เมืองอยุธยา อยุธยา เป็นนครอันรุ่งโรจน์ของราชอาณาจักรไทย แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี ๑๘๙๓ ซึ่งสถาปนาขึ้นโดย “พระเจ่าอู่ทอง” ปฐมกษัตริย์ จวบจนวาระวิบัติ แตกทำลายโดยฝีมือพม่าข้าศึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นเวลา ๔๑๗ ปี แม้จะระยะสั้นเกินไป แต่ก็เป็นเวลาอันยาวนานพอสมควร พอที่จะเนรมิตศิลปะอันวิจิตร ซึ่งฝากไว้บนพื้นปฐพีที่ชนชาวไทย จักจดจำไว้ด้วยความภาคภูมิใจ สืบต่อกันมาชั่วกาลนาน
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยเริ่มตั้งแต่ปี ๑๘๙๓ จนถึงปี ๒๓๑๐ มีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์แบ่งเป็นราชวงศ์ได้ ๕ ราชวงศ์ คือ
- ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ปกครอง ๓ พระองค์ รวมระยะปกครอง ๔๑ ปี
- ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ปกครอง ๑๔ พระองค์ รวมระยะปกครอง ๑๗๘ ปี
- ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ปกครอง ๗ พระองค์ รวมระยะปกครอง ๖๐ ปี
- ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ปกครอง ๔ พระองค์ รวมระยะปกครอง ๕๙ ปี
- ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครอง ๖ พระองค์ รวมระยะปกครอง ๗๙ ปี
งานด้านศิลปะในสมัยอยุธยาแรก ๆ นั้น รับศิลปะมาจากขอม ก็คือศิลปะจากลพบุรีนั่นเอง ดังจะเห็นได้ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง และสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ก็คือการสร้างพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะ การสร้างพระปรางค์ที่วัดพุทไธศวรรย์ พระปรางค์วัดมหาธาตุ ฯลฯ ซึ่งพระปรางค์เหล่านี้ได้นำศิลปะแบบลพบุรีมาจำลองแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้เรื่องพระพุทธรูปและพระเครื่อง ก็รับอิทธิพลมาเช่นกัน แต่ก็ได้นำศิลปะของอยุธยามาผสมผสานเข้าไปด้วย ดังที่เราจะได้เห็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยายุคต้น ๆ จะล้อพระสมัยลพบุรีกันมาก หรือพระเครื่องก็เป็นพระที่ล้อพระสมัยลพบุรีก็มีมาก เช่น พระหูยาน ของกรุวัดราชบูรณะ และกรุวัดมหาธาตุ พระนาคปรกกรุพระงั่วก็สร้างแบบศิลปะสมัยลพบุรีเลยทีเดียว หรือพระยอดขุนพลกรุวัดราชบูรณะ เป็นต้น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้น ๆ นั้น พระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดก็คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ผู้ที่สร้างวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นแหล่งที่พบพระพุทธรูป และพระเครื่องมากที่สุด นอกจากนั้นตามหลักฐานโบราณคดี พระองค์เป็นผู้สร้างพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำแบบศิลปะมาผสมผสานนั่นเอง
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เราทราบดีอยู่แล้วว่าในสมัยของพระองค์เฟื่องฟู ในด้านการวางรากฐานแห่งการปกครองที่ดีที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระองค์ยังได้นำเอาสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยเข้ามาประยุกต์กับศิลปะของอยุธยาด้วย โดยเราจะเห็นพระพุทธรูปและพระเครื่องบางชนิดของกรุงศรีอยุธยามีแบบอย่าง ศิลปะของสุโขทัยผสมอยู่ เช่น พระหลวงพ่อโต เป็นต้น
ในยุคกลางของกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์นอกจากจะเป็นกษัตริย์นักรบแล้วยังได้บำรุงศาสนาอีกด้วย ดังเราจะได้เห็นพระองค์สร้างวัดป่าแก้วหรือทุกวันนี้ก็คือ “วัดใหญ่ชัยมงคล” นั่นเอง นอกจากนั้นยังได้สร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องอีกเป็นจำนวนมาก พระเครื่องที่มีชื่อเสียงของอยุธยาที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นก็คือ “พระขุนแผนเคลือบ” โดยได้นำศิลปะของสุโขทัยมาผสมผสานด้วย
ในยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา เริ่มจากสมัยพระเจ้าปราสาททองเริ่มจะมีศิลปะของอยุธยาล้วน ๆ ดูจากการสร้าง พระพุทธรูปที่มีเครื่องทรงต่าง ๆ แต่ก็นำต้นแบบของลพบุรีมาเรียกว่าดัดแปลง ดูจากพระพุทธรูปที่เราเรียกว่าพระบูชาทรงเครื่อง หรือบางท่านก็เรียกว่าอยุธยาหูตุ้มบ้าง ตัวอย่างก็เช่น พระพุทธรูปในวิหารของวัดหน้าพระเมรุ เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถึง ๔๑๗ ปีก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะล่มสลาย และมีพระมหากษัตริย์ถึง ๓๔ พระองค์ เพราะฉะนั้น ศิลปวัตถุ ตลอดจนพระบูชาและพระเครื่อง ของกรุงศรีอยุธยาจึงมีมากมาย เพราะพระมหากษัตริย์ทั้งหลายที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้พากันสร้างไว้ กรุงศรีอยุธยาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “เมืองพระ” ดังเช่นวัดราชบูรณะวัดเดียวก็มีพระเครื่องนับร้อยชนิด วัดมหาธาตุก็ไม่น้อย ถ้าจะมาจำแนกกันทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้
พระเครื่อง ของกรุงศรีอยุธยานั้นจัดว่าเป็นพระร่วมสมัย เพราะว่าได้รับอิทธิพลของหลายยุคมาผสมผสานกัน และก็มีศิลปะของอยุธยาแท้ ๆ ก็ไม่ใช่น้อย แต่เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพระเครื่องอยุธยาก็คือ เป็นพระที่ทำมาจากเนื้อชินถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นก็จะเป็นพระเนื้อดิน
ผู้เขียนจะนำเฉพาะพระเครื่องที่สำคัญ ๆ มาให้ท่านได้รับทราบกันพอสมควร โดยจะแยกกรุแยะชนิดของพระให้ทราบ
พระขุนแผนเคลือบ
พระขุนแผนเคลือบ เป็นพระเนื้อผงขาว มีส่วนผสมของปูนขาวและดินเหนียว และผ่านกรรมวิธีใช้น้ำยาเคลือบด้านหน้า คล้ายๆกับการเคลือบของไหโบราณ หรือกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ในสมัยโบราณ ประวัติการสร้าง คือเมื่อปี พ. ศ. ๒๑๓๔ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงทำยุทธหัตถีกับและสมเด็จพระมหาอุปราชา แม่ทัพใหญ่ของพม่า ทรงได้รับชัยชนะ พระองค์ก็เสด็จกลับมาจากกรุงศรีอยุธยา และก็ได้สร้างพระขุนแผนขึ้นเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะ “วัดป่าแก้ว” โดยประธานในพิธีสงฆ์ ก็คือ “สมเด็จพระพนรัตน์” ต่อมาวัดป่าแก้วก็คือ “วัดใหญ่ชัยมงคล”ในปัจจุบันนั่นเอง พระขุนแผนเคลือบ เป็นปางมารวิชัย ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว พระทุกองค์จะผ่านการเคลือบด้านหน้า ส่วนด้านหลังจะไม่เคลือบ แต่จะมีลายมือปรากฏแทบทุกองค์มีด้วยกันทั้งหมด ๓ พิมพ์คือ
- พิมพ์อกใหญ่ ฐานสูง
- พิมพ์อกใหญ่ ฐานเตี้ย
- พิมพ์แขนอ่อน หรือพิมพ์เล็ก
พระขุนแผนเคลือบกำเนิดแห่งแรกที่กรุวัดใหญ่ชัยมงคลชัยมงคลจะผ่านการเคลือบทุกองค์ น้ำยาเคลือบจะมีสีเหลืองเข้ม บางองค์น้ำยาเคลือบกะเทาะออกเพราะความเก่าตามซอกขององค์พระจะมีสีน้ำตาลเข้ม ถึงดำ เพราะน้ำยาเกาะหนามากกว่าส่วนอื่น เลยทำให้สีเข้มมากกว่าส่วนอื่น ต่อมามีผู้พบอีกบริเวณโรงเหล้า ซึ่งบางท่านเรียกว่า “กรุโรงเหล้า” แต่พระที่พบส่วนใหญ่มิได้เคลือบน้ำยา แต่เป็นพระพิมพ์เดียวกันกับของกรุวัดใหญ่ชัยมงคลทุกประการ
ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๐๖ มีผู้พบขุนแผนเคลือบอีกจำนวนมากที่วัดเชิงท่า อำเภอปากเก็ด จังหวัดนนทบุรีเป็นพิมพ์เดียวกันกับวัดใหญ่ชัยมงคลทุกประการ ผิดกันที่น้ำยาเคลือบ ของวัดเชิงท่า สีจะอ่อนกว่า เข้าใจว่าโดนน้ำเซาะจนทำให้โดนผิวของน้ำยาเคลือบจางลงไป
ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ได้พบอีกครั้งที่ ตำบลบางใหญ่จังหวัดนนทบุรี แต่มีจำนวนไม่มากนัก ลักษณะของน้ำยาเคลือบของกรุนี้น้ำยาเคลือบออกสีเขียวอ่อน และมีคราบทรายเกาะอยู่มากแต่พิมพ์เป็นพิมพ์เดียวกันกับวัดใหญ่ชัยมงคลทุก ประการ พระขุนแผนเคลือบทุกกรุ ทุกองค์ จะมีพุทธคุณยอดเยี่ยมทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาดคงกระพัน ชาตรี และพระขุนแผนเคลือบจัดเป็นพระที่หายาก พุทธคุณสูง จึงถูกจัดให้เป็นพระชั้นนำที่สุดของเมืองอยุธยาเลยทีเดียว ขนาดองค์จริง สูงประมาณ ๔.๕ ซ.ม. ฐานกว้างประมาณ๒.๘ ซ.ม.