ พละภิญโญ(หลัง)
พระยอดธง สมัยอยุธยา เนื้อทองคำ ของ วีระภูมิ พละภิญโญ(ก้น)

     พระยอดธง ปางมารวิชัย ส่วนใหญ่สร้างในสมัยอยุธยา จนถึงยุครัตนโกสินทร์ ด้วยเนื้อโลหะหลายชนิด จุดประสงค์สำคัญเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจเสริมสิริมงคลให้ไพร่พลทหารในกองทัพ โดยอาราธนา พระพุทธรูปลอยองค์ ขนาดเล็ก มาเสียบไว้ที่ “ยอดเสาธง” ประจำกองทัพ พระยอดธง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่แสวงหาของนักนิยมพระเครื่องอย่างมาก คือ พระยอดธงสมัยอยุธยา เนื่องจากเป็นพระเก่าแก่ที่ผ่านการศึกสงครามมาแล้ว แสดงถึงพุทธคุณล้นเหลือในการคุ้มครองกองทัพทั้งกองทัพ ไม่ใช่รายบุคคล จึงเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังเป็นพิเศษ ทุกวันนี้พระแท้หาได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะพระเนื้อทองคำ เช่นองค์ในภาพนี้ ซึ่งเป็นพระของ วีระภูมิ พละภิญโญ องค์นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานประกวดพระ ที่ สนามม้านางเลิ้ง ครั้งหลังสุดมาแล้ว

////////////////////////////////////////////

พระชัยมงคลจินดา เนื้อโลหะผสม วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ปี 2490 ของ ต้น ท่าพระจันทร์(หน้า)
พระชัยมงคลจินดา เนื้อโลหะผสม วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ปี 2490 ของ ต้น ท่าพระจันทร์(หลัง)
พระชัยมงคลจินดา เนื้อโลหะผสม วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ปี 2490 ของ ต้น ท่าพระจันทร์(ก้น)

     วัดมงคลจินดาราม หรือ วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งชื่อว่าหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธศิลป์สมัยเชียงแสน ฝีมือช่างสมัยไทยลานนาและลานช้าง ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมา ชาวบ้านได้อัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2334  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้สร้าง วัดไร่ขิง ขึ้นตามชื่อตำบล เมื่อแล้วเสร็จจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปลอยน้ำองค์นี้จากวัดศาลาปูน มาประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาที่วัดนี้ ได้พระราชทานนาม วัดไร่ขิง ใหม่ว่า วัดมงคลจินดาราม แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็มๆ ว่า   วัดมงคลจินดารามไร่ขิง ต่อมาได้หดสั้นเหลือแต่ วัดไร่ขิง เท่านั้น...เมื่อประมาณปี 2490 ทางวัดได้สร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกขึ้น โดยจำลององค์ หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นต้นแบบ มีทั้ง พระผงพิมพ์สี่เหลี่ยม หลังลายนิ้วมือ และ พระชัยวัฒน์ ที่เรียกว่า พระชัยมงคลจินดา เนื้อโลหะผสม หล่อแบบโบราณ ใต้ฐานเจาะรูเพื่อบรรจุผงพุทธคุณที่เหลือจากพระผงพิมพ์สี่เหลี่ยม...พระชัยมงคลจินดา องค์ในภาพนี้ถือว่าสวยสมบูรณ์มาก สภาพเดิมๆ เป็นพระของ ต้น ท่าพระจันทร์ คนหนุ่มสายเลือดใหม่ แชมป์ แฟนพันธุ์แท้พระเหรียญ ปี2551

////////////////////////////////////////////


center
พระปิดตาอรหัง หลวงพ่อไสว สุมโน วัดราชนัดดารามวรวิหาร ปี 2518 ของ ท่านไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์

     พระปิดตาอรหัง หลวงพ่อไสว สุมโน วัดราชนัดดารามวรวิหาร ปี 2518 เป็นภาพในชุด ปฏิทินปีใหม่ 2558 ของ ท่านไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ พระปิดตารุ่นนี้ มีขนาดเล็กมาก คือใหญ่กว่าเม็ดถั่วเขียวเล็กน้อย แกะแม่พิมพ์โดย นายช่างเกษม มงคลเจริญ สุดยอดฝีมือช่างแกะแม่พิมพ์พระเครื่องแห่งยุค โดยท่านได้มอบแม่พิมพ์นี้ให้กับ ท่านไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ เพื่อนำไปถวายให้ หลวงพ่อไสว เททองหล่อสร้างเป็นองค์พระปิดตา โดยใช้ชนวน พระกริ่งศรีนคร ล้วนๆ หลังจากเป็นองค์พระปิดตาแล้วหลวงพ่อไสวได้ปลุกเสกพระปิดตารุ่นนี้ถึงกว่า 2 ปี (พ.ศ.2518-2520) จึงให้ท่านไชยทัศน์มารับพระปิดตานี้ พร้อมกับกำชับว่า “อย่าแจกพร่ำเพรื่อ ให้เฉพาะคนสนิท ญาติมิตร ฯลฯ” จำนวนสร้างประมาณ 800-900 องค์ ทุกองค์ตอกโค้ดที่ใต้ฐานตัว “ท” ปัจจุบัน พระปิดตาอรหัง รุ่นนี้นับเป็น พระปิดตาองค์จิ๋วที่หายาก และไม่มีการจำหน่ายหรือหมุนเวียนในวงการพระเครื่องเลย

////////////////////////////////////////////

เหรียญหลวงพ่อทวด รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว จ.ปัตตานี เนื้อเงิน ปี 2538 ของ กุ้ง หลักสี่(หน้า)
เหรียญหลวงพ่อทวด รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว จ.ปัตตานี เนื้อเงิน ปี 2538 ของ กุ้ง หลักสี่(หลัง)

     เคียงคู่กันมากับ พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ในฐานะศิษย์ผู้น้อง ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมมาจาก พระอาจารย์ทิม โดยตรง คือ พระอาจารย์นอง (พระครูธรรมกิจโกศล) อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ท่านได้เจริญรอยตามพระอาจารย์ทิม ในการสร้าง พระเครื่องสายหลวงพ่อทวด หลังจากที่พระอาจารย์ทิมได้มรณภาพแล้ว พระเครื่องที่ท่านสร้างจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เชื่อกันว่าใช้แทนพระเครื่องของพระอาจารย์ทิม ได้เลย...ในภาพนี้ คือ เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ จัดสร้างขึ้นในโอกาสที่ พระอาจารย์นอง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากเจ้าคณะตำบลชั้นโทขึ้นเป็น ชั้นเอก ปี 2538 คณะศิษย์จึงได้จัดสร้าง เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นมาเพื่อเป็นการแสดงมุทิตาสักการะแด่ท่าน โดยสร้างจากเนื้อโลหะหลายชนิด ที่พิเศษ คือ เหรียญทุกเนื้อหูเหรียญตัน(ยกเว้นเนื้อทองแดงที่มีการเจาะรูหู) รายการที่สร้าง คือ เนื้อทองคำ 39 เหรียญ, เนื้อเงิน 339 เหรียญ,เนื้อนวโลหะ 339 เหรียญ, เนื้อทองฝาบาตร 30 เหรียญ และเนื้อทองแดง 25,000 เหรียญ ในภาพนี้เป็นเหรียญเนื้อเงิน ของ กุ้ง หลักสี่ สายตรงพระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้และวัดทรายขาว

////////////////////////////////////////////

เบี้ยแก้ไข่ทอง" หลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี ของ เติ้ง รักษ์ศิลป์
เบี้ยแก้ไข่ทอง" หลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี ของ เติ้ง รักษ์ศิลป์

      "เบี้ยแก้ไข่ทอง" หลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี  หนึ่งในชุดเบญจภาคีเครื่องรางยอดนิยม เป็น"เบี้ยแก้" ลงรักปิดทองที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ผ่านการใช้มาก่อน "เบี้ยแก้" เป็นเครื่องรางที่เรียกได้ว่า มีพุทธคุณฝอยท่วมหลังช้าง "เบี้ยแก้" หลวงปู่รอด แทบทุกตัวจะต้องหุ้มด้วยตะกั่วทุบ มีทั้งแบบเปิดและแบบปิดหลังเบี้ย ส่วนใหญ่จะมีการลงรัก หรือยางมะพลับ เบี้ยตัวนี้มีภาพลงอยู่ในหนังสือพุทธศิลป์และหนังสือสำคัญๆ หลายเล่ม เป็นสมบัติของ เติ้ง รักษ์ศิลป์ ผู้ชำนาญสายเครื่องรางโดยตรง