อมตพระกรุ เมืองสุราษฎร์ธานี : ประวัติเมืองสุราษฎร์ธานี

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 1126117 ครั้ง

ประวัติเมืองสุราษฎร์ธานี

จากหลักฐานทางโบราณคดี เมืองไชยา หรือจังหวัดสุราษฏร์ธานีเป็นเมืองเก่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑เป็นต้นมา และพบว่าก่อนหน้านั้นเมืองไชยายังเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินอีกด้วยเพราะได้ขุดพบหลักฐานเครื่องมือหินใหม่อยู่ตามลำน้ำหลายสาย นอกจากนี้ ยังได้พบกลองมโหระทึกอีก ๕ ใบในพื้นที่อ่าวบ้านดอนและอีกหลายแห่งในพื้นที่ทางภาคใต้ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่มีการตั้งเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคโลหะ ๒๐๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ในสมัยอาณาจักรฟูนันของกัมพูชาที่กำลังรุ่งเรืองเมืองไชยาก็น่าจะตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นแล้ว จนกระทั่งมาถึงยุคของทวาราวดีที่มีความรุ่งเรืองอยู่ในแถบภาคกลางและภาคอีสานของประเทศไทยเพราะได้พบพระพุทธรูปศิลาที่อำเภอไชยาและพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ที่วัดถ้ำคูหา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปัจจุบันซึ่งถือเป็นศิลปะทวาราวดีที่พบได้ในอาณาจักรศรีวิชัย
ครั้นเข้าสู่ยุคสมัยศรีวิชัย (สุราษฏร์ธานี) ก็ได้พบโบราณวัตถุและโบราณสถานสมัยศรีวิชัยมากกว่าที่อื่นๆ ตลอดแนวคาบสมุทรไทยและสุมาตรา จนทำให้เชื่อได้ว่าอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะเริ่มต้นที่เมืองไชยาหรือจังหวัดสุราษฏร์ธานี (ไชยา เป็นช่อเดิมของจังหวัดสุราษฏร์ธานี) จากนั้นก็แผ่อำนาจลงไปสู่สุมาตราและชวา ดังที่นักโบราณคดีได้ค้นพบกลุ่มโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ในเขตอำเภอไชยาปัจจุบัน และในเขตอำเภอเวียงสระ อำเภอพุนพิน อำเภอกาญจนดิษฐ์เหล่านี้ล้วนแต่มีอายุเก่าแก่กว่าพันปีมาแล้วทั้งสิ้น และนักโบราณคดีจึงรวมเรียกว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุสมัยศรีวิชัย โดยเฉพาะที่อำเภอไชยาจะมีลักษณะเก่ากว่าที่อื่นๆ คืออยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เพราะฉะนั้นจากหลักฐานทางโบราณคดีตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เมืองไชยาหรือสุราษฏร์ธานี จะต้องเป็นเมืองที่ใหญ่หรือเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณที่ได้รับพัฒนามาจากชุมชนโบราณก่อนก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคอาณาจักรฟูนันของกัมพูชา มาถึงยุคทวาราวดีของชุมชนในแถบภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน และมาถึงยุคศรีวิชัยในแถบภาคใต้ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยที่เมืองไชยาก็เริ่มเสื่อมลงเพราะต้องตกอยู่ในอำนาจจักรตามพรลิงค์ ซึ่งต่อมาอาณาจักรตามพรลิงค์หรือเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยที่เกิดใหม่ตามลำดับ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมืองไชยาก็ดูเป็นเมืองเล็กๆ หรือเมืองหน้าศึกเท่านั้น และขณะนั้นเมืองไชยาหรือสุราษฏร์ธานีก็ยังถูกแบ่งแยกออกไป เมืองไชยา เมืองท่าทอง และเมืองคีรีรัฐนิคม จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้รวมเมืองทั้งสามเข้าไว้ด้วยกันอีก เรียกว่า เมืองไชยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยาเป็นเมืองสุราษฏร์ธานีมาจนบัดนี้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเมืองไชยา เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย เพราะฉะนั้นวัตถุโบราณ พระพุทะรูป เทวรูป ตลอดจนพระเครื่องที่ค้นพบที่เมืองไชยาหรือสุราษฏร์ธานีนั้น จะพบของที่มีอายุสูงๆแทบทั้งนั้น นับแต่สมัยทวาราวดีลงมาจนถึงยุคขอมเป็นส่วนใหญ่

พระพิมพ์ สมัยทวาราวดี อ.พุนพิน สุราษฎร์ธานี

พระพิมพ์ศรีวิชัย อ.พุนพิน สุราษฎร์ธานี

พระพิมพ์ ท้าวกุเวณ เนื้อดิน ศิลปะแบบขอม อ.เวียงสระ สุราษฎร์ธานี สมัยทวาราวดี

พระพิมพ์ศรีวิชัย อ.พุนพิน สุราษฎร์ธานี

พระพิมพ์ สมัยศรีวิชัย เนื้อดินเผา อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี

พระพิมพ์ สมัยทวาราวดี เนื้อดินเผา อ.กรุนาสน จ.สุราษฎร์ธานี

พระพิมพ์ศรีวิชัย เม็ดกระดุม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พระพุทธรูป เนื้อสำริด แบบเทริดขนนก หน้าตักกว้าง 1 นิ้ว ศิลปะแบบศรีวิชัย

เทวรูป สมัยศรีวิชัย เนื้อสำริด ขุดได้ที่ อ.ไชยา สูง 2 นิ้ว