อมตพระกรุ เมืองชลบุรี : ประวัติเมืองชลบุรี

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 31842 ครั้ง

ประวัติเมืองชลบุรี

จากหลักฐานทางโบราณคดี ซากเมืองโบราณ ๓ แห่ง คือ เมืองพญาแร่ (ตำบลท่อทอง อำเภอพนัสนิคม) เมืองพโร (ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมือง) และอำเภอพระรถ (ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม) ซึ่งมีการขุดค้นพบศิลาเก่าสลักเป็นพระพุทธรูปประทับบนตัวพนัสบดี สมัยทวาราวดี อาณาจักรศรีวิชัย และอาณาจักรเขมร เมืองโบราณดังกล่าวไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าได้เสื่อมสลายเป็นเมืองร้างไปเมื่อใด และเพราะเหตุใด เพียงแต่ปัจจุบันมีร่องรอยของเส้นทางเดินทางจากเมืองพโรไปเมืองพระรถเรียกว่า ถนนพระรถ ถนนนี้ผ่านต่อไปจนถึงชุมชนโบราณศรีมโหสถ (ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถจังหวัดปราจีนบุรี ในปัจจุบัน) เรียกว่าถนนขอม ล่วงถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาจนมีบันทึกชื่อเมืองชลบุรีปรากฏเป็นหลักฐานทำเนียบศักดินาหัวเมืองจัตวาเมื่อ พ.ศ. ๑๑๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) จากบันทึกระบุไว้ว่า ชลบุรีเป็นเมืองภายนอกแต่ละปีต้องส่งไม้แดงเป็นส่วย และในไตรภูมิปรากฏชื่อตำบลสำคัญของชลบุรี ๔ ตำบล ได้แก่ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ และบางละมุง เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขณะดำรงพระยศเป็นพระยาวชิรปราการ ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาฝ่าวงล้อมพม่าผ่านมาและหยุดพักที่บ้านหนองไผ่ (ตำบลนาเกลือ) แขวงเมืองบางละมุง ต่อมาบริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ทัพพระยา” จากนั้นเปลี่ยนมาเป็น “พัทยา” เนื่องจากเห็นว่าบริเวณที่ตั้งทัพนั้นทำเลดีมีลมชื่อ “พัทธยา” คือ ลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูพัดผ่าน มาภายหลังเขียนใหม่เป็น “พัทยา” อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดให้เมืองชลบุรีเป็นเมืองชั้นจัตวา พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เคยเสด็จฯไปประทับแรม และโปรดฯให้สร้างบ้านพักที่บริเวณอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เพื่อให้ชาวต่างประเทศและผู้ป่วยได้พักตากอากาศและพักฟื้น ชลบุรีจึงเป็นเมืองตากอากาศชายทะเล บรรดาเจ้านายชาวไทยนิยมมาเที่ยวและพักผ่อนกัน จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะที่อำเภอพนัสนิคม เคยเป็นที่ชุมชนเก่า ในสมัยทวาราวดีจนมาถึงยุคสมัยขอม จึงทำให้ปรากฏมีพระที่แตกกรุออกมาเป็นพระยุคสมัยที่สูงเป็นที่น่าสนใจเป็นอันมาก พระที่มีชื่อเสียงของอำเภอพนัสนิคมก็คือ พระร่วงกรุหน้าพระธาตุ เป็นพระที่ทำด้วยเนื้อตะกั่ว เป็นพระศิลปะของขอมยุคต้น พระทวาราวดีนั่ง แตกกรุที่วัดหนองบัว เป็นพระศิลปะทวาราวดีมีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ ปีขึ้นไป พระทวาราวดีนั่ง เนื้อดินกรุวัดหนองยางก็จัดเป็นพระที่มีศิลปะของทวาราวดียุคต้นจึงแสดงให้เห็นว่าที่อำเภอพนัสนิคม เมื่อครั้งโบราณเคยเจริญรุ่งเรือง และเป็นชุมชนเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้

พระร่วงยืน กรุหน้าพระธาตุ พนัสนิคม ชลบุรี เนื้อตะกั่วสนิมแดง

พระทวาราวดี กรุหนองบัว พนัสนิคม เนื้อดิน

พระพิมพ์ทวาราวดี เนื้อดินเผา กรุหนองบัว พนัสนิคม ชลบุรี

พระร่วงยืน เนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุหน้าพระธาตุ พนัสนิคม ชลบุรี