พระท่ากระดาน
พระท่ากระดาน เป็นพระที่ถูกสร้างในสมัยอู่ทองคือประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๐๓๑ เป็นพระเครื่องที่มีประติมากรรมแบบ แบน นูนสูง คือมีภาพด้านหน้าด้านเดียว ด้านหลังแบนเรียบ และจะเน้นส่วนนูนสูงและส่วนลึกพระท่ากระดานเป็นพระประติมาปางมารวิชัย ขัดราบมีสังฆาฏิแบบสี่เหลี่ยมกว้าง หนายาวจรดลงมา มีฐานหนาซึ่งเรียกว่าฐานสำเภาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระยุคอู่ทองพระเกศายาว ใบหน้าลึก ลักษณะคล้ายยิ้มแบบเครียดๆลักษณะแบบอู่ทอง เกศของพระท่ากระดานนั้นสันนิฐานว่าจะทำเป็นเกศยาวทุกองค์และตรงขึ้นไป เกี่ยวกับอายุมากและอยู่ใต้ดินถูกทับถมเลยทำให้ปลายเกศซึ่งมีความบอบบางอาจหักชำรุด หรือคดงอ เลยทำให้ปลายเกศของพระท่ากระดานมีหลายลักษณะ คือเกศยาวตรงเลยเรียกว่า “พิมพ์เกศตรง” ส่วนเกศที่คดไปคดมาเพราะเกิดจากการบิดงอหรือถูกทับบิดไปเลยเรียกว่าพิมพ์
“เกศคด” องค์ที่เกศหักในกรุ เพราะชำรุดตามอายุ ทำให้เกศเหลือสั้นเลยเรียกว่า
“เกศบัวตูม” แต่ความจริงแล้วเป็นพระที่สร้างเกศยาวตรงตามแบบองค์ที่สมบูรณ์มากๆ นั้นเอง มือของพระท่ากระดานจะมีลักษณะหนาเป็นเอกลักษณ์ของพระอู่ทอง
พระท่ากระดานเป็นพระที่สร้างให้มีใบหน้าชัดเจนทั้งจมูกปากและหู ประกอบกับพระท่ากระดานทำจากเนื้อตะกั่ว เมื่อมีอายุนานเข้าตะกั่วจะเกิดสนิมแดงส่วนที่นูนเด่นจะมีลักษณะแดงเข้ม เลยทำให้พระท่ากระดานบางองค์ เกิดมีสนิมแดงเข้มที่บริเวณลูกตาทั้งสองข้างเพราะส่วนที่นูนมาก เลยทำให้ดูคล้ายกับว่าพระท่ากระดานจะมีตาเป็นสีแดงเข้ม จนทำให้บางคนเข้าใจว่า พระท่ากระดานต้องตาแดงและเกศคดจนบางท่านเรียกติดปากว่า
“พระท่ากระดานต้องเกศคดตาแดง” ซึ่งความจริงเกิดขึ้นในบางองค์เท่านั้น และเป็นเพราะสนิมของวัสดุที่นำมามาทำพระกระดานนั่นเอง
พระท่ากระดาน เนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุเหนือ
พระท่ากระดานกรุวัดเทวสังฆาราม
พระท่ากระดานเป็นพระที่สร้างในยุคอู่ทองสันนิฐานว่าผู้ที่สร้างพระท่ากระดานก็คือผู้เรืองเวทย์ซึ่งเป็นฆราวาส มิใช่พระสงฆ์ หรือผู้ที่เรียกกันว่า “ฤๅษี” ในยุคโบราณ เพราะเป็นการสันนิฐานจากแผ่นจารึกลานทองของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและของสุโขทัยซึ่งมีคาบเกี่ยวกับอู่ทองคือจารึกแผ่นลานเงินของวัดบรมธาตุกำแพงเพชร กล่าวถึงการสร้างพระเครื่อง ของบรรดาพระฤๅษีทั้งหลายฤๅษีทั้งหลาย ๑๑ ตนที่สร้างพระเครื่องมีฤๅษีอยู่ ๓ ตน ที่ถือเป็นใหญ่ ก็คือ ฤๅษีพิราลัย ฤๅษีตาไฟ ฤๅษีตาวัว และก็สันนิฐานกันว่าผู้ที่สร้างพระท่ากระดานก็คือ ฤๅษีตาไฟ โดยการอาราธนาของเจ้าเมือง “ท่ากระดาน” เมื่อสร้างแล้วก็นำมาบรรจุไว้ในอารามสำคัญในเมืองท่ากระดาน เมืองสวัสดิ์ และเมืองกาญจนบุรีเก่าในยุคนั้น
กำเนิดของพระท่ากระดานครั้งแรกได้ถูกค้นพบที่”กรุถ้ำลั่นทม” เป็นแห่งแรก กรุนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ ๗๐ ก.ม. อยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำแควใหญ่ มิได้อยู่ในเขตตำบลท่ากระดาน พระจากกรุนี้พบในบริเวณถ้ำในบริเวณหน้าถ้ำมีเจดีย์โบราณอยู่หลายองค์พระที่ถูกค้นพบมีอยู่ด้วยกันหลายร้อยองค์ และพบแม่พิมพ์ของพระท่ากระดาน พร้อมกับเศษตะกั่วสนิมแดงเกิดขึ้นอีกมากมาย ทำให้สันนิฐานว่าบริเวณถ้ำลั่นทมนี้คือสถานที่สร้างพระท่ากระดาน และเป็นที่อยู่ของพระฤๅษีผู้สร้างพระท่ากระดานในสมัยนั้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๖ ได้มีการขุดค้นพบพระท่ากระดานอีก ที่กรุวัดเหนือ (วัดบน) วัดกลาง และวัดใต้ (วัดล่าง) ที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ พระที่ถูกค้นพบมีมากพอสมควร คือมีจำนวนรวมตัวกันแล้วประมาณหลายร้อยองค์ พระที่ค้นพบในบริเวณสามวัดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพระที่มีการปิดทองทุกองค์และด้านหลังจะเป็นล่องหรือแอ่งลึกแทบทุกองค์ พระจะมีสนิมแดงเข้มดูสวยงาม
พระที่ถูกค้นพบในยุคนั้นที่ถือว่าสวยและสมบูรณ์มากก็คือวัดกลางซึ่งมีผู้เรียกวัดนี้ว่า “วัดท่ากระดาน”นั้นเองในเวลาต่อมาวัดเหนือหรือวัดบนและวัดใต้หรือวัดล่อง ได้ถูกน้ำกัดเซาะทำให้ตลิ่งพังวัดทั้งสองจึงพังทลายลงสู่ลำน้ำทั้งสองวัดบริเวณวัดตั้งอยู่ริมน้ำที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือวัดกลางหรือวัดท่ากระดานเท่านั้น
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีการขุดค้นพบพระท่ากระดานอีก ที่บริเวณวัด “นาสวน” (วัดต้นโพธิ์) อยู่เหนือที่ว่าการอำเภอศรีสวัสดิ์เล็กน้อยเป็นบริเวณพระอารามร้างในการพบในครั้งนั้นได้พระท่ากระดานจำนวนไม่มากนักคือจำนวนไม่กี่สิบองค์
วัดที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น ทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์
อาจกล่าวได้ว่าพระเหล่านั้น นักนิยมพระเครื่องมักเรียกว่าพระกรุเก่า หรือกรุงศรีสวัสดิ์ ทั้งสิ้น
นอกเหนือจากกรุขุดพบบริเวณเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ ยังมีการขุดค้นพบที่บริเวณ “วัดหนองบัว” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรีอีก พบจากการปฏิสังขรณ์พระอารามได้พระท่ากระดานประมาณ ๙๐ องค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีการพบพระกระดานอีกเป็นจำนวนมากที่ “วัดเหนือ” (วัดเทวสังฆาราม) ตั้งอยู่ที่เขตอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีโดยทางวัดได้ทำการเจาะพระเจดีย์องค์ประธาน เพื่อที่จะบรรจุพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ ก็พบไหโบราณซึ่งบรรจุพระท่ากระดานและได้พบพระอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่นพระขุนแผนสนิมแดงห้าเหลี่ยม พระท่ากระดานหูช้าง และพระอื่นๆ อีกมาก
วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ถือว่าเป็นวัดที่พบพระท่ากระดานที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะพระจะอยู่ในไหและเป็นพระที่สมบูรณ์มากที่สุด
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการพบพระท่ากระดานอีกมากที่ “วัดท่าเสา” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรีนอกจากนั้นยังค้นพบพระท่ากระดานน้อย (พระท่าเสา) อีกจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่าจะเป็นพระยุคหลังกว่าพระท่ากระดานพิมพ์ใหญ่
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการพบพระท่ากระดานอีกมากที่ “วัดท่าเสา” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรีนอกจากนั้นยังพบพระท่ากระดานน้อย (พระท่าเสา) อีกจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่าจะเป็นพระยุคหลังกว่าพระท่ากระดานพิมพ์ใหญ่
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีกานค้นพบพระท่ากระดานอีกที่บริเวณตำบลลาดหญ้าอีก แถวบริเวณใกล้ๆ กับค่ายทหารกองพลที่ ๙ พระที่ค้นพบในครั้งนั้นถือว่าสมบูรณ์มากแต่สนิมของพระท่ากระดานจะมีไขขาวคลุมเกือบทุกองค์และจะมีทองกรุปิดเกือบทุกองค์ จุดเด่นของพระกรุนี้จะมีเกศยาวกว่าทุกกรุ พระที่พบมีอยู่ประมาณกว่า ๕๐ กว่าองค์เท่านั้น
ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้มีการพบพระท่ากระดานได้ในถ้ำเมืองอำเภอผาภูมิ พระที่พบจะมีลักษณะผิวพระจะไม่เรียบมีผิวขรุขระเกิดจากการพองของไขสนิม เพราะพระที่มีอยู่ในถ้ำซึ่งมีอากาศชื้นนั่นเอง และพระที่พบส่วนใหญ่จะชำรุดโดยเฉพาะคอจะหักเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่สมบูรณ์มีไม่เกิน ๒๐ องค์ ถือว่าเป็นพระที่เป็นการพบครั้งล่าสุด
ถ้าจะแยกเป็นกรุที่พบพระท่ากระดาน ก็พอจำแนกได้ดั่งต่อไปนี้ คือ
- กรุถ้ำลั่นทม ปีพ.ศ.๒๔๙๗ พบพระประมาณ ๒๐๐ องค์
- กรุเหนือ (กรุวัดบน) ปี พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๖ พบพระประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ องค์
- กรุกลาง (วัดท่ากระดาน ประมาณ ๑๐๐ กว่าองค์ ปีพ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๖
- กรุใต้ (กรุวัดล่าง) ปี พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๖ พบพระไม่ถึง ๑๐๐ องค์
- กรุวัดนาสวน (วัดต้นโพธิ์) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ได้พระประมาณ ๔๐ องค์
- กรุวัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) ปี พ.ศ.๒๔๙๗ได้พระประมาณ ๙๐ องค์
- กรุวัดเหนือ (วัดเทวสังฆาราม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖พบพระท่ากระดานอยู่ในไห ๒๙ องค์ พระท่ากระดานหูช้าง ๘๐๐ องค์ พระขุนแผนสนิมแดงห้าเหลี่ยม ๒๐๐ องค์ พระโคนสมอ ๑๐๐ องค์ พระปรุหนัง ๒ๆ องค์
- วัดท่าเสา ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้พระท่ากระดานไม่กี่สิบองค์ พระท่ากระดานน้อยจำนวนหลายร้อยองค์
- บริเวณตำบลลาดหญ้าใกล้ๆ กับ ค่ายทหารกองพลฯ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ประมาณ ๕๐ กว่าองค์
- บริเวณถ้ำในเขตอำเภอทองผาภูมิ ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ พบพระประมาณ ๘๐ องค์ ชำรุดเสียส่วนใหญ่ พระท่ากระดานถ้าจำแนกเป็นกรุใหญ่ๆ ได้ ๒ กรุคือ กรุเก่าและกรุใหม่ “กรุเก่า” ก็คือพระที่ถูกค้นพบที่ถ้ำลั่นทมในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และที่ค้นพบในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์คือกรุบน,กรุกลาง,กรุล่างในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖และกรุวัดหนองบัวปี พ.ศ. ๒๔๙๗ “กรุใหม่” ก็คือกรุที่ค้นพบที่วัดเหนือ (เทวสังฆราม), กรุสวนใน, กรุท่าเสา, กรุลาดหญ้า และ และกรุในถ้ำในอำเภอทองผาภูมิ
พระท่ากระดานนอกจากจะเป็นพระชั้นหนึ่ง ของจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ยังถูกจัดอยู่ในชุดเบญจยอดขุนพลซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ของพระเนื้อโลหะด้วย ถือว่าเป็นพระที่มีราคาเช่าหาสูง และพุทธคุณนั้นเปี่ยมล้นไปด้วยความขลังไม่ว่าทางแคล้วคลาดหรือคงกระพันชาตรี จนมีผู้กล่าวขานกันว่าพระท่ากระดานนั้นคือ
“ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลองเลยทีเดียว” พระท่ากระดานไม่ว่าจะเป็น
“พระกรุเก่า” หรือ
พระกรุใหม่ ถือว่าสร้างพร้อมกันต่างกันเพียงสถานที่พบและระยะเวลาการขุดพบเท่านั้นเอง
พระท่ากระดาน เนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี
ด้านหลังพระท่ากระดาน เนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุศรีสวัสดิ์