ประวัติเมืองเชียงใหม่
อาณาจักรล้านนา เกิดขึ้นจากความพยายามของพญามังรายที่ขยายพระราชอำนาจจากบริเวณที่ราบลุ่มเชียงรายมาสู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนได้สำเร็จ เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ปรากฏชื่อเรียกตามเอกสารจีนว่า
ป่าไป๋ซีฟู แปลว่าอาณาจักรแห่งสนมแปดร้อย อาณาจักรแห่งนี้เคยถูกจักรพรรดิกบไล่ข่าน แห่งมองโกล ส่งกองทัพโจมตี เนื่องจากพญามังรายให้ความช่วยเหลือผู้นำไทยใหญ่ขับไล่กองทัพมองโกลไปจากพุกาม
ตามประวัติกล่าวว่า พญามังรายสืบเชื้อสายมาจากวงศ์ลาวจักราช ทรงเป็นโอรสของพญาลาวเมง และนางเทพคำขยายซึ่งเป็นธิดาท้าวฮุ่งแกนชาย (ท้าวแก้วซ้ายเมือง) เจ้าเมืองเชียงรุ่ง ประสูติที่เมืองหิรัญนครเงินยางเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๒๘ พระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๔ ขณะที่มีพระชนมายุ ๒๒ พรรษา นับว่าเป็นกษัตริย์ในวงศ์ลาวจักราชองค์ที่ ๒๕ ต่อมาได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายเป็นเมืองหลวงแทนใน พ.ศ. ๑๘๐๕ หลังจากนั้นก็มีพระราชประสงค์จะขยายอาณาเขตออหไปให้กว้างขวาง โดยในครั้งแรกได้ทรงเข้ายึดเมืองหริภุญไชยเป็นผลสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๕ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ทรงทำสัญญาพระราชมาตรีกับพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งเมืองสุโขทัย และพญางำเมือง แห่งเมืองพระเยา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและหากเพลี่ยงพล้ำพระองค์จะได้มีกำลังสนับสนุนจากกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ เมื่อพญามังรายยึดครองเมืองหริภุญไชยได้เป็นผลสำเร็จ และคงจะพิจารณาแล้วว่าเมืองหริภุญไชยไม่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางปกครองดินแดนล้านนาคงเป็นเพราะเมืองหริภุญไชยมีวัดวาอารามมากทำให้ยากต่อการขยายเมือง จึงได้ทรงมอบให้อ้ายฟ้าขุนนางของพระองค์ที่มีส่วนร่วมในการยึดเมืองหริภุญไชยปกครองต่อไป
จากนั้นพญามังรายได้ทรงสร้างเวียงกุมกามในราวปี พ.ศ. ๑๘๓๗ แต่เนื่องจากเวียงกุมกามมีขนาดเล็กมาก ประกอบกับที่ตั้งของเวียงกุมกามอยู่ในบริเวณที่ลุ่มต่ำมากเกินไปจึงเกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ ตำบลนั้นเป็นที่ลุ่มน้ำยามฤดูพรรษา ช้าง ม้า โค กระบือ หาที่อาศัยมิได้ และหลักฐานจากการขุดค้นที่เวียงกุมกามในบริเวณวัดอีก้างกับวัดปู่เปี้ยประกอบกับการศึกษาด้านธรณีวิทยา ได้พบว่าตัวโบราณสถานจมอยู่ใต้ดินระดับความลึกจากชั้นดินปัจจุบัน ๑.๘๐ - ๒.๓๐ เมตร และมีชั้นดินตะกอนทราบทับถมอยู่ด้วย ซึ่งดินตะกอนทรายเหล่านี้เกิดจากการพัดพาของกระแสน้ำ เมื่อเป็นดังนั้นพญามังรายจึงต้องพยายามหาที่แห่งใหม่ เพื่อสร้างศูนย์ในการปกครองและทรงเห็นว่าบริเวณเขาดอยสุเทพ (อุสุบรรพต) เป็นที่ซึ่งมีชัยภูมิเหมาะสมจึงได้ทรงเชิญพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง)และพญางำเมือง พระสหายมาร่วมพิจารณาถึงภูมิและการวางผังเมือง
ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของพญามังราย พระองค์ได้ทรงวางรากฐานความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ล้านนาในหลายๆด้าน ทั้งด้านกฏหมาย ด้านการปกครองและด้านการบำรุงพุทธศาสนา เป็นต้น
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพญามังรายในปี พ.ศ. ๑๘๕๔ ความสำคัญของเมืองเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะปรากฏหลักฐานว่า กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ต่อๆมาได้เสด็จไปประทับที่เมืองเชียงรายหรือไม่ก็ที่เมืองชียงแสน ส่วนเมืองเชียงใหม่ทรงให้พระราชโอรสปกครองแทน ทำให้เมืองเชียงใหม่อยู่ในฐานะที่เปรียบเสมือนเป็นเมืองลูกหลวง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในช่วงระยะเวลานั้น ดินแดนในเขตเชียงรายและเชียงแสนไม่มีความมั่นคงเพียงพอ จนกระทั่งในสมัยของพญาผายูขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๕ ระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๗๙ - ๑๘๙๘ ฐานะของเมืองเชียงใหม่ก็ได้หวนกลับคืนโดยมีพญาผายูทรงประทับที่เชียงใหม่คงเป็นเพราะดินแดนตอนบนมีความมั่นคงเพียงพอแล้ว
ต่อมาในสมัยของพญากือนา (พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) ความเจริญรุ่งเรืองของล้านนามีมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเวลานั้นไม่มีการศึกสงคราม ทำให้พระองค์ทรงมีเวลาทำนุบำรุงบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศาสนา
นอกจากนี้แล้วพญากือนาทรงโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดดอยสุเทพ ซึ่งก็คือพระธาตุดอยสุเทพนั่นเอง
ในปี พ.ศ. ๒๐๖๐ เป็นต้นมา อาณาจักรลานนาก็เริ่มเสื่อมลง มีการก่อการกบฎ การปลงประชนม์ กษัตริย์องค์ต่อๆมา เหล่าขุนนางในเมืองเชียงใหม่และขุนนางหัวเมืองต่างๆเกิดความแตกแยกแย่งชิงความเป็นใหญ่และในที่อาณาจักรล้านนา ก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมายึดเมืองเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ. ๒๑๑๐
อาณาจักรล้านนาอยู่ในความปกครองของพม่าเป็นเวลาสองร้อยปี จนกระทั่งในสมัยของพระเจ้าตากสิน ล้านนาได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อไทยร่วมมือกันขับไล่พม่าออกไปสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ แล้วจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เมืองเชียงใหม่เคยรุ่งเรืองสุดขีดในอดีต ศิลปะวัตถุก็มีความรุ่งเรืองตาม ส่วนใหญ่จะได้แก่ เทวรูปที่นำจากปูนนั้น พระพุทธรูปสมัยต่างๆมีทั้งศิลปะสุโขทัย เชียงแสนยุคต้นถึงยุคปลาย และที่มีศิลปะของลังกาก็มี ส่วนพระเครื่องนั้นของเชียงใหม่จะมีน้อยกว่าจังหวัดใหญ่อื่นๆที่สำคัญๆก็ได้แก่ พระพิมพ์ต่างๆที่ทำจากเนื้อดิน กรุเวียงท่ากาน (เมืองหลวงเก่าของเชียงใหม่) และที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ พระที่ทำจากหินแกะสมัยเชียงแสน เป็นหินสีต่างๆ ที่ขุดค้นพบได้จากอำเภอฮอด ซึ่งเป็นพระที่มีคุณค่าทางด้านศิลปะ ฝีมือ และวัสดุในการทำดังจะได้กล่าวต่อไป
วัดเจย์ดีเจ็ดยอด เชียงใหม่
เจดีย์หลวง วัดเจย์ดีหลวง เชียงใหม่