ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่45

23 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 8776 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่45 / แล่ม จันท์พิศาโล

////////////////////////////////////////////

พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของ เลิศ สุพรรณ (ด้านหน้า)
พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของ เลิศ สุพรรณ (ด้านหลัง)

     พระร่วงกรุวัดคูบัว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี    เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง เมื่อ พ.ศ.2486 พระอธิการถนอม เจ้าอาวาสวัดคูบัว ต.บ้านแหลม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ดำริที่จะก่อสร้างโบสถ์ ทราบว่าในที่นาของนายกัณหา และนางพัด ศรีเมือง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ 1 กม. มีเนินดินและอิฐเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไปขออิฐเหล่านั้นมาสร้างโบสถ์ โดยเกณฑ์พระเณรลูกศิษย์วัดและชาวบ้านไปช่วยกันขุดดินขนอิฐมาไว้ที่วัด ในครั้งนั้นได้พบไหโบราณใบหนึ่ง บรรจุพระเครื่องพิมพ์ พระร่วง เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ประมาณ 200-300 องค์ นายกัณหา ได้นำพระที่ขุดได้ไปถวายพระอธิการถนอม ใครมาขอท่านก็แจกให้ฟรีๆ ต่อมาอีก 20 ปี พระร่วงกรุวัดคูบัว ได้เข้าสู่สนามพระเมืองสุพรรณ นักนิยมพระเครื่องเห็นว่าเป็นพระเก่าแท้ เมื่อสืบหาก็ทราบว่าได้มาจาก “วัดคูบัว” จึงเรียกว่า พระร่วงกรุวัดคูบัว มีพิมพ์ พระร่วงยืน (ใหญ่-เล็ก) และพระร่วงนั่งอีกจำนวนหนึ่ง ศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น หรืออู่ทองสุวรรณภูมิ จัดเป็น พระร่วงยอดนิยมพิมพ์หนึ่งของวงการพระ องค์ในภาพนี้ คือ พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ของ เลิศ สุพรรณ (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจากหนังสือพระฯเมืองสุพรรณ โดย  อ.มนัส โอภากุล)

////////////////////////////////////////////

พระพุทธชินราช ใบมะยม กรุวัดอรัญญิก เนื้อชินเงิน จ.พิษณุโลก ของ ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ (ด้านหน้า)
พระพุทธชินราช ใบมะยม กรุวัดอรัญญิก เนื้อชินเงิน จ.พิษณุโลก ของ ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ (ด้านหลัง)

     พระพุทธชินราช ใบมะยม กรุวัดอรัญญิก เนื้อชินเงิน จ.พิษณุโลก วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยยุคปลาย       เป็นวัดป่าที่พระสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐานจำพรรษา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้มีพลังจิตสูง พระกรุนี้ถูกชาวบ้านลักขุดออกมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2450 และอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา จนถึง พ.ศ.2496 ได้มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการขึ้น หลังจากนั้นเมื่อ พ.ศ.2500 ได้มีการขุดพบพระเครื่องอีกมากกว่า 20 พิมพ์ มากที่สุด คือ พระซุ้มเสมาทิศ (พระซุ้มระฆัง) และ พระพุทธชินราชใบมะยม ลักษณะองค์พระเป็นลายเส้นนูนเหมือนภาพลายเส้น ด้านหลังเรียบ มีลายผ้าละเอียดปรากฏทั่วไป องค์พระกว้างประมาณ 1.60 ซม. สูง 2.70 ซม. องค์นี้เป็นพระของ ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ นักสะสมพระเนื้อชินโดยเฉพาะ

////////////////////////////////////////////

เหรียญพระพุทธสีหนาท วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา เนื้อเงิน พ.ศ.2477 (ภาพจากหนังสือ “เหรียญล้ำค่า พระคณาจารย์แดนอีสาน”) (ด้านหน้า)
เหรียญพระพุทธสีหนาท วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา เนื้อเงิน พ.ศ.2477 (ภาพจากหนังสือ “เหรียญล้ำค่า พระคณาจารย์แดนอีสาน”) (ด้านหลัง)

     เหรียญพระพุทธสีหนาท วัดสุทธจินดา   จ.นครราชสีมา  เนื้อเงิน พ.ศ.2477 เหรียญนี้จำลองจาก “พระพุทธสีหนาท” พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทธจินดา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของจังหวัด เหรียญนี้ออกในงานสมโภชวัดสุทธจินดา ปลุกเสกโดย สมเด็จพระมหา    วีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) และพระคณาจารย์ศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลายท่าน ลักษณะเป็นเหรียญกลมเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และเนื้อเงินอีกจำนวนหนึ่ง จัดเป็นเหรียญหลักของเมืองโคราชเหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง คู่กับ เหรียญท้าวสุรนารี (โม) รุ่นแรก พ.ศ.2477 (ภาพจากหนังสือ “เหรียญล้ำค่า พระคณาจารย์แดนอีสาน” งานประกวดพระ ที่ ศูนย์อบรมตำรวจภูธรภาค ๔ จ.ขอนแก่น 9 มิ.ย.2556)

////////////////////////////////////////////

เหรียญพัดยศ พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน เนื้อทองแดง หลังยันต์ห้า ของ รวยลักษณ์ สุนทรพันธุ์ (ด้านหน้า)
เหรียญพัดยศ พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน เนื้อทองแดง หลังยันต์ห้า ของ รวยลักษณ์ สุนทรพันธุ์ (ด้านหลัง)

     เหรียญพัดยศ พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน เนื้อทองแดง รุ่นนี้ด้านหลังมี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หนังสือ 2 แถว    (ทุสะนิมะ อิสวาสุ) และพิมพ์ยันต์ห้า คือ เหรียญในภาพนี้  ซึ่งมีสภาพสวยสมบูรณ์ ไม่ผ่านการใช้มาก่อน ถือเป็น “เหรียญแท้ดูง่าย” ของ รวยลักษณ์ สุนทรพันธุ์ พนักงานธนาคาร มีงานอดิเรกชอบสะสมพระเครื่อง…ข้อมูลบางแห่งบันทึกว่า เหรียญรุ่นนี้ออกที่วัดสุทัศนฯ เมื่อปี 2495 ในโอกาสที่ พ่อท่านคล้าย เดินทางมารับพัดยศ ที่กรุงเทพฯ และพักที่วัดสุทัศนฯ  บางข้อมูลระบุว่า เหรียญรุ่นนี้ได้รับการปลุกเสกหมู่โดยพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับพัดยศด้วยกัน บางคนเรียกจึงเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า “เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์”

////////////////////////////////////////////

รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค พิมพ์เข่ากว้าง หลังเต็ม เนื้อทองระฆัง ปี 2516 พิธีเสาร์ 5 ของ ฐกร บึงสว่าง (ด้านหน้า)
รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค พิมพ์เข่ากว้าง หลังเต็ม เนื้อทองระฆัง ปี 2516 พิธีเสาร์ 5 ของ ฐกร บึงสว่าง (ด้านหลัง)

     รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค พิมพ์เข่ากว้าง หลังเต็ม เนื้อทองระฆัง ปี 2516 พิธีเสาร์ 5 สร้างด้วยเนื้อทองคำ 2 องค์, เนื้อเงิน 30 องค์, เนื้อระฆัง 2,000 องค์, เนื้อทองแดง 5,000  องค์ และเนื้อตะกั่ว 1,000 องค์ ปลุกเสกพร้อมกับ รูปเหมือนปั๊มหลังเรียบ, รูปเหมือนปั๊มหลังเตารีด, รูปเหมือนปั๊มใบเสมา, และเหรียญพิมพ์ต่างๆ องค์ในภาพนี้มีสภาพสวยสมบูรณ์คมชัดมาก ของ ฐกร บึงสว่าง ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ และเป็นนักสะสมพระเครื่องระดับแนวหน้าคนหนึ่ง มีพระเครื่องในครอบครองหลากหลายประเภท

////////////////////////////////////////////