วันนี้ขอนำภาพ พระสมเด็จ กรุวัดใหม่อตมรส บางขุนพรหม 2 พิมพ์ที่มีความคล้ายกันมาก มาให้ชมถึงความแตกต่างกัน คือ พิมพ์ฐานแซม และ พิมพ์ฐานคู่ พุทธลักษณะของ พระสมเด็จ บางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม แยกออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์อกร่อง และ พิมพ์อกตัน พิมพ์ทรงคล้ายกับ พระสมเด็จ พิมพ์ฐานคู่ มาก องค์ที่ 2 พระสมเด็จ พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์นี้ทางวัดระฆังไม่มี ลักษณะทรวดทรงและสัดส่วนต่างๆ เป็นเส้นบางๆ ลักษณะองค์พระทรงชะลูด คล้ายกับ พิมพ์ฐานแซม พระพักตร์เรียว พระกรรณเป็นเส้นยาวลงมาจรดพระอังสา พระพาหาเป็นเส้นบาง ประสานกันเหมือนกับวงกลม (คล้ายกับพิมพ์เส้นด้าย) ฐานล่างสุดหนา มีร่องตรงกลาง จนดูเหมือนกับเป็นฐาน 2 เส้นคู่กัน เช่นเดียวกับ ฐานชั้นที่ 2-3-4 มีลักษณะเป็นเส้นคู่เช่นกัน อันเป็นที่มาของชื่อ พิมพ์ฐานคู่ พระสมเด็จ 2 องค์นี้เป็นพระสวยสมบูรณ์คมชัดมาก มีคราบกรุติดบางๆ เป็น พระกรุใหม่ ที่ได้จากการเปิดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2500...(ภาพจากหนังสือ 139 สมเด็จพระพุฒาจารย์ <โต พฺรหฺมรํสี> อมตมหามงคล จัดพิมพ์โดย วัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม)
หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2390 บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ อายุได้ 15 ปี ต่อมาเมื่ออายุ 22 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดกลางบางแก้ว โดยมี พระปลัดปาน เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ขันธโชติ" ท่านอยู่วัดนี้มาตลอด จนได้เป็นเจ้าอาวาส และได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับ จนถึง พ.ศ.2473 ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "พระพุทธวิถีนายก" เป็นประธานคณะสงฆ์มณฑลนครชัยศรี ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2478 นอกจากจะเป็นพระนักพัฒนาแล้ว หลวงปู่บุญ ยังเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกด้วย ท่านได้สร้างพระเครื่องรางของขลังหลายอย่างล้วนเป็นการสร้าง “แจกฟรี” ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ พระผงยาจินดามณี (ผงยาวาสนา) พิมพ์ต่างๆ ที่นำมาให้ชมนี้ คือ พิมพ์ซุ้มแหลม องค์นี้เป็นพระยุคแรกๆ ของท่าน นอกจากเป็นพระเครื่องแล้ว เนื้อผงยาจินดามณี ยังเป็นผงวิเศษที่สามารถรักษาโรคร้ายแรงได้ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระพิมพ์นี้เนื้อนี้มีสนนราคาสูงมาก คือ หลักแสนขึ้นไป องค์นี้เป็นพระของ ต้น ท่าพระจันทร์ แชมป์ “แฟนพันธุ์แท้” พระเหรียญ ปี 2551
หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นศิษย์เอกของ หลวงปู่บุญ ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ จาก หลวงปู่บุญ มากมาย และยังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ "พระพุทธวิถีนายก" เช่นกัน ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างหลายรุ่น ที่นำมาให้ชมนี้ คือ เหรียญรูปเหมือนหล่อโบราณ ปี 2524 เนื้อชนวนพระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ จำนวนสร้างไม่มาก แค่หลักร้อยเหรียญเท่านั้น ผู้สร้าง คือ เล็ก ร้านปืน ถนนอุณากรรณ กทม. ความน่าสนใจของเหรียญนี้ คือ เททองหล่อแบบโบราณ ถือว่าคลาสสิกมาก ดูแล้วเข้มขลังดี เนื่องจากจำนวนสร้างน้อย จึงไม่ค่อยปรากฏในวงการพระเครื่องบ่อยนัก
พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน วัดช้างให้ รุ่นลอยน้ำ ปี 2502 พิมพ์ลอยองค์ขนาดเล็กแบบพระเครื่อง ถือเป็นรุ่นพิเศษที่จัดสร้างขึ้นภายหลังพระเนื้อว่าน รุ่นแรก ปี 2497 หมดไปแล้ว ลักษณะพิเศษของ พระรุ่นลอยน้ำ คือ สามารถวางลอยบนน้ำได้ อันเกิดมาจากส่วนผสมของเนื้อมวลสารที่ได้จากพืชลอยน้ำได้ ผสมกับเนื้อว่าน ปี 2497 นับเป็น พระหลวงพ่อทวด อีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง (ภาพจากหนังสือ พระเนื้อว่าน “หลวงพ่อทวด” วัดช้างให้ จัดทำโดยทีมงานนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์” 30 ส.ค.2558)
พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว (พระครูธรรมกิจโกศล) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2462 ที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 19 ปี ต่อมาเมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนาประดู่ โดยมี พระครูวิบูลย์สมณกิจ (ชุ่ม) วัดตุยง เจ้าคณะเมืองหนองจิก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ธมฺมภูโต" ท่านอยู่วัดนาประดู่ได้ 12 พรรษา จากนั้นย้ายมาจำพรรษาที่วัดทรายขาว จนได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2542 สิริรวมอายุได้ 79 ปี พรรษา 58 พระอาจารย์นอง เป็นสหธรรมิกรุ่นน้องของ พระอาจารย์ทิม (อ่อนกว่ากัน 7 ปี) หลังจาก พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ได้มรณภาพ (เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512) แล้ว การปลุกเสก พระหลวงพ่อทวด ในสมัยต่อมาก็ตกอยู่กับ พระอาจารย์นอง ปรากฏว่า พระหลวงพ่อทวด ที่ พระอาจารย์นอง ปลุกเสกมีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับ พระหลวงพ่อทวด ที่ พระอาจารย์ทิม ปลุกเสกทุกอย่าง เรียกว่าใช้แทนกันได้...หนึ่งในนั้น คือ เหรียญหลวงพ่อทวด พิมพ์หัวโต รุ่นแรก (รุ่น “มหาสิทธิโชค”) ปี 2535 ประกอบด้วย เนื้อทองคำ, เนื้อนาก, เนื้อเงินหน้าทองคำแบบต่างๆ สนนราคาอยู่ที่หลักหมื่นปลายถึงหลักแสนต้น, เนื้อเงินอยู่ที่หลักหมื่นกลาง, เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดงอยู่ที่หลักหมื่นต้น เหรียญในภาพนี้เป็นของ กุ้ง หลักสี่ ผู้ชำนาญพระสายนี้…มีเกร็ดที่น่าสนใจ คือ ก่อนที่ พระอาจารย์ทิม จะมรณภาพ ท่านได้พูดกับ พระอาจารย์นอง ว่า "ตั้งแต่คบกันมา คุณไม่เคยทำให้ผมเสียใจเลย คนอื่นยังมีตรงบ้าง คดบ้าง "เรา" ขออธิษฐาน บุญใดที่เคยทำร่วมกันมา และยังไม่เคยทำร่วมกันมาก็ดี ทั้งชาตินี้และอดีตชาติ ขออธิษฐาน เกลี่ยบุญให้เท่ากัน เพื่อจะได้เกิดทันกันทุกๆ ชาติไปจนถึงชาติสุดท้าย" เป็นคำพูดของ พระอาจารย์ทิม ที่มีต่อ พระอาจารย์นอง อย่างลึกซึ้งและมั่นคงในความผูกพันอันมากมายเป็นพิเศษจริงๆ